ทำไม “วันวิสาขบูชา” จึงเป็นวันสำคัญระดับโลก

15 พ.ค. 2565 | 07:09 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2565 | 15:16 น.
1.1 k

องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประกาศให้ "วันวิสาขบูชา" เป็น "วันสำคัญของโลก" ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2542 นับเป็นโอกาสแห่งการเฉลิมฉลองเมตตาธรรมและสันติภาพแห่งมวลมนุษยชาติ และการแสดงกตัญญูกตเวทีต่อมหาบุรุษ นามว่า "พระพุทธเจ้า"

 “วันวิสาขบูชา” ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 15 พฤษภาคม ถือเป็นวันสำคัญระดับโลก ชาวพุทธรู้ดีว่าวันนี้คือวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของมหาบุรุษโลก นามว่า “พระพุทธเจ้า” ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เหมือนกันทั้งสามวัน เพียงแต่ต่างปีกัน ส่วน องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประกาศให้วันนี้เป็น “วันสำคัญของโลก” ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2542 เนื่องจาก “พระพุทธเจ้า” ทรงสั่งสอนให้มนุษย์มีเมตตาธรรม ก่อเกิดสันติสุขแก่ผองมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นแนวทางของยูเอ็นนั่นเอง

 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2542 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 54 ได้พิจารณาระเบียบวาระที่ 174 International Recognition of the Day of Vesak ประธานสมัชชาฯ ได้เชิญผู้แทนศรีลังกาขึ้นกล่าวนำเสนอร่างข้อมติ และเชิญผู้แทนไทย สิงคโปร์ บังคลาเทศ ภูฐาน สเปน พม่า เนปาล ปากีสถาน อินเดียขึ้นกล่าวถ้อยแถลง สรุปความว่า

 

วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ทรงตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรมและขันติธรรม ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคม อันเป็นแนวทางของ สหประชาชาติ จึงขอให้ที่ประชุมรับรองข้อมตินี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรองความสำคัญของพุทธศาสนาในองค์การสหประชาชาติ

ที่ประชุมฯ ได้รับรองร่างข้อมติดังกล่าวโดยฉันทามติ คณะกรรมมาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ร่วมพิจารณาและมีมติเห็นพ้องต้องกันประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของโลก ทั้งนี้ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

  • ทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวล มนุษย์ทั้งหลายในโลก จะเห็นได้จากการยกเลิกแบ่งชนชั้นวรรณะ ซึ่งเท่ากับเป็นการเลิกทาสโดยไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ
  • นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นนักอนุรักษ์สัตว์ป่าอีกด้วย กล่าวคือ ทรงสอนให้ไม่ฆ่าสัตว์ ให้รู้จักช่วยเหลือสัตว์
  • เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งคือ พระองค์ทรงเปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณสอนโดยไม่คิดค่าตอบแทน

ทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ทั้งหลายในโลก

Vesak Day หรือ “วิสาขบูชาโลก” จึงนับเป็นโอกาสแห่งการจัดพิธีเฉลิมฉลองเมตตาธรรมและสันติภาพแห่งมวลมนุษยชาติ และการแสดงกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธองค์ โดยการน้อมนำเอาสติ สมาธิ และพุทธปัญญามาสู่การปฏิบัติ ทั้งยูเอ็นได้มีการปิดสำนักงานใหญ่ เพื่อโอกาสให้มีการจัดงานและร่วมพิธีอย่างเป็นทางการ ในขณะที่ประเทศไทยก็มีการเปิดหอประชุมใหญ่ UNESCAP ผู้บริหารระดับสูงมากล่าวต้อนรับ แสดงความยินดีกับชาวพุทธ และร่วมเฉลิมฉลอง โดยเลขาธิการใหญ่ได้ส่งสารมาร่วมแสดงความยินดีทุกปี

 

ชมคลิปงานรำลึกวันวิสาขบูชาโลกของยูเอ็นปีนี้ (2022) คลิก ที่นี่

พระราชอุทยานลุมพินีวัน สถานที่ประสูติ (ขอบคุณภาพจาก UN)

ที่มาและความหมายของ “วันวิสาขบูชา”

คำว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจาก "วิสาขปุรณมีบูชา” หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 หรือเดือนวิสาขะ (ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือนแปดสองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือนเจ็ด) “วันวิสาขบูชา” เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ และปรินิพพาน คือ ดับ ซึ่งเกิดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ตรงกันทั้ง 3 คราว (แต่ต่างปีกัน) ได้แก่

  • ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ : เจ้าชายสิทธัตถะ “ประสูติ” ที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อเช้าวันศุกร์ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี
  • ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา : เจ้าชายสิทธัตถะ “ตรัสรู้” เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดวันพุธ ก่อนพุทธศักราช 45 ปี หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี
  • ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง : พระองค์ประกาศพระพุทธศาสนา และเผยแผ่ออกไปเป็นเวลา 45 ปี เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา จึงเสด็จ “ดับขันธปรินิพพาน” ในวันอังคาร ณ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา (ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคระ แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย)

 

วันวิสาขบูชา” ในไทย

ตามหลักฐานพบว่า “วันวิสาขบูชา” เริ่มมีในเมืองไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากเมืองลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่างมโหฬารเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม แม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่

 

สำหรับสมัยสุโขทัยนั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกามีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาใกล้ชิดกันมาก เพราะพระสงฆ์ชาวลังกา ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย

 

ต่อมาในสมัยอยุธยา และสมัยธนบุรี ด้วยอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ที่แผ่เข้ามาในไทย และมีอิทธิพลสูงกว่าอำนาจของพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรากฎหลักฐานว่า ได้มีการประกอบพิธีบูชาในวันวิสาขบูชา แต่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2360) ทรงดำริกับสมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ ให้ฟื้นฟูการประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ จากนั้นจึงมีการจัดพิธีขึ้นครั้งแรกในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 (พ.ศ. 2360) และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ มีพระประสงค์เพื่อให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุ และอยู่เย็นเป็นสุข และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน