ADB หั่นคาดการณ์ ศก.เอเชียเหลือ 4.6% ไทยปีนี้เหลือ 2.9%

21 ก.ค. 2565 | 10:33 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ค. 2565 | 20:03 น.

ADB หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียปี 2565 และปีหน้า เหลือ 4.6% และ 5.2% ตามลำดับ แต่ปรับขึ้นคาดการณ์เศรษฐกิจ "อาเซียน" ซึ่งรวมไทย สู่ระดับ 5% อานิสงส์การเปิดพรมแดนรับนักท่องเที่ยว ขณะที่ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงเล็กน้อย ปีนี้เหลือ 2.9% และปีหน้า 4.2%

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของ เศรษฐกิจเอเชีย ในปีนี้และปีหน้า โดยระบุว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ได้รับผลกระทบจากการที่รัสเซียส่งกองกำลังทหารรุกรานยูเครน รวมทั้งการที่ธนาคารกลางทั่วโลกพากันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียประจำปี 2565 (Asian Development Outlook 2022) ของ ADB ซึ่งมีการเผยแพร่เมื่อวันพุธ (20 ก.ค.) ระบุว่า ADB ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียซึ่งรวมถึงจีนและอินเดีย ลงสู่ระดับ 4.6% ในปี 2565 จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 5.2% และปรับลดตัวเลขคาดการณ์ในปี 2566 ลงสู่ระดับ 5.2% จากเดิม 5.3%

 

อย่างไรก็ดี ADB ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วยนั้น ขึ้นสู่ระดับ 5% จากเดิม 4.9% โดยระบุว่าอุปสงค์ในประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มฟื้นตัว หลังมีการยกเลิกมาตรการควบคุมการเดินทางเพื่อสกัดการระบาดของโรคโควิด-19 และหลายประเทศในภูมิภาคแห่งนี้เริ่มเปิดพรมแดนเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว

สำหรับเศรษฐกิจไทย ADB ได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงเล็กน้อยจาก 3% เป็น 2.9% ในปี 2565 และจาก 4.5% เป็น 4.2% ในปี 2566

 

นอกจากนี้ ADB ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียขึ้นสู่ระดับ 4.2% ในปี 2565 จากเดิม 3.7% และปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปี 2566 ขึ้นสู่ระดับ 3.5% จากเดิม 3.1% เนื่องจากราคาอาหารและเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น

 

อย่างไรก็ดี ADB ระบุว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อในเอเชียยังน้อยกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก

 

ADB ระบุในแถลงการณ์ว่า ความเสี่ยงที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ยังคงมาจาก ปัจจัยภายนอก ซึ่งประกอบด้วย

  • การชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก
  • การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
  • และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรง