ลดไว “อองซาน ซูจี” ชั่วข้ามคืนได้ลดโทษกึ่งหนึ่ง-ไม่ต้องนอนเรือนจำ

07 ธ.ค. 2564 | 16:19 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ธ.ค. 2564 | 23:30 น.

“อองซาน ซูจี” อดีตผู้นำรัฐบาลพลเรือนเมียนมา ได้รับการลดหย่อนโทษกึ่งหนึ่ง จากจำคุก 4 ปีเหลือเพียง 2 ปี หลังได้รับอภัยโทษบางส่วนจากผู้นำรัฐบาลทหาร เธอถูกศาลตัดสินในข้อหาปลุกปั่นและฝ่าฝืนข้อบังคับควบคุมโรคโควิด-19 ท่ามกลางคำประณามของนานาชาติและองค์กรสิทธิมนุษยชน

สถานีโทรทัศน์เอ็มอาร์ทีวีของทางการเมียนมารายงานวันนี้ (7 ธ.ค.) ว่า นางอองซาน ซูจี อดีตผู้นำรัฐบาลพลเรือนของเมียนมาที่ถูก รัฐประหารยึดอำนาจ และควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2564 ได้รับอภัยโทษบางส่วนจาก พลเอกอาวุโส มิน อ่องหล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารและผู้บัญชาการทหาร ทำให้เธอจะได้รับการลดโทษลงกึ่งหนึ่งเหลือจำคุกเพียง 2 ปี จากเดิม 4 ปี

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ศาลได้มีคำตัดสินให้ลงโทษจำคุกนางซูจี  2 ปีในข้อหาปลุกปั่นให้เกิดการต่อต้านกองทัพ และอีก 2 ปีในข้อหาฝ่าฝืนข้อบังคับควบคุมโรคโควิด-19 ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเมื่อปีที่แล้วของนางซูจี รวมเป็นจำคุก 4 ปี ซึ่งเป็นคำพิพากษาลงโทษครั้งแรกนับตั้งแต่เธอถูกจับกุมในวันที่เกิดรัฐประหารเมื่อต้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ส่วนนายวิน มินต์ อดีตประธานาธิบดีได้รับการลดหย่อนโทษจากจำคุก 4 ปีเหลือ 2 ปีในคดีเดียวกับซูจีเช่นกัน

นางอองซาน ซูจี

เอ็มอาร์ทีวีรายงานว่า บุคคลทั้งสองจะรับโทษจำคุกในสถานที่ที่ควบคุมตัวทั้งคู่ต่อไป  ซึ่งหมายความว่า ทั้งสองอาจไม่ต้องถูกส่งไปยังเรือนจำ อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่าทั้งคู่ถูกกักตัวอยู่ที่ไหนนับตั้งแต่วันที่เกิดรัฐประหาร1 ก.พ.2564  บางสื่อระบุว่า ทั้งคู่จะถูกกักตัวในบ้านพักในกรุงเนปิดอว์

การตัดสินคดีเมื่อวานนี้ (6 ธ.ค.) อาจจะเป็นเพียงก้าวแรกเกี่ยวกับคดีทั้งหมดทั้งมวลที่นางอองซาน ซูจี ถูกตั้งข้อกล่าวหา  ทั้งนี้ ซูจี หัวหน้าพรรค NLD และอดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมาในวัย 76 ปี ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีรวมทั้งสิ้น 11 ข้อหา ไล่เรียงไปตั้งแต่ข้อหาคอร์รัปชัน ปลุกระดมมวลชน ครอบครองสิ่งผิดกฎหมาย ไปจนถึงละเมิดกฎหมายความลับทางราชการ ซึ่งอาจทำให้ต้องรับโทษจำคุกรวมกว่า 100 ปีหากถูกตัดสินว่ากระทำความผิดจริงทั้งหมด (แต่ละข้อหามีโทษจำคุกราว 15 ปี)

 

อย่างไรก็ตาม เธอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

 

ทอม แอนดรูว์ส ผู้จัดทำรายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาของสหประชาชาติ ระบุในแถลงการณ์ว่า อองซาน ซูจี และวิน มินต์ ตกอยู่ในสถานะตัวประกัน ไม่ใช่อาชญากร และกระบวนการตัดสินคดีความในเมียนมาก็ไม่ใช่การพิจารณาคดีที่แท้จริงและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เขาเรียกร้องให้นานาชาติเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลทหารเมียนมา

พลเอกอาวุโส มิน อ่องหล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารและผู้บัญชาการทหาร

ขณะที่นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ให้ความเห็นว่าคำพิพากษาของศาลเมียนมาไม่มีความชอบธรรม และกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนก็ได้ออกมาประณามคำตัดสินคดีของซูจีว่าเป็นกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว

 

ทั้งนี้ ผู้สนับสนุนนางซูจีมองว่า คำพิพากษาลงโทษซูจีไม่มีมูลความจริง และมุ่งปิดกั้นเส้นทางการเมืองของเธอ นอกจากนี้ ยังมีประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาเดินขบวนในนครย่างกุ้งเพื่อคัดค้านคำตัดสินของศาลด้วย