เตือนภัย "ไข้หวัดนก" พบในประเทศใหม่ๆ ส่อระบาดยาวเป็นโรคประจำถิ่น

18 ก.พ. 2566 | 06:03 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.พ. 2566 | 07:22 น.

ผู้เชี่ยวชาญเตือนการแพร่ระบาดของ “ไข้หวัดนก”ในประเทศที่ไม่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน อาจกลายเป็นโรคประจำถิ่นและอยู่ยาว ส่งผลกระทบอุปทานอาหารเป็นวงกว้าง

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานการแพร่ระบาดของ ไข้หวัดนก ในบางประเทศขณะนี้ว่า สัตว์แพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคได้ออกมาเตือน มีการพบไข้หวัดนกในบางพื้นที่ของโลกที่ไม่เคยมีการระบาดของไวรัสประเภทนี้มาก่อน และได้กลายมาเป็น โรคประจำถิ่น หลังจาก นกป่า บางประเภทได้แพร่เชื้อไวรัสให้กับเป็ดไก่ในพื้นที่

ผู้เชี่ยวชาญและเกษตรกรกว่า 20 รายใน 4 ทวีป ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การพบไวรัสไข้หวัดนกในนกป่าส่งสัญญาณบอกว่า การระบาดใหญ่เป็นวงกว้างที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์นี้จะไม่คลี่คลายในเร็ววัน ซึ่งนั่นหมายถึง ภัยคุกคามต่ออุปทานอาหารโลกไปโดยปริยาย

นอกจากนี้ ยังเตือนว่า เกษตรกรต้องเริ่มมองปัญหานี้เป็น “ความเสี่ยงรุนแรง” ที่เกิดขึ้นได้ทั้งปี แทนที่จะมามุ่งหาวิธีการป้องกันเฉพาะช่วงที่มีการอพยพของนกป่าเท่านั้น

เกษตรกรต้องเริ่มมองปัญหานี้เป็น “ความเสี่ยงรุนแรง” ที่เกิดขึ้นได้ทั้งปี

พื้นที่การแพร่ระบาด

การระบาดใหญ่เป็นวงกว้างของไข้หวัดนกนั้น ได้แผ่ขยายไปยังพื้นที่อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป เอเชียและแอฟริกาแล้ว และเกิดขึ้นแม้ในช่วงที่อุณหภูมิพุ่งสูงในฤดูร้อน หรือเมื่ออุณหภูมิลดลงรุนแรงในฤดูหนาว นับตั้งแต่มีการพบไวรัสไข้หวัดนกในสหรัฐอเมริกาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา (2565) โดยมีการยืนยันว่า เป็นสายพันธุ์ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมคล้าย ๆ กับที่พบในยุโรปและเอเชีย

นอกจากนี้ กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา (15 ก.พ.) อาร์เจนตินาและอุรุกวัยเพิ่งประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติด้านสุขาภิบาล หลังเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นยืนยันว่า พบการติดเชื้อไข้หวัดนก โดยอาร์เจนตินาพบไวรัสดังกล่าวในนกป่า ส่วนอุรุกวัยพบไวรัสในหงส์ที่ตายไปแล้ว

ผลกระทบจากไข้หวัดนกที่ผ่านมาก็คือ ราคาไข่ที่พุ่งสูงทำสถิติใหม่ เพราะการระบาดในปีที่ผ่านมา (2565) ส่งผลให้ไก่ไข่จากฟาร์มจำนวนหลายสิบล้านตัวต้องตายไป

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า นกป่า คือ ต้นเหตุหลักของการแพร่กระจายไวรัสไข้หวัดนกในอเมริกา ขณะที่ นกน้ำต่าง ๆ เช่น เป็ด สามารถแพร่เชื้อได้ขณะยังมีชีวิตอยู่ ผ่านของเสียและน้ำลายที่มีเชื้อติดอยู่ เป็นต้น และที่ผ่านมา ความพยายามของเกษตรกรในการป้องกันการแพร่เชื้อมายังฟาร์มของตน ยังไม่ค่อยได้ผลเท่าใดนัก

เมื่อปีที่แล้ว บริษัทโรส เอเคอร์ ฟาร์มส์ (Rose Acre Farms) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไข่ไก่รายใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศสหรัฐ ได้สูญเสียแม่ไก่ที่เลี้ยงในศูนย์ผลิตที่กัทธรี เคาน์ตี้ (Guthrie County) ในรัฐไอโอวา ไปราว 1.5 ล้านตัว แม้จะมีการบังคับให้ผู้ที่เข้ามาในพื้นที่เลี้ยง ต้องอาบน้ำชำระร่างกายเสียก่อน

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า นกป่า คือ ต้นเหตุหลักของการแพร่กระจายไวรัสไข้หวัดนกในอเมริกา

ส่วนฟาร์มอีกแห่งของบริษัทที่เวลด์ เคาน์ตี้ (Weld County) ในรัฐโคโรลาโด ก็พบการติดเชื้อถึง 2 ครั้งภายในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งทำให้ไก่จำนวนกว่า 3 ล้านตัวต้องตายไป

รายงานข่าวระบุว่า สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น คือประเทศที่อยุ่ในกลุ่มที่ประสบภาวะสูญเสียสัตว์ปีกหนักเป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมา

ความเสี่ยงระยะยาวที่เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี

ก่อนหน้านี้ มีการระบุว่า สัตว์ปีกในซีกโลกเหนือ คือกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของไข้หวัดนกมากที่สุด เมื่อนกป่าเริ่มอพยพในฤดูใบไม้ผลิ แต่ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า การพบไวรัสในสัตว์ปีกสายพันธุ์ต่าง ๆ เช่น บรรดานกน้ำและนกป่า หมายความว่า ความเสี่ยงของการพบการระบาดของไข้หวัดนกนั้น ยกระดับขึ้นเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดได้ตลอดทั้งปีแล้ว

ทั้งนี้ ไวรัสไข้หวัดนกนั้นเป็นอันตรายถึงตายสำหรับสัตว์ปีก และหากมีการพบการติดเชื้อแม้แต่ตัวเดียว สัตว์ปีกทั้งฝูงก็จะต้องถูกกำจัดให้หมด ขณะที่การฉีดวัคซีน ก็ไม่ใช่ทางออกที่ทำได้ง่าย เพราะวิธีนี้อาจช่วยลดอัตราการระบาดได้ แต่ไม่สามารถกำจัดไวรัสได้หมด และยังอาจทำให้การตรวจสอบหาเชื้อทำได้ยากขึ้นด้วย

หากพบการติดเชื้อแม้แต่ตัวเดียว สัตว์ปีกทั้งฝูงก็จะต้องถูกกำจัดให้หมด

นี่คือปัญหาระดับโลก

เกรกอริโอ ตอร์เรส หัวหน้าแผนกวิทยาศาสตร์ขององค์การ World Organization for Animal Health ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เปิดเผยว่า นกป่าเป็นตัวแพร่เชื้อไข้หวัดนกให้กระจายไปได้ไกลทั่วโลกกว่าที่เคยเป็นมา โดยเฉพาะเมื่อตัวไวรัสกลายพันธุ์จากการระบาดครั้งก่อน ๆ มาเป็นแบบที่แพร่กระจายได้ง่ายขึ้นแล้ว

กระนั้นก็ตาม ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ปัจจุบัน ไวรัสไข้หวัดนกได้กลายมาเป็นไวรัสเฉพาะกลุ่มในนกป่าทั่วโลกแล้วหรือยัง แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ จะยืนยันว่า ไวรัสนี้ได้กลายมาเป็น “โรคเฉพาะถิ่น” ของนกในบางพื้นที่ เช่น สหรัฐอเมริกา แล้วก็ตาม

มีคำถามตามมาเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อมนุษย์ องค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันว่า มนุษย์สามารถติดเชื้อได้เมื่อสัมผัสสัตว์ปีกที่มีเชื้อ แต่ความเสี่ยงที่จะทำให้มนุษย์ป่วยหนักหรือถึงขั้นเสียชีวิตนั้น ยังอยู่ในระดับต่ำ

เฝ้าระวังการแพร่ระบาดข้ามประเทศ

เดวิด สตอลเนคท์ ผู้อำนวยการศูนย์ Southeastern Cooperative Wildlife Disease Study จากมหาวิทยาลัยแห่งจอร์เจีย กล่าวว่า ปริมาณไวรัสที่มีอยู่สูงในนกเป็ดน้ำปีกเขียว ซึ่งสามารถบินอพยพเป็นระยะทางไกลได้ คือ ปัจจัยที่ทำให้มีการแพร่กระจายของไวรัสไปยังพื้นที่ใหม่ ๆ ในอเมริกาใต้ โดยมีรายงานพบการระบาดแล้วที่ประเทศเปรู เอกวาดอร์ และโบลิเวีย ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและปศุสัตว์ของโบลิเวียชี้ว่า หลังจากที่พบการระบาดครั้งแรกได้เพียง 2 วัน รัฐบาลก็ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของสัตว์เป็นเวลา 3 เดือน และจนถึงบัดนี้ มีสัตว์ปีกที่ตายเพราะไวรัสนี้ไปแล้วกว่า 1.1 ล้านตัวในโบลิเวีย

ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้มีการแพร่กระจายของไวรัสไข้หวัดนกไปทั่วโลก เพราะสถานการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในด้านถิ่นที่อยู่อาศัยและเส้นทางการอพยพของนกป่าต่างๆ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ แครอล คาร์โดนา ผู้เชี่ยวชาญด้านไข้หวัดนกและศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งมินนิโซตา ให้ความเห็นว่า “การเคลื่อนที่โยกย้ายถิ่นของนกป่าที่เปลี่ยนไป ทำให้ไวรัสที่อาศัยอยู่ในนกเหล่านั้นปรับเปลี่ยนไปด้วย”

ความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ ทำให้เกษตรกรบางรายลองหันมาใช้วิธีแปลก ๆ เพื่อปกป้องฟาร์มของตนเอง เช่น การใช้เครื่องจักรที่ส่งเสียงดังเพื่อทำให้นกป่าตกใจกลัวไม่กล้าเข้ามาใกล้ฟาร์ม หรือบางรายก็ใช้วิธีฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อที่มูลของสัตว์ปีกในฟาร์มเพื่อฆ่าไวรัส บ้างก็สั่งจำกัดจำนวนผู้เข้ามาเยี่ยมชมฟาร์ม เป็นต้น

ข้อมูลอ้างอิง

Bird flu spreads to new countries, threatens non-stop 'war' on poultry