เหตุผลที่แอร์ไลน์วอนสหรัฐยกเลิกบังคับผู้โดยสารตรวจโควิดก่อนเข้าประเทศ  

03 ก.พ. 2565 | 11:32 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.พ. 2565 | 19:16 น.
2.6 k

สายการบินจับมืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ยื่นจดหมายชี้หลากข้อเหตุผลที่ต้องขอให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ยุติข้อบังคับการตรวจโควิดของผู้โดยสารเข้าประเทศที่ฉีดวัคซีนครบโดสมาแล้ว

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า สายการบิน ตลอดจน กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว ต่าง ๆ ได้เรียกร้องให้ รัฐบาลสหรัฐ ยุติข้อบังคับการตรวจหาเชื้อ โควิด-19 ก่อนออกเดินทางมายัง สหรัฐอเมริกา สำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศที่ฉีดวัคซีนมาครบโดสแล้ว

 

แอร์ไลน์ฟอร์อเมริกา (A4A) ซึ่งเป็นตัวแทนสายการบินรายใหญ่ต่าง ๆ ตลอดจนสมาคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ กว่า 20 แห่งที่เป็นตัวแทนของสายการบิน โรงแรม สนามบิน และผู้ผลิตเครื่องบิน ร่วมลงนามในจดหมายแสดงข้อเรียกร้องดังกล่าว ส่งถึงนายเจฟฟ์ เซียนท์ส ผู้ประสานงานด้านการรับมือกับไวรัสโควิด-19 ประจำทำเนียบขาววานนี้ (2 ก.พ.)

 

จดหมายดังกล่าวให้เหตุผลที่ควรยกเลิกข้อบังคับว่า ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อมีกระจายอยู่ทั่วไปในทั้ง 50 รัฐอยู่แล้ว และปัจจุบันก็มีอัตราการฉีดวัคซีนในระดับสูง รวมถึงมียารักษาตัวใหม่แล้วด้วย

เหตุผลที่แอร์ไลน์วอนสหรัฐยกเลิกบังคับผู้โดยสารตรวจโควิดก่อนเข้าประเทศ  

นอกจากนี้ ยังระบุว่า ข้อบังคับการตรวจหาเชื้อเป็นเรื่องยุ่งยากมากเกินไปสำหรับคนที่ฉีดวัคซีนแล้วและเป็นตัวขัดขวางการท่องเที่ยวอีกด้วย พร้อมยกตัวอย่างว่า อังกฤษกำลังจะยกเลิกข้อบังคับการตรวจโควิด-19 สำหรับผู้โดยสารจากต่างประเทศที่ฉีดวัคซีนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ.เป็นต้นไป

 

"การยกเลิกข้อบังคับดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้การท่องเที่ยวและการบินทั้งในสหรัฐและทั่วโลกฟื้นตัวได้อย่างมาก โดยไม่ทำให้โควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ แพร่กระจายมากขึ้น" จดหมายของ A4A ระบุ

เหตุผลที่แอร์ไลน์วอนสหรัฐยกเลิกบังคับผู้โดยสารตรวจโควิดก่อนเข้าประเทศ  

ก่อนหน้านี้ คณะบริหารภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกนโยบายในเดือนม.ค. 2564 กำหนดให้ผู้โดยสารเครื่องบิน รวมถึงพลเมืองสหรัฐ ต้องแสดงหลักฐานผลการตรวจโควิดเป็นลบภายใน 3 วันก่อนออกเดินทางมายังสหรัฐ

 ต่อมาในเดือนธ.ค. 2564 คณะบริหารของปธน.โจ ไบเดน เพิ่มความเข้มงวดในนโยบายดังกล่าวโดยลดระยะเวลาจากเดิม 3 วัน เหลือเพียง 1 วันก่อนออกเดินทาง ซึ่งมีขึ้น 1 เดือนหลังจากที่สหรัฐยกเลิกคำสั่งห้ามนักท่องเที่ยวจากยุโรป จีน บราซิล อินเดีย และอังกฤษ เดินทางเข้าสหรัฐ

 

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันการเดินทางภายในประเทศ ซึ่งช่วยให้สายการบินต่าง ๆ ฟื้นตัวจากการขาดทุนครั้งประวัติการณ์ในปี 2563 นั้น ยังคงเป็นที่ต้องการมากกว่าการเดินทางระหว่างประเทศ