รู้จัก "เทศกาลโฮลี" สงกรานต์แบบอินเดีย สาดฝุ่นสี ไล่โชคร้ายและโรคภัย 

14 เม.ย. 2565 | 01:35 น.
อัปเดตล่าสุด :14 เม.ย. 2565 | 15:24 น.
4.8 k

ประเพณีสงกรานต์ของอินเดีย ที่เรียกว่า "โฮลี” (Holi) หรือ "โฮลีปูรณิมา” ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 หรือราวเดือนมีนาคม ถือเป็นต้นกำเนิดของสงกรานต์ในหลายประเทศแถบเอเชียรวมทั้งไทย เทศกาลนี้มีความเป็นมาอย่างไร ทำไมจึงเล่น "สาดสี" แทนการสาดน้ำ เรามาหาคำตอบไปด้วยกัน

คำว่า “สงกรานต์” เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า “ก้าวย่าง” ซึ่งใน วัฒนธรรมอินเดีย หมายถึงการเปลี่ยนผ่านเวลาในรอบปีจากราศีหนึ่งสู่อีกราศีหนึ่ง ฉะนั้น ในหนึ่งปีจะมีสงกรานต์ 12 ครั้ง แต่ครั้งสำคัญที่สุดก็คือเมื่อดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ถือว่าเป็นการ “ขึ้นปีใหม่” ตามคติฮินดู ที่นับวันตามสุริยคติ จึงมีชื่อเรียกเป็นพิเศษว่า “มหาสงกรานต์

 

บางตำนานระบุว่า เทศกาลโฮลี (ซึ่งปีนี้กำหนดจัดงานตรงกับวันที่ 18 มีนาคม) คือการเฉลิมฉลองชัยชนะของพระกฤษณะในการปราบอสูรร้ายที่ชื่อว่า “โฮลิกา” ด้วยการเผาร่างของนางจนมอดไหม้ จึงได้มีการรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ด้วยการเผาสิ่งสกปรกออกจากบ้าน นอกจากนี้ โฮลี ยังมีความหมายถึงการสิ้นสุดไปของปีเก่า จากนั้นพระพรหมก็จะสร้างโลกใหม่ที่ดีกว่าเดิมในวันรุ่งขึ้นหลังจากวันเพ็ญโฮลิปูรณิมา

 

เมื่อเป็นดังนี้ สิ่งที่นิยมทำกันในช่วงเทศกาลโฮลี ก็คือการนำสิ่งของสกปรกออกไปจากบ้าน ไปรวมกันไว้ แล้วเผาทิ้งไป ระหว่างนั้นก็จะมีการเฉลิมฉลองร้องรำทำเพลงกันไป พอวันรุ่งขึ้นก็จะมีการเฉลิมฉลองด้วยการ “สาดฝุ่นสี”  ด้วยคติความเชื่อที่ว่า เป็นการปัดเป่าเชื้อโรคร้ายให้ออกจากร่างกายเราให้หมดสิ้นไป 

การสาดสีในประเพณีโฮลี ถือเป็นการปัดเป่าโรคร้ายไปจากตัว

ฉะนั้น การสาดสีในประเพณีโฮลี จึงเป็นการปัดเป่าโรคร้ายไปจากตัว เพราะสีที่นำมาสาดใส่กันนั้น เป็นสีที่ได้มาจากพืชพรรณสมุนไพรตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีเหลือง สีเขียว สีคราม ซึ่งสมุนไพรเหล่านี้ (เช่น สะเดา ขมิ้น หญ้าฝรั่น ใบมะตูม ฯลฯ) จะช่วยสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย คล้ายกับการใช้ “ธรรมชาติบำบัด” เพราะว่าในช่วงที่มีประเพณีโฮลี เป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิในอินเดีย ซึ่งอาจทำให้ไม่สบายได้ง่าย

 

รูปแบบของการเฉลิมฉลองเทศกาลโฮลีนี้ ในบางพื้นที่ก็ใช้การสาดน้ำผสมสีสันต่างๆ บางพื้นที่ก็ไม่ใช้น้ำ แต่ใช้ผงสีซัดใส่กัน หรือป้ายหน้าป้ายตัวกัน นิยมเล่นกันในเวลาเช้าถึงเที่ยงวันก็เลิก แยกย้ายกันกลับบ้านไปอาบน้ำและพักผ่อน ก่อนจะออกมาพบปะสังสรรค์กันอีกครั้งในตอนเย็น แจกขนมหวานและสวมกอดกัน เทศกาลโฮลีจึงถือเป็นเทศกาลแห่งมิตรภาพ ให้มิตรสหายได้แสดงไมตรีเข้าสวมกอดกัน ผู้ที่เคยขัดแย้งกันก็จะได้ปรับความเข้าใจ

 

การเล่นสาดสีให้เลอะเทอะจนบางทีสีติดตัวติดเสื้อผ้า ล้างและซักไม่ออกนี้ สำหรับคนอินเดียก็มีความหมายที่ลึกซึ้ง คือหมายถึง มิตรภาพที่เหนียวแน่นยืนยง และจะติดตรึงไปตลอดกาล ไม่มีวันจาง เหมือนสีสันที่ติดแน่นบนเนื้อผ้านั่นเอง เสื้อผ้าที่ใส่เล่นโฮลีจึงนิยมผ้าสีขาว ถึงแม้จะเลอะเทอะเปรอะเปื้อนด้วยสีต่าง ๆ จนซักไม่ออก ผู้สวมใส่ก็มักจะเก็บไว้เช่นนั้น ไม่นำไปทิ้ง

อาหารที่จะเฉลิมฉลองกันในเทศกาลนี้ จะเป็นขนมที่ทำจากนมและนมเปรี้ยวเป็นหลัก โดยจะงดอาหารจากเนื้อ และยังเชื่อกันว่า หากได้กินขนมในเทศกาลโฮลีอย่างเอร็ดอร่อยด้วยจิตใจเบิกบาน จะเป็นนิมิตหมายที่ดี บ่งบอกถึงความสมบูรณ์พูนสุขในปีใหม่ที่จะมาถึง

 

และเนื่องจาก “โฮลี” ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการสิ้นสุดฤดูหนาว ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ดังนั้น นอกจากจะเล่นสาดสีกันแล้ว ก็จะมีการร้องรำทำเพลงและเต้นรำกันเป็นที่สนุกสนาน

นอกจากเล่นสาดสีกันแล้ว ก็ยังมีการร้องรำทำเพลงและเต้นรำกันเป็นที่สนุกสนาน

กล่าวกันว่าประเพณีนี้มีมายาวนานมากแล้วในอินเดีย เมื่อเผยแพร่เข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทย ก็มีการปรับเปลี่ยนจากการสาดสีเป็นการสาดน้ำแทน เพราะด้วยอากาศร้อนมากที่สุดของปี การสาดน้ำจึงเป็นไปเพื่อการคลายร้อน และเป็นการเฉลิมฉลองที่สนุกสนานในวันขึ้นปีใหม่นั่นเอง

 

ตำนานที่เชื่อมโยงกับเทศกาลโฮลี  

ต่อไปนี้เป็นตำนานเรื่องเล่าสนุกสนานที่เชื่อมโยงกับเทศกาลโฮลี

เจ้าแห่งอสูรนามว่า หิรัณยกศิป ได้รับพรจากพระพรหมให้เป็นอมตะ ซึ่งต่อมาด้วยความที่ไม่มีใครฆ่าได้ ทำให้เจ้าอสูรต้องการให้ทุกคนบูชาตนเองเท่านั้น แต่ลูกชายที่ชื่อ ประหลาด (Prahlad) กลับบูชาแต่ พระวิษณุ ทำให้อสูรโกรธมาก พยายามหาวิธีทำให้ลูกตัวเองตาย ซึ่งรวมถึงการหลอกเผาทั้งเป็น โดยให้ประหลาดเข้าพิธีบูชาไฟพร้อมน้องสาวที่ชื่อ “โหลิกา”  น้องสาวคนนี้ได้รับพรวิเศษว่า ไฟใด ๆก็ไม่สามารถทำร้ายเธอได้ แต่ปรากฏว่าเมื่ออยู่ในกองไฟ โหลิกากลับถูกไฟเผาไหม้ ขณะที่ประหลาดไม่เป็นอะไรเลย ที่เป็นเช่นนี้เพราะพรที่โหลิกาได้มา มีเงื่อนไขว่าเธอต้องเข้ากองไฟเพียงคนเดียว ส่วนประหลาดนั้น ที่อยู่รอดปลอดภัยมาได้ เพราะเขายึดมั่นบูชาพระวิษณุเสมอ ๆ ภัยจากไฟจึงทำอะไรเขาไม่ได้

 

ตำนานอีกเรื่องที่เกี่ยวกับเทศกาลโฮลี เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระกฤษณะ กับสาวชื่อ ราธา ที่เป็นสาวเลี้ยงวัว กล่าวกันว่า แต่เดิมพระกฤษณะมีผิวพรรณคล้ำ เขาเกิดอิจฉาสาวคนรักที่มีผิวขาวเนียน เลยไปถามแม่ว่าทำไมเขาไม่เกิดมาผิวดีอย่างนางราธา แม่ตอบเพียงว่า เช่นนั้นลูกก็เอาสีไปสาดใส่นางราธาเสียสิ พระกฤษณะจึงทำอย่างที่แม่บอก เกิดการสาดสีกันไปมากับนางราธา จนกลายเป็นเทศกาลโฮลีในทุกวันนี้