ซูเปอร์ไต้ฝุ่น "นันมาดอล" กับ 7 เรื่องน่ารู้

19 ก.ย. 2565 | 14:10 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2565 | 22:23 น.
842

ซูเปอร์ไต้ฝุ่น "นันมาดอล" ที่กำลังบุกถล่มญี่ปุ่นในขณะนี้ นับเป็นพายุที่มีความรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี พายุลูกนี้เป็นไต้ฝุ่นที่ก่อตัวขึ้นเป็นลำดับที่ 14 ในมหาสมุทรแปซิฟิกในปีนี้ เรามาดูกันว่า 7 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับซูเปอร์ไต้ฝุ่นลูกนี้มีอะไรบ้าง

พายุซูเปอร์ไต้ฝุ่น "นันมาดอล" (Nanmadol) พัดขึ้นฝั่ง เกาะคิวชู ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (18 ก.ย.) โดยสำนักงานกรมอุตุนิยมวิทยาแห่งญี่ปุ่นได้ประกาศ “เตือนภัยพิเศษ” ซึ่งไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก และถือเป็นการเตือนภัยระดับรองสูงสุดในจังหวัดคาโกชิมะ คุมาโมโตะ และมิยาซากิ บนเกาะคิวชู หนึ่งใน 4 เกาะหลักของญี่ปุ่น และมีประชากรราว 13 ล้านคน 

 

พายุลูกนี้มีความเร็วเมื่อพัดขึ้นฝั่งวานนี้ที่ระดับความเร็วสูงสุด 162 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะพัดเข้าสู่เขตมหานครโตเกียวในวันอังคาร (20 ก.ย.) "ฐานเศรษฐกิจ" ได้ประมวล 7 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพายุไต้ฝุ่น "นันมาดอล" ไว้ดังนี้ 

คลื่นลมแรง ทางการเตือนประชาชนอพยพ อย่าลังเล หากเห็นสัญญาณอันตราย

1) รัฐบาลญี่ปุ่นได้สั่งอพยพประชาชนแล้วจำนวนหลายล้านคนในพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศ เพื่อรับมือกับ ซูเปอร์ไต้ฝุ่นนันมาดอล โดยนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ เตือนประชาชนให้ “อพยพในทันที อย่าลังเล หากรู้สึกถึงอันตราย” 

 

ผู้นำรัฐบาลญี่ปุ่นยังเตือนด้วยว่า ให้ทุกคนหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงอย่างริมแม่น้ำ และทางน้ำ หรือจุดเสี่ยงที่จะเกิดดินถล่ม นอกจากนี้ ยังให้หลีกเลี่ยงการเดินทางในยามวิกาล ขอให้ประชาชนอพยพไปยังที่ปลอดภัยก่อนค่ำ

 

นี่นับเป็นครั้งแรกที่มีการประกาศ “เตือนภัยพิเศษ” ในพื้นที่นอกจังหวัดโอกินาวะ ซึ่งเป็นจังหวัดของญี่ปุ่นที่ประกอบด้วยเกาะเล็กใหญ่ในทะเลจีนตะวันออก

 

ซูเปอร์ไต้ฝุ่นกระหน่ำญี่ปุ่นตั้งแต่วันอาทิตย์ (18 ก.ย.)

 

2) ศูนย์เตือนภัยร่วมไต้ฝุ่นของกองทัพเรือสหรัฐ (เจทีดับเบิลยูซี) จัดให้ "นันมาดอล" เป็นพายุความรุนแรงระดับ 5 ซึ่งหมายความว่า นี่อาจจะเป็นพายุฤดูร้อนที่ร้ายแรงที่สุดที่พัดถล่มญี่ปุ่นในรอบหลายสิบปีมานี้ 

 

3) นันมาดอล ถูกจัดอันดับความรุนแรงในระดับ "ซูเปอร์ไต้ฝุ่น" นั่นแปลว่าอะไร? ซูเปอร์ไต้ฝุ่น คือ พายุที่มีกำลังลมแรงกว่า 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถือว่าเป็นพายุที่เทียบเท่าพายุเฮอริเคนระดับ 4 หรือ 5 ในประเทศแถบตะวันตก

 

4) บริษัทคิวชู อิเล็กทริก พาวเวอร์ ผู้ให้บริการไฟฟ้าแก่ประชาชนบนเกาะคิวชู เผยว่า มีประชาชนมากกว่า 200,000 ครัวเรือนทั่วเกาะคิวชู ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้เมื่อคืนวันอาทิตย์ (18 ก.ย.) หลังกระแสลมแรงของพายุทำให้สายไฟฟ้าและระบบจ่ายไฟฟ้าได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ ผู้ให้บริการรถไฟหัวกระสุนบนเกาะคิวชู ตลอดจนระบบขนส่งมวลชน รวมถึงรถไฟ และรถโดยสารในจังหวัดคาโกชิมะ และมิยาซากิ ต้องถูกระงับเป็นการชั่วคราวด้วย เช่นเดียวกับการสั่งยกเลิกเที่ยวบินภายในประเทศหลายร้อยเที่ยวบิน และคาดว่าจะต้องยกเลิกเที่ยวบินอีกเป็นจำนวนมากไปจนถึงวันอังคาร (20 ก.ย.) ในช่วงที่พายุยังเคลื่อนตัวไปทางตะวันออกของประเทศ

 

ด้านร้านสะดวกซื้อ 7-11 จำเป็นต้องปิดให้บริการถึง 950 สาขา ขณะที่บริษัทโตโยตา มอเตอร์ คอร์ป สั่งลดระดับการผลิตในโรงงาน 3 แห่งลงมา

ซูเปอร์ไต้ฝุ่น \"นันมาดอล\" กับ 7 เรื่องน่ารู้

5) สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (เจเอ็มเอ) เตือนประชาชนในพื้นที่ถึงอันตรายของน้ำท่วม ดินถล่ม และลมกระโชกแรงในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ประชาชนบนเกาะคิวชูอาจเผชิญกับปริมาณฝนมากถึง 400 มิลลิเมตรในช่วง 24 ชั่วโมงต่อจากนี้ และลมกระโชกแรงถึง 235 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ดินถล่มทำถนนทรุด ผลพวงจากฝนตกหนักหลังไต้ฝุ่น "นันมาดอล"เคลื่อนผ่านจังหวัดมิยาซากิ

6) คาดการณ์ว่า ซูเปอร์ไต้ฝุ่นนันมาดอลจะเคลื่อนตัวไปทางตะวันออกของญี่ปุ่น และเคลื่อนตัวถึงกรุงโตเกียวในวันอังคาร (20 ก.ย.) จากนั้น จะเคลื่อนตัวไปทางตะวันออก พาดผ่านเกาะฮอนชู ก่อนออกทะเลภายในวันพุธ (21 ก.ย.)

 

7) รัฐบาลท้องถิ่นได้สั่งอพยพประชาชนในพื้นที่พายุพาดผ่านบนเกาะคิวชูแล้วจำนวนกว่า 4 ล้านคน บนเกาะคิวชู