ก.ล.ต.สหรัฐสั่งรวบ 11 ผู้ต้องหา เปิดเว็บเทรดคริปโตระดมทุนแบบแชร์ลูกโซ่

02 ส.ค. 2565 | 11:05 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2565 | 18:05 น.
1.2 k

ก.ล.ต.สหรัฐ สั่งควบคุม 11 ผู้ต้องหา เปิดเว็บซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีในลักษณะธุรกิจพีระมิดหรือแชร์ลูกโซ่ (Crypto pyramid scheme) โดยใช้ธุรกิจดังกล่าวระดมทุนอย่างผิดกฎหมาย มูลค่ากว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) สั่งควบคุมตัวผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้าง และส่งเสริมการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีในลักษณะธุรกิจพีระมิดหรือแชร์ลูกโซ่ (Crypto pyramid scheme) จำนวน 11 คน ซึ่งบุคคลเหล่านี้ใช้ธุรกิจดังกล่าวในการระดมทุนอย่างผิดกฎหมายเป็นจำนวนมากกว่า 300 ล้านดอลลาร์จากบรรดานักลงทุนรายย่อยทั่วโลก ซึ่งรวมถึงในสหรัฐ
         

SEC ระบุในแถลงการณ์ว่า บุคคลที่ถูกลงโทษในครั้งนี้รวมถึงผู้ก่อตั้งธุรกิจคริปโตฯ พีระมิด "ฟอร์เซจ" (Frosage) จำนวน 4 คน โดยบุคคลเหล่านี้อาศัยอยู่ในรัสเซีย, จอร์เจีย และอินโดนีเซีย        

 

เว็บไซต์ฟอร์เซจ ก่อตั้งขึ้นในเดือนม.ค. 2563 และเปิดทางให้นักลงทุนรายย่อยจำนวนหลายล้านคนเข้าไปทำการซื้อขายผ่านการทำสัญญาแบบอัจฉริยะ (smart contract) โดย SEC ระบุว่าการทำธุรกรรมดังกล่าวซึ่งมีลักษณะเหมือนกับแชร์ลูกโซ่นั้น ดำเนินการมาเป็นเวลานานกว่า 2 ปี ซึ่งนักลงทุนจะได้กำไรก็ต่อเมื่อเชิญชวนผู้อื่นเข้ามาร่วมลงทุน
          

"ฟอร์เซจใช้สินทรัพย์จากบรรดานักลงทุนหน้าใหม่เพื่อนำไปจ่ายให้กับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนก่อนหน้านี้ ซึ่งนี่เป็นธุรกิจแบบพีระมิดหรือแชร์ลูกโซ่ นอกจากนี้ ฟอร์เซจยังทำการตลาดเชิงรุกที่เข้าถึงนักลงทุนเป็นวงกว้าง" แคโรลีน เวลช์ฮานส์ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายสินทรัพย์คริปโทฯ และไซเบอร์ของ SEC กล่าว


          
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐยังคงเดินหน้าปราบปราม การซื้อขายคริปโตฯอย่างผิดกฎหมาย โดยขณะนี้สำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) ของสหรัฐได้เพิ่มชื่อนางรูจา อิกนาโตวา ซึ่งมีฉายาในแวดวงคริปโตเคอร์เรนซีว่า "ราชินีคริปโต" (Cryptoqueen) ในบัญชีรายชื่อบุคคลหลบหนีคดี 10 รายที่สหรัฐต้องการตัวมากที่สุด พร้อมกับตั้งรางวัล 100,000 ดอลลาร์สำหรับผู้ที่ชี้เบาะแสจนนำไปสู่การจับกุมตัวนางอิกนาโตวาได้
          

นางอิกนาโตวา ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทวันคอยน์ (OneCoin) ในปี 2557 ถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงเงินของนักลงทุนเป็นมูลค่ากว่า 4 พันล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลา 3 ปี ก่อนที่จะหายตัวไป โดยเจ้าหน้าที่สอบสวนของ FBI กล่าวว่า บริษัทวันคอยน์ซึ่งมีฐานธุรกิจอยู่ในบัลแกเรียนั้น ไม่มีบล็อกเชนรองรับการทำธุรกรรม และไม่มีเหรียญคริปโตฯ ซึ่งแตกต่างจากบิตคอยน์ที่มีบล็อกเชนรองรับการทำธุรกรรม


ทีมสอบสวนของ FBI ระบุว่า การฉ้อโกงเงินนักลงทุนมูลค่ามหาศาลนี้ มีความคล้ายกับธุรกิจพีระมิดหรือแชร์ลูกโซ่ โดยนางอิกนาโตวา ใช้วิธีการสร้างหลักฐานทางการเงินปลอมเพื่อหลอกให้มีการลงทุน และเหยื่อก็จะโอนเงินสดเข้าไปยังบัญชีของบริษัทวันคอยน์เพื่อที่จะสั่งซื้อเหรียญคริปโตฯ