เหตุผลที่ฝันร้ายจะกลับมา ถ้า “มาร์กอส” ชนะเลือกตั้งปธน.ฟิลิปปินส์

09 พ.ค. 2565 | 15:24 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ค. 2565 | 22:33 น.

นักข่าวเจ้าของรางวัลโนเบลคนแรกของฟิลิปปินส์ ออกโรงเตือน ฝันร้ายเกี่ยวกับการแพร่สะพัดของข้อมูลเท็จจะกลับมา หาก “บองบอง มาร์กอส” ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ 

นางมาเรีย เรสซา นักข่าวสาวชาวฟิลิปปินส์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2564 ออกโรงเตือนว่า หาก นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ หรือ “บองบอง มาร์กอส” ชนะ การเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ในครั้งนี้ จะเป็นการสานต่อปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “การกระจายข้อมูลเท็จ” และอาจส่งผลกระกระทบต่อการเลือกตั้งในประเทศอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา หรือบราซิล เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

 

เรสซาให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นกับนางฮัสลินดา อามิน พิธีกรรายการของสถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์ก ทีวีในวันนี้ (9 พ.ค.) ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งทั่วประเทศของฟิลิปปินส์ว่า หากตระกูลมาร์กอสกลับมาเรืองอำนาจจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ ชาวฟิลิปปินส์ไม่ใช่ชาติเดียวที่จะได้รับผลกระทบ

มาเรีย เรสซา นักข่าวสาวชาวฟิลิปปินส์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2564

บทเรียนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2559 แสดงให้เห็นว่าฟิลิปปินส์คือโดมิโนตัวสำคัญที่ล้มลงก่อนจะตามมาด้วยเหตุการณ์ประกาศแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) การที่โดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา และนายฌาอีร์ โบลโซนารูได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีบราซิล สิ่งเหล่านี้อาจกลับมาหากฟิลิปปินส์ล้มลงอีกครั้ง

“การเลือกตั้งที่บราซิลในเดือนตุลาคมนี้และการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐในเดือนพฤศจิกายนจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน"

 

ผลสำรวจช่วงก่อนการเลือกตั้งพบว่านายมาร์กอส จูเนียร์ได้รับคะแนนนิยมท่วมท้นมาเป็นอันดับหนึ่งจากความพยายามในการใช้โฆษณาชวนเชื่อผ่านทางสื่อออนไลน์ โดยเขาได้เปลี่ยนประวัติศาสตร์การใช้กฏอัยการศึกอันโหดร้ายในยุคของนายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ซีเนียร์ ผู้เป็นพ่อ ให้กลายเป็นยุคทองของฟิลิปปินส์และการสนับสนุนจากกลุ่มอำนาจทางการเมืองที่ทรงอิทธิพล

นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ หรือ บองบอง

“คะแนนนิยมของนายมาร์กอส จูเนียร์นั้น มีรากฐานมาจากการเผยแพร่ข้อมูลเท็จที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2557 ซึ่งประจวบเหมาะกับความพยายามในการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของวงศ์ตระกูลของเขาในระดับชาติ แม้ว่าเขาจะพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งชิงตำแหน่งรองปธน.ให้กับนางมาเรีย ลีโอนอร์ โรเบรโดในปี 2559 แต่เครือข่ายเหล่านั้นก็แสดงให้เห็นว่า ปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารเชิงระบบนั้น สามารถสร้างผลกระทบและบิดเบือนข้อเท็จจริงได้” เรสซากล่าว

ทั้งนี้ นางเรสซาเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ในฟิลิปปินส์ที่เรียกว่า แรปป์เลอร์ (Rappler) ซึ่งได้รับความชื่นชมในระดับนานาชาติจากผลงานการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนการกระทำผิดของตำรวจจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดขั้นเด็ดขาดของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต

 

เธอผู้นี้คร่ำหวอดในการทำงานข่าวต่อต้านข้อมูลเท็จ-ข่าวเท็จ (fake news) นอกจากนี้ แรปป์เลอร์ยังได้ทำการรวบรวมเอกสารเกี่ยวกับ “ข้อมูลเท็จ” ที่จัดทำโดยกลุ่มผู้สนับสนุนและเครือข่ายที่เชื่อมโยงไปยังปธน.ดูเตอร์เต รวมทั้งนายมาร์กอส จูเนียร์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ด้วย