บทเรียนการก่อสร้างจากเหตุแผ่นดินไหวตุรกี อดีตที่ถูกละเลย

13 ก.พ. 2566 | 04:47 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.พ. 2566 | 06:42 น.
508

ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรียทะลุ 33,000 ราย รัฐบาลตุรกีเร่งสอบเพื่อเอาผิดบริษัทรับเหมาสร้างก่อสร้างอาคารที่ไร้มาตรฐาน

ครบรอบ 1 สัปดาห์ หลังเกิดเหตุ แผ่นดินไหว ขนาด 7.8 และ 7.5 เขย่าประเทศ ตุรกี และ ซีเรีย เมื่อเช้าตรู่วันจันทร์ที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ ยอดผู้เสียชีวิต ได้ขยับขึ้นไปมากกว่า 33,000 คนแล้ว (ข้อมูล ณ 12 ก.พ.) ทีมกู้ภัยนานาชาติยังคงเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขณะทางการตุรกีได้เริ่มดำเนินคดีทางกฎหมายกับ บริษัทก่อสร้าง บางรายที่เป็นผู้ก่อสร้างอาคารที่พังถล่มลงมาในเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้

สำหรับประเทศตุรกี เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี่นับว่าเลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีมานับตั้งแต่ปี ค.ศ.1939 และเป็นครั้งที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด โดย ณ วันอาทิตย์ (12 ก.พ.) ยอดผู้เสียชีวิตได้ทะยานสูงขึ้นมากกว่า 33,000 คนแล้ว ทั้งยังติดอันดับ 6 ในแง่ภัยพิบัติที่เลวร้ายที่สุดในโลกในศตวรรษนี้ โดยมีรายงานผู้เสียชีวิต 29,605 คนในตุรกี และมากกว่า 3,500 คนในซีเรีย ซึ่งมทางฝั่งของซีเรียนั้น ไม่ได้รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เป็นข้อมูลล่าสุดมาเป็นเวลา 2 วันแล้ว

ขณะที่โอกาสที่จะพบผู้รอดชีวิตก็เริ่มริบหรี่ลง นายเรจิบ เทยิบ เออโดวาน ประธานาธิบดีตุรกี ให้คำมั่นว่า รัฐบาลจะเริ่มต้นฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

ทั้งนี้ ตุรกีรายงานว่ามีผู้บาดเจ็บในโรงพยาบาลราว 80,000 คน และมากกว่า 1 ล้านคนต้องพำนักอาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราว หลังจากที่มีอาคารราว 6,000 หลังพังถล่มลงมา

เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ ทำให้มีอาคารในตุรกีพังถล่มลงมาราว 6,000 หลัง

เอาผิดบริษัทก่อสร้าง

ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์อ้างอิงรองประธานาธิบดีตุรกี ระบุว่าได้มีการรวบตัวผู้ต้องสงสัย 131 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุอาคารถล่มใน 10 จังหวัดของตุรกี หลังจากที่ประชาชนได้ออกมาแสดงความไม่พอใจในประเด็นเกี่ยวกับคุณภาพของการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแผ่นดินไหวในตุรกี

ขณะที่สำนักข่าวบีบีซี สื่อใหญ่ของอังกฤษ รายงานว่า โดยปกติแล้ว การใช้เทคนิคสมัยใหม่ควรจะทำให้ตัวอาคารที่เพิ่งสร้างสามารถทนทานต่อความรุนแรงของแผ่นดินไหวขนาด 7.8 และ 7.5 ที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ และข้อบังคับการก่อสร้างอาคาร หรือ "building regulations" ที่กำหนดขึ้นหลังจากเกิดหายนะในครั้งที่ผ่านมา ก็ควรจะบังคับให้อาคารที่ถูกก่อสร้างใหม่สามารถรับมือกับเหตุแผ่นดินไหวได้

แต่ลองมาดูกรณีของอาคารแห่งหนึ่งในเมืองมาลัตยาของตุรกี ครึ่งล่างของตัวอาคารกำลังพังทลายลง ทำให้ส่วนบนของอาคารเอนไปทางหนึ่งเหนือซากปรักหักพังด้านล่าง

อาคารแห่งนี้เป็นอาคารที่เพิ่งสร้างใหม่ มีคนเผยแพร่ภาพโฆษณาของอาคารนี้ที่บอกว่า "สร้างตามข้อบังคับในการรับมือกับแผ่นดินไหวฉบับล่าสุด" โฆษณาดังกล่าวยังบอกอีกว่า วัสดุและฝึมือของทีมก่อสร้างได้คุณภาพ "ระดับชั้นหนึ่ง"

ด้วยความที่เพิ่งสร้างใหม่ อาคารนี้ควรจะทำตามมาตรฐานที่เพิ่งอัปเดตใหม่ในปี 2018 ซึ่งกำหนดให้อาคารในพื้นที่ที่เสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวใช้คอนกรีตคุณภาพสูงที่เสริมด้วยโครงเหล็ก ต้องจัดวางเสาและคานเพื่อรับแรงแผ่นดินไหวอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี บีบีซีไม่สามารถยืนยันได้ว่าอาคารนี้สร้างตามมาตรฐานที่โฆษณาไว้

การใช้เทคนิคสมัยใหม่ควรจะทำให้ตัวอาคารที่เพิ่งสร้าง สามารถทนทานต่อแผ่นดินไหวขนาด 7.8  ได้

ในกรณีของอาคารอีกหลังที่สื่อใหญ่แห่งนี้ได้เข้าไปตรวจสอบพบว่า นี่คืออาคาร 16 ชั้นในเมืองอิสเคนเดอรุน ที่พังถล่มลงมาเกือบทั้งหมด ภาพโฆษณาของอาคารนี้ซึ่งเผยแพร่โดยบริษัทก่อสร้างระบุว่าสร้างเสร็จในปี 2019 ซึ่งก็หมายความว่าอาคารดังกล่าวควรสร้างตามข้อบังคับอาคารฉบับล่าสุด แต่เมื่อพยายามติดต่อบริษัทก่อสร้างนี้ ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับ

อีกแห่งหนึ่งเป็นอาคาร 9 ชั้นในเมืองอันทาเคียซึ่งถล่มลงเกือบทั้งหมด ในวิดีโอจากงานเปิดตัวอาคารเมื่อปี 2019 นายเซอร์เว็ต แอตลาส เจ้าของบริษัทก่อสร้าง Ser-Al Construction กล่าวว่า ชุดอาคารชื่อ Guclu Bahce มีความพิเศษทั้งในเรื่องของทำเลและคุณภาพของวัสดุในการก่อสร้าง ในกรณีนี้ เมื่อบีบีซีติดต่อไป นายแอตลาสตอบกลับมาว่า ในบรรดาอาคารหลายร้อยแห่งที่เขาสร้างในภูมิภาคฮาทัย ซึ่งมีอันทาเคียเป็นเมืองหลวง โชคร้ายที่มีอาคารสองแห่งที่ถล่มลงมา

เขาบอกว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นในระดับกว้างจนแทบไม่มีอาคารไหนในเมืองที่รอดมาได้ "ด้วยความเจ็บปวด เราได้ประจักษ์ว่าองค์กรสื่อบางแห่งพยายามเปลี่ยนความเข้าใจของสังคมแล้วหาแพะรับบาปในรูปแบบการรายงานข่าว"

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญอย่างศาสตราจารย์เดวิด อเล็กซานเดอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนและการจัดการในสถานการณ์ฉุกเฉินจากยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ให้ความเห็นว่า อาคารที่ก่อสร้างดีจริง ๆ ควรจะสามารถทนทานแผ่นดินไหวความรุนแรงระดับนี้ได้

บทเรียนจากอดีตที่ถูกละเลย

ในการเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อครั้งอดีต เช่นในปี 1999 ซึ่งครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตราว 17,000 ราย มีการกำหนดข้อบังคับในการก่อสร้างอาคารให้รัดกุมยิ่งขึ้น จนกระทั่งมีการออกข้อบังคับว่าด้วยการก่อสร้างอาคารล่าสุดเมื่อปี 2018 อย่างไรก็ดี เห็นได้ว่าไม่มีการบังคับใช้กฎเกณฑ์นี้อย่างมีประสิทธิภาพ ศ.อเล็กซานเดอร์ กล่าวว่า มีการปรับปรุงอาคารที่สร้างมานานแล้วให้ได้มาตรฐานที่อัปเดตใหม่น้อยมาก

ไม่เพียงเท่านั้น กรณีของอาคารที่สร้างขึ้นมาใหม่ ๆ ก็มีการทำตามกฎเกณฑ์นี้น้อยเช่นกัน

ในประเทศที่บริษัททำตามข้อบังคับในการก่อสร้างอาคาร เช่น ญี่ปุ่น คนหลายล้านที่อาศัยในตึกสูงระฟ้าแม้จะเป็นบริเวณที่เสี่ยงเกิดแผ่นดินไหว ก็ยังคงปลอดภัย เวลาเกิดภัยพิบัติ

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ามาตรการต่าง ๆ นั้น ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการใช้อาคาร และระดับความเสี่ยงของบริเวณนั้น ๆ อาจมีตั้งแต่การเสริมความแข็งแกร่งของตัวอาคาร ไปจนถึงการตั้งอาคารอยู่บนฐานรับแรงสั่นสะเทือนหรือ "shock absorber" เพื่อแยกตัวอาคารออกจากการสั่นไหวของพื้นดินไปเลย

การค้นหาผู้รอดชีวิตยังคงดำเนินต่อไป แม้ความหวังจะริบหรี่ลงก็ตาม

อีกจุดที่นำมาสู่ความสูญเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้น คือในบางช่วง รัฐบาลตุรกีได้ออก "นิรโทษกรรมด้านการก่อสร้าง" หรือ "construction amnesties" โดยผลคือมีการยกเว้นให้อาคารที่สร้างโดยไม่มีประกาศนียบัตรรับรองด้านความปลอดภัย ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม มีการออกนิรโทษกรรมในลักษณะนี้มาตั้งแต่ทศวรรษ 60 จนมาถึงครั้งล่าสุดในปี 2018

สิ่งนี้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มานานแล้วในตุรกี โดยข้อมูลจากสหภาพหอการค้าวิศวกรและสถาปนิกตุรกี (Union of Chambers of Turkish Engineers and Architects' Chamber of City Planners) ชี้ว่า มีอาคารถึง 75,000 แห่งที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวทางตอนใต้ของตุรกี ที่ได้รับนิรโทษกรรมด้านการก่อสร้าง

ความจริงที่เจ็บปวด

ที่แย่ไปกว่านั้นคือรายงานข่าวระบุว่า ไม่กี่วันก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหว สื่อตุรกีรายงานว่า มีร่างนิรโทษกรรมอีกฉบับที่รอการอนุมติจากรัฐสภาอยู่ซึ่งจะนิรโทษกรรมอาคารที่เพิ่งก่อสร้างไม่นานนี้เพิ่มเติม

เซลัล เซนกอล นักธรณีวิทยา กล่าวว่า การกระทำเช่นนี้ในพื้นที่เสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวถือเป็น "อาชญากรรม"เลยทีเดียว

ต่อมาหลังเกิดแผ่นดินไหวในเมืองอิซเมียร์ในปี 2020 บีบีซีแผนกภาษาตุรกีรายงานว่ามีอาคารถึง 672,000 แห่งได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมลักษณะนี้

รายงานเดียวกันระบุโดยอ้างกระทรวงสิ่งแวดล้อมและความเป็นเมืองตุรกี (Environment and Urbanisation Ministry) ว่า ในปี 2018 มีอาคารมากกว่า 50% ในตุรกี หรือเกือบ 13 ล้านอาคาร ถูกสร้างขึ้นมาโดยละเมิดข้อบังคับ และเมื่อบีบีซีสอบถามไปยังกระทรวงสิ่งแวดล้อมและความเป็นเมืองของตุรกี ก็ได้รับคำตอบว่า “ไม่มีอาคารที่สร้างโดยรัฐบาลชุดเราถล่มลงมี ตอนนี้กำลังมีการศึกษาวิเคราะห์ความเสียหายต่อเนื่องอย่างเร่งด่วน”

ความโกรธแค้นของประชาชนที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลและบริษัทก่อสร้างออกมาแสดงความรับผิดชอบจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เนื่องจากอาคารจำนวนมากที่ถล่มลงมานั้นเป็นอาคารใหม่ บางแห่งเพิ่งสร้างได้เพียงปีเดียวเท่านั้น สะท้อนว่าการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานและไม่ได้คำนึงถึงการป้องกันแผ่นดินไหวตามที่รัฐบาลเคยระบุไว้

ผู้ออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากบริษัทก่อสร้างตั้งข้อสังเกตว่า ผู้รับเหมาและผู้ที่เกี่ยวข้องอาจจะคอร์รัปชันด้วยการผสมทรายลงไปในคอนกรีต แต่นั่นก็ยังคงเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน

 

ที่มา รอยเตอร์/บีบีซี