แก้วิกฤตยูเครน เพราะเหตุใด “ศาลโลก” ไม่ใช่คำตอบ

08 มี.ค. 2565 | 05:13 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มี.ค. 2565 | 14:00 น.
831

ผู้เชี่ยวชาญชี้ การหันพึ่งศาลโลก หรือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ของยูเครน ไม่ได้ช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์การรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย ข้อสังเกตนี้มีเหตุผล

การที่ ยูเครน ยื่นคำร้องต่อ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) หรือ ศาลโลก เพื่อให้ รัสเซีย ยุติปฏิบัติการทางทหารในยูเครนนั้น จะไม่ช่วยคลี่คลายสถานการณ์แต่อย่างใด เป็นทรรศนะของนายเทอร์รี กิล ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายทหารที่มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มเหตุการณ์ในปัจจุบัน 

 

เหตุผลที่กล่าวเช่นนั้นก็เพราะว่า ถึงแม้ศาลมีคำสั่งห้ามรัสเซียดำเนินการดังกล่าว แต่โอกาสที่รัสเซียจะยุติการโจมตียูเครนแทบจะเป็นศูนย์

 

นายกิลตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าคำตัดสินของ ICJ มีผลผูกพันทางกฎหมายที่ประเทศต่างๆต้องปฏิบัติตาม แต่ ICJ ก็ไม่มีอำนาจบังคับใช้โดยตรง หากประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ปฏิบัติตาม ทำให้ ICJ ต้องส่งเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ซึ่ง รัสเซียเป็นสมาชิกถาวร และมีอำนาจในการใช้สิทธิ “วีโต้” ซึ่งเป็นการใช้สิทธิแห่งการเป็นสมาชิกถาวร คว่ำมติของ UNSC

 

ขณะเดียวกัน ICJ เปิดเผยว่า รัสเซียปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการไต่สวนฉุกเฉินของ ICJ ในวันจันทร์ (7 มี.ค.) ซึ่งมีขึ้นตามคำร้องของยูเครน เพื่อให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยให้รัสเซียยุติปฏิบัติการทางทหารในยูเครน

"ศาลมีความเสียใจต่อการที่สหพันธรัฐรัสเซียปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการไต่สวนด้วยวาจา โดยนายอเล็กซานเดอร์ ชูลกิน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำเนเธอร์แลนด์ได้แจ้งต่อศาลว่า รัสเซียไม่มีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมการไต่สวน" นางโจน โดนอกฮิว ประธานคณะตุลาการ ICJ กล่าว

ศาลโลกอาจไม่ใช่ทางออกของวิกฤตการณ์ครั้งนี้

ทางด้านนายแอนตอน คอรีเนวิช หัวหน้าคณะตัวแทนของยูเครน กล่าวว่า "การที่เก้าอี้ของรัสเซียว่างเปล่าก็เป็นเพราะพวกเขากำลังอยู่ที่สนามรบ และกำลังทำสงครามกับประเทศของผม นี่คือวิธีที่รัสเซียใช้ในการแก้ไขข้อพิพาท"

 

ก่อนหน้านี้ ยูเครนยื่นคำร้องต่อ ICJ ในวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยให้รัสเซียยุติปฏิบัติการทางทหารในยูเครน

 

ทั้งนี้ ศาลได้แจ้งให้คณะตัวแทนจากยูเครนขึ้นให้การในวันจันทร์เวลา 16.00 น.ตามเวลาไทย และกำหนดให้ตัวแทนจากรัสเซียทำการแก้ต่างในวันถัดมา

ยูเครนร้องขอให้ศาลตีความสนธิสัญญาปี 1948 ว่าด้วยการป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยคำฟ้องของยูเครนระบุว่ารัสเซียได้ตีความสนธิสัญญาดังกล่าวไม่ถูกต้อง

 

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย อ้างว่าการที่รัสเซียใช้ปฏิบัติการพิเศษทางทหารต่อยูเครนเป็นไปด้วย “ความชอบธรรม” เพื่อปกป้องประชาชนในยูเครนตะวันออกจากการถูกกดขี่ข่มเหงและถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยาวนานถึง 8 ปี แต่ฝ่ายยูเครนยืนกรานว่า ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นในยูเครนตะวันออก และยูเครนร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำวินิจฉัยว่ารัสเซียไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะทำการโจมตียูเครนโดยอ้างเหตุผลเพื่อป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

 

แม้ว่าที่ผ่านมา ICJ มักใช้เวลาหลายปีก่อนที่จะมีการตัดสินคดีถึงที่สุดระหว่างรัฐที่เป็นคู่ขัดแย้ง แต่ ICJ ก็มีกระบวนการเร่งรัดพิจารณาคดี และมีอำนาจในการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์เลวร้ายลง ก่อนที่จะทำการวินิจฉัยในประเด็นพื้นฐานอื่นๆ