ระบบไฟฟ้า-ประปาในเมียนมาล่มสลาย ย่างกุ้งอ่วมถูกตัดไฟตามเวลาวันละ 2 ครั้ง

21 มี.ค. 2565 | 15:46 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มี.ค. 2565 | 23:04 น.
964

นับตั้งแต่ที่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้เป็นเวลากว่า 13 เดือนแล้ว สภาพความเป็นอยู่ในเมียนมากำลังประสบปัญหานานัปการ ราคาอาหารถีบตัวสูงขึ้น น้ำประปาและไฟฟ้าขาดแคลนหนัก แม้ในย่างกุ้งยังต้องปันไฟกันใช้เป็นเวลา

มาตรการตัดไฟตามเวลา ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อลดปัญหา การผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอ ใน เมียนมา นั้น ดูเหมือนยังไม่สามารถลดการขาดแคลนพลังงานได้ โดยเฉพาะในย่านธุรกิจสำคัญในนคร ย่างกุ้ง อดีตเมืองหลวงที่ยังคงความเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และมีประชากรราว 7 ล้านคน รัฐบาลยังต้องใช้วิธีตัดการจ่ายกระแสไฟฟ้า 2 ครั้งทุกๆ 24 ชั่วโมง ทำให้บางครอบครัวไม่มีไฟฟ้าใช้ถึง 6 ชั่วโมง/วัน และมีเพียงแต่กรุงเนปิดอว์ นครหลวงซึ่งเป็นที่ตั้งของกองทัพเมียนมาเท่านั้นที่ไม่มีปัญหาไฟฟ้าถูกตัด

 

ทั้งนี้ รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศใช้มาตรการตัดไฟฟ้าตามเวลาเพิ่มขึ้นระหว่างวันที่ 12 - 18 มีนาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่าเป็นผลจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นและโครงสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ ถูกโจมตีโดยกองกำลังต่อต้านกองทัพเมียนมา

เมียนมาในความมืดมิดภายใต้วิกฤตพลังงาน

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในเมียนมาเปิดเผยกับสำนักข่าว เรดิโอ ฟรี เอเชีย (RFA) ภาคภาษาเมียนมาว่า มาตรการดังกล่าวไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่กลับยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนเพิ่มมากขึ้น ในหลายเมือง พวกเขาต้องหันไปใช้เตาถ่านในการหุงต้มอาหารแทนเตาแก๊สหรือเตาไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังต้องรอสูบน้ำ(จากถังพักหรือบ่อพักน้ำ) ขึ้นมาใช้เมื่อไฟ (ฟ้า) มา ซึ่งก็มีเวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้นที่จะมีไฟฟ้าใช้ในแต่ละวัน อีกทางออกคือการไปเข้าแถวรอรับน้ำจากจุดแจกจ่ายน้ำของทางการ

ประชาชนนำภาชนะมาเข้าคิวรอรับน้ำที่ทางการนำมาแจกจ่าย (ขอบคุณภาพจาก Frontier Myanmar)

บรรดานักเคลื่อนไหวในเมียนมาออกมาเตือนว่า ปัญหาไฟฟ้าดับทำให้ธุรกิจในเมืองเล็ก-เมืองใหญ่หลายแห่งของเมียนมา ต้องปิดทำการชั่วคราว ซึ่งยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการทำให้ประชาชนหลายแสนคนต้องตกงาน

 

ดอว์ เมียว เมียว อาย ประธาน สมาพันธ์สหภาพการค้าแห่งเมียนมา หรือ United Confederation of Trade Unions เปิดเผยว่า โรงงานสิ่งทอหลายแห่งในเมียนมาต้องปิดตัวลงเพราะไม่มีไฟฟ้าเพียงพอใช้ ประกอบกับราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้น ความไม่มั่นคงทางการเมือง และภาวะเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำแบบดำดิ่ง

 

นายซอว์ ยาน วิศวกรไฟฟ้าชาวเมียนมาคนหนึ่งกล่าวกับ RFA ว่า เมียนมาจะไม่สามารถมีแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่พึ่งพาตนเองได้ตราบที่รัฐบาลทหารเมียนมายังคงอยู่ในอำนาจ เนื่องจากชิ้นส่วนของเครื่องปั่นไฟหรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำของเมียนมา ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ไม่สามารถทำได้ภายใต้มาตรการลงโทษจากต่างชาติที่เมียนมากำลังเผชิญอยู่

ไม่เพียงเท่านั้น จากเหตุที่ลูกจ้างจำนวนมากของกระทรวงไฟฟ้าและพลังงานต่างหยุดงานมาเข้าร่วมในการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร ยังทำให้โรงไฟฟ้าของรัฐไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

วอนโลกอย่าลืมวิกฤตในเมียนมา แม้สถานการณ์ยูเครนจะรุนแรง

สำนักข่าวต่างประเทศยังรายงานด้วยว่า ความยากลำบากที่เกิดขึ้นในเมียนมาทำให้กลุ่มชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นได้เปิดตัวแคมเปญระดมทุนช่วยเหลือชาวเมียนมาที่ต้องลี้ภัยจากสถานการณ์การเมืองที่รุนแรงหลังจากที่กองทัพได้ก่อรัฐประหารเมื่อปี 2564

 

สำนักข่าวเกียวโด สื่อใหญ่ของญี่ปุ่นรายงานว่า ในขณะที่คนทั่วโลกต่างจับตาสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่ชาวเมียนมาได้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ โปรดอย่าลืมความทุกข์ยากของชาวเมียนมา พร้อมย้ำว่าวิกฤตด้านมนุษยธรรมในประเทศเมียนมากำลังย่ำแย่ลงอย่างมาก

 

นางมิซากิ โอซิกิ หญิงชาวเมียนมาและผู้จัดแคมเปญดังกล่าวระบุว่า เมียนมาได้รับความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นแล้วบางส่วน แต่ทางกลุ่มตัดสินใจที่จะขยายความช่วยเหลือให้ครอบคลุมด้านอาหาร เวชภัณฑ์และยา เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่กำลังตกทุกข์ได้ยากในเมียนมาอย่างเร่งด่วน

 

"ประชาชนในญี่ปุ่นและทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจกับวิกฤตในเมียนมาลดลง ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างกองทัพและผู้ที่ต่อต้านเผด็จการทหารเมียนมานั้น กินเวลายาวนานกว่า 1 ปีแล้ว" โอซิกิกล่าว และว่ายูเครนและเมียนมาต่างมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือประชาชนถูกกองทัพใช้กำลังกดขี่ “เราต้องการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับยูเครนและประชาชนทุกคนที่ถูกปล้นเสรีภาพและสันติภาพไป"

ความหวังของชาวเมียนมายังริบหรี่เหมือนไฟฟ้าที่ต้องปันกันใช้

ทั้งนี้ ข้อมูลของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และข้อมูลอื่น ๆ ระบุว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 กองทัพเมียนมาได้สังหารผู้ประท้วงและพลเรือนไปแล้วประมาณ 1,700 คน อีกทั้งยังทำให้มีผู้พลัดถิ่นราว 520,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก