รู้จักโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ระบาดไวขึ้น แต่ยังไม่พบป่วยรุนแรง

31 ม.ค. 2565 | 13:36 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2565 | 20:50 น.

ทั่วโลกกำลังจับตาดูการระบาดของ ‘โอมิครอน’ สายพันธุ์ย่อยที่ถูกเรียกว่า BA.2 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 มีการตรวจพบแล้วในราว 40 ประเทศ โดยผู้เชี่ยวชาญพบการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของสายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่แตกต่างจากสายพันธุ์หลักอย่างเห็นได้ชัด

นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 มีราว 40 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งสหรัฐอเมริกาและไทย ที่ตรวจพบการระบาดของ ‘โอมิครอน’ สายพันธุ์ย่อย ที่เรียกว่า BA.2 ประเทศเหล่านี้ได้ส่งข้อมูลผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวจำนวนรวมถึง 15,000 รายเข้าสู่ ระบบ GISAID ซึ่งเป็นฐานข้อมูลร่วมเกี่ยวกับ โควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญพบการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่แตกต่างจากสายพันธุ์หลักอย่างเห็นได้ชัด

 

สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐรายงานอ้างอิงนายแพทย์ เวสลีย์ ลอง แห่งโรงพยาบาล Houston Methodist ในรัฐเท็กซัสที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพีเมื่อเร็ว ๆนี้ ระบุว่า ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด ยังไม่ได้เห็นสายพันธุ์ย่อยมากนักในสหรัฐ ซึ่งกลับกันกับฝั่งเอเชียและยุโรปที่มีการระบาดมาก

 

โดยก่อนหน้านี้ มีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขของ เดนมาร์ก พบผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยในประเทศแล้วถึง 45% ของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมดเมื่อกลางเดือนมกราคม 2565 ตัวเลขข้างต้นเพิ่มขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับสองสัปดาห์ก่อนหน้านั้น

 

แต่การวิเคราะเบื้องต้นในเดนมาร์กระบุว่า ทางการไม่พบความแตกต่างในจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลจากการติดเชื้อของสายพันธุ์ย่อยเมื่อเทียบกับ ’โอมิครอน’ สายพันธุ์หลัก หรือ BA.1 ส่วนในประเทศไทย สื่อท้องถิ่นรายงานเมื่อวันที่ 26 มกราคมตามเวลาท้องถิ่นว่า พบผู้ป่วยจากสายพันธุ์ย่อยแล้ว 14 ราย

รู้จักโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ระบาดไวขึ้น แต่ยังไม่พบป่วยรุนแรง

ความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อของ BA.2

นายแพทย์ เวสลีย์ ลอง กล่าวว่า มีข้อมูลบางส่วนที่ชี้ให้เห็นว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอาจแพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็วเท่าหรือรวดเร็วกว่าสายพันธุ์หลัก เนื่องจากมันสามารถระบาดแข่งกับสายพันธุ์หลักได้ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็ไม่แน่ใจว่าเป็นไปได้เพราะอะไร

 

อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ เจอเรมี่ ลูแบน นักระบาดวิทยาแห่ง University of Massachusetts Medical School ในสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 จะส่งผลกระทบต่อประชากรอย่างไร โดยเฉพาะในบริเวณที่ผู้คนจำนวนมากเผชิญกับการระบาดของ ‘โอมิครอน’ สายพันธุ์หลักแล้ว

 

ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญจึงเร่งศึกษาเพิ่มเติมถึงความสามารถในการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ย่อย BA.2 รวมทั้งประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดในการป้องกันเชื้อดังกล่าว ตลอดจนภูมิคุ้มกันของผู้ที่เคยติดสายพันธุ์หลักมาก่อนว่าจะสามารถป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์ย่อยได้หรือไม่

WHO แสดงความกังวลมากแค่ไหน?

องค์กรอนามัยโลก (WHO) ระบุเพียงว่า ไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ยังไม่ใช่สายพันธุ์ที่น่ากังวล (variant of concern หรือ VOC) ซึ่งเป็นระดับการส่งสัญญาณ “ขั้นสูงสุด” สำหรับเชื้อโควิดกลายพันธุ์

 

ทั้งนี้ หากสถานการณ์การระบาดทั่วโลกจากสายพันธุ์ย่อยรุนแรงขึ้น BA.2 อาจจะถูกยกระดับขึ้นมาและได้รับตัวอักษรกรีกเหมือนสายพันธุ์หลักชนิดก่อนๆ

 

ส่วนเรื่องการตรวจหาเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.2 นั้น สำนักข่าวเอพีอธิบายว่า ‘โอมิครอน’ สายพันธุ์หลักมีพันธุกรรม S gene target failure โดยเฉพาะ จึงทำให้เจ้าหน้าที่สามารถแยกแยะออกจากสายพันธุ์ ‘เดลต้า’ ได้ง่าย ทั้งนี้ นายแพทย์ เวสลีย์ ลอง ชี้ว่า พันธุกรรมของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ไม่มีคุณลักษณะเช่นนั้น จึงทำให้เมื่อตรวจเชื้อแล้ว ผลปรากฏว่ามีพันธุกรรมคล้าย ‘เดลต้า’

 

การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไวรัสสายพันธุ์ย่อย

สำหรับการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไวรัสสายพันธุ์ย่อย แพทย์ให้คำแนะนำผ่านสำนักข่าวเอพีว่า ผู้คนควรใช้มาตรการเฝ้าระวังอย่างที่เคยทำมา เช่น

  • การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด
  • การสวมหน้ากากอนามัย
  • การหลีกเหลี่ยงสถานที่แอดอัด
  • อยู่บ้านหากรู้สึกว่าไม่สบาย

รู้จักโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ระบาดไวขึ้น แต่ยังไม่พบป่วยรุนแรง

นายแพทย์ ลอง อธิบายว่า วัคซีนยังถือเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันโรคร้ายแรงต่างๆ ทำให้ผู้คนไม่ต้องนอนโรงพยาบาล และป้องกันได้ดีไม่ให้ผู้ป่วยถึงกับเสียชีวิต ทั้งนี้ ถึงแม้บางคนจะเคยติดโควิดมาก่อนและสามารถสร้างภูมิต้านทานตามธรรมชาติได้ แต่การป้องกันจากวัคซีนยังจัดว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าและมีระยะเวลาป้องกันที่ยาวกว่า

 

ไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่เกิดขึ้นนี้ นับว่าเป็นเครื่องเตือนใจให้กับผู้คนว่าการระบาดของโคโรนาไวรัสยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งนายแพทย์ ลองกล่าวทิ้งท้ายว่า “เราทุกคนหวังว่าการระบาดจะจบสิ้น …..แต่ เราจะยังคงเผชิญกับความเสี่ยงของการเกิดสายพันธุ์ใหม่ต่อไป จนกว่าคนทั่วโลกจะได้รับวัคซีน”