เด็ดปีกรัสเซีย ยูเอ็นถอดพ้นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแล้ว

08 เม.ย. 2565 | 08:56 น.
อัปเดตล่าสุด :08 เม.ย. 2565 | 16:07 น.
932

ยูเอ็นถอดถอนรัสเซียออกจากการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแล้ววานนี้ (7 เม.ย.) จากส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน ซึ่งถือเป็น "การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและเป็นระบบ"  ด้านผู้แทนยูเครนตีปีก ลั่น "อาชญากรสงครามจะต้องไม่มีที่ยืนในหน่วยงานของสหประชาชาติ”

ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) มีมติถอดถอน รัสเซีย ออกจากการเป็นสมาชิก คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน เมื่อวันพฤหัสฯ (7 เม.ย.) เพื่อตอบโต้ต่อการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตี ยูเครน ซึ่งถือเป็น "การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและเป็นระบบ" โดยสมาชิก UNGA จำนวน 93 ประเทศจากทั้งหมด 193 ประเทศ ลงมติเห็นชอบต่อญัตติดังกล่าว ขณะที่ 24 ประเทศลงมติไม่เห็นชอบ ส่วน 58 ประเทศงดออกเสียง และ 18 ประเทศไม่เข้าร่วมในการลงมติ

 

มติดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศที่เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ถูกขับออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ขณะที่ก่อนหน้านี้ ลิเบียเคยถูกระงับการเป็นสมาชิกในปี 2554 เนื่องจากรัฐบาลใช้ความรุนแรงปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงที่ออกมาชุมนุมขับไล่พันเอกมูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำลิเบีย

ยูเอ็นถอดรัสเซียพ้นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแล้ว

หลังการประกาศมติของ UNGA นายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน ได้ออกมาแถลงแสดงความเสียใจต่อการที่รัสเซียถูกขับออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน แต่ยังยืนยันว่า รัสเซียจะยังคงปกป้องผลประโยชน์ของประเทศในทุกวิถีทาง ทั้งนี้ เขายืนยันว่า มีการจัดฉากการสังหารหมู่ชาวยูเครนในเมืองบูชาเพื่อป้ายสีกองทัพรัสเซีย "มีการพบร่างผู้เสียชีวิตจำนวนมากหลังจากที่รัสเซียถอนกำลังออกไปแล้ว และขณะนี้เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่มีแต่ข่าวปลอมและเรื่องโกหกทุกวัน"

ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย

ขณะเดียวกันนายดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน แสดงความยินดีต่อการที่สหประชาชาติมีมติถอดถอนรัสเซียออกจากการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน โดยเขาให้ความเห็นว่า "อาชญากรสงครามจะต้องไม่มีที่ยืนในหน่วยงานของสหประชาชาติที่มีเป้าหมายเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน ผมขอขอบคุณสมาชิกที่ได้ให้การสนับสนุนญัตติดังกล่าว และเลือกที่จะยืนหยัดอยู่ในฝั่งที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์"

 

ทางด้านประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กล่าวว่า เหตุการณ์ที่กองทัพรัสเซียได้สังหารโหดต่อพลเรือนยูเครนในเมืองบูชา ได้ทำให้การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนประสบความยากลำบากมากขึ้น "เป็นเรื่องยากมากที่จะเจรจาต่อไป เมื่อคุณเห็นสิ่งที่พวกเขาได้กระทำ ซึ่งหากรัสเซียยิ่งถ่วงเวลาเจรจาออกไปนานเท่าใด สถานการณ์ก็จะเลวร้ายลงเท่านั้น เรารู้ว่าประชาชนถูกฆ่าและทรมานหลายพันคน รวมทั้งมีการฆ่าเด็ก และข่มขืนผู้หญิง เรากำลังสอบสวนเรื่องนี้ และจะแสดงให้สื่อมวลชนทั่วโลกได้เห็น"

 

ปธน.เซเลนสกี ยังกล่าวด้วยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองบูชา ประเทศยูเครน ถือเป็นการก่ออาชญากรรมสงคราม และเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ทั้งนี้ นอกจากการถอดถอนรัสเซียออกจากการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแล้ว ยังมีความพยายามที่จะเรียกร้องให้มีการถอดถอนรัสเซียออกจากการเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) , สมาชิกกลุ่ม G20 และสมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ด้วย เพื่อการเป็นตอบโต้การที่รัสเซียรุกรานยูเครน

 

ข้อมูลอ้างอิง