หมัดเด็ดไฟเซอร์ เปิดตัวยาเม็ดต้านโควิด-19 ท้าชน “โมลนูพิราเวียร์”

06 พ.ย. 2564 | 02:51 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ย. 2564 | 13:50 น.
830

“ไฟเซอร์” ประกาศความสำเร็จในการพัฒนายาเม็ดต้านโควิด-19 ภายใต้ชื่อยา “แพ็กซ์โลวิด” ที่ผลการทดลองชี้ว่า สามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิดไม่ให้อาการรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 89% เตรียมยื่น FDA ขออนุมัติการใช้ยาดังกล่าวเป็นกรณีฉุกเฉินเร็วๆ นี้

ไฟเซอร์ (Pfizer) แถลงเมื่อวันศุกร์ (5 พ.ย.) ว่า ผลการทดสอบประสิทธิภาพของ ยาแพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) มาจากการทดลองทางคลินิกแบบสุ่มและ double-blind (การที่ผู้เข้าร่วมการวิจัยหรือผู้ทดลองไม่ทราบว่าใครได้รับการรักษาเป็นพิเศษ) ในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลแต่มีความเสี่ยงที่จะมีอาการป่วยหนักขึ้นจนถึงขั้นรุนแรง การทดลองพบว่า ยาดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิดในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 89%  

 

นับเป็นประสิทธิภาพที่สูงกว่ายาเม็ด “โมลนูพิราเวียร์” ของบริษัทเมอร์ค ที่เปิดตัวออกมาก่อนหน้านี้ว่าสามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิดในการเจ็บป่วยรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ 50%

หมัดเด็ดไฟเซอร์ เปิดตัวยาเม็ดต้านโควิด-19 ท้าชน “โมลนูพิราเวียร์”

ทั้งนี้ ในการรักษา ผู้ป่วยโควิดจะต้องรับประทานยาแพ็กซ์โลวิด วันละ 2 ครั้ง ๆ ละ 3 เม็ด

 

บริษัทยาสัญชาติอเมริกันรายนี้มีแผนจะนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการทดลองทั้งหมดยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) เพื่อขออนุมัติการใช้ยานี้เป็นกรณีฉุกเฉิน โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า น่าจะเป็นก่อนวันที่ 25 พ.ย.นี้

ปัจจุบัน ไฟเซอร์ เป็นบริษัทผู้ผลิตยารายที่สอง ที่สามารถพัฒนา “ยาเม็ด” ชนิดรับประทานเพื่อรักษาอาการป่วยโรคโควิด-19 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ บริษัท เมอร์ค แอนด์ โค (Merck & Co.) ซึ่งเป็นธุรกิจสัญชาติอเมริกันเช่นกัน ได้เปิดตัวยาเม็ดต้านโควิด-19 ของตนออกมาเมื่อเดือน ต.ค. ภายใต้ชื่อว่า “โมลนูพิราเวียร์” (molnupiravir)

 

โดยในกรณีของยาโมลนูพิราเวียร์นั้น เมอร์คระบุผลการทดลองทางคลินิกว่า มีประสิทธิภาพช่วยลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยโควิดที่เพิ่งได้รับเชื้อได้ถึง 50% อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพในการรับมือกับเชื้อโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ รวมถึงเดลตา แกมมา และมิว โดยขณะนี้ เมอร์คได้ยื่นเรื่องต่อ FDA ขออนุมัติการใช้ยาดังกล่าวเป็นกรณีฉุกเฉินไปแล้ว และกำลังรอผลการพิจารณาอนุมัติซึ่งคาดว่าทาง FDA จะประกาศผลการพิจารณาออกมาในช่วงปลายเดือนพ.ย.นี้

ยาโมลนูพิราเวียร์ของบริษัทเมอร์ค

ปัจจุบัน ยาที่ใช้รักษาโควิด-19 ในสหรัฐที่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลทั้งหลายนั้น ทั้งหมดเป็นประเภทที่ต้องฉีดหรือให้ผ่านทางสายน้ำเกลือ ขณะที่ยาแบบเม็ดยังไม่มีการนำมาใช้งาน แต่เห็นได้ชัดว่า ยาเม็ดจะมีข้อดีในด้านการแจกจ่ายยาให้แก่ประชาชนได้สะดวกกว่า เนื่องจากสามารถรับยาจากร้านขายยาเพื่อนำไปกินรักษาตนเองที่บ้านได้

แม้แต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังกล่าวถึงยาเม็ดต้านโควิดของบริษัทไฟเซอร์ว่า เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะอยู่ใน “กล่องเครื่องมือ” สำหรับใช้ปกป้องประชาชนจากโรคร้ายอย่างโควิด-19

 

ข่าวยารักษาโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ ทำให้หุ้นของบริษัทพุ่งขึ้น 9% วานนี้ (5 พ.ย.) ไปอยู่ที่ระดับ 47.82 ดอลลาร์ ขณะที่ราคาหุ้นของเมอร์คปรับลดลง 9.3% มาอยู่ที่ 82.09%

 

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา (4 พ.ย.) หน่วยงานกำกับดูแลกิจการเกี่ยวกับยาของอังกฤษ เพิ่งอนุมัติใช้ยาต้านโควิด-19 “โมลนูพิราเวียร์” ของบริษัทเมอร์ค ขณะที่องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) เปิดเผยว่า จะเร่งการตรวจสอบพิจารณาคำขอของบริษัทเมอร์ค โดย EMA จะออกคำแนะนำให้กับประเทศสมาชิกทั้งหลายของอียู ให้ตัดสินใจอนุมัติการใช้ยาเม็ดของเมอร์คเป็นกรณีฉุกเฉินกันเอง โดยไม่ต้องรอผลการตัดสินของทาง EMA

 

เปิดผลการทดลองของไฟเซอร์ 

ผลการทดลองในระยะที่ 3 สำหรับยาแพ็กซ์โลวิด พบว่า ยาดังกล่าวสามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 89% โดยสูงกว่ายาโมลนูพิราเวียร์ของบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค ซึ่งมีประสิทธิภาพเพียง 50%


ประสิทธิภาพที่ออกมาสูง ทำให้ขณะนี้บริษัทได้ยุติการทดลองแล้ว ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิม ไฟเซอร์เปิดเผยว่า อาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองดังกล่าวมีจำนวน 1,219 คน โดยเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงถึงปานกลาง และมีความเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรงจากโรคโควิด-19 ซึ่งได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และการมีอายุมากกว่า 60 ปี


ผลการทดลองพบว่า หากผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับยาของไฟเซอร์ภายในเวลา 3 วันหลังมีอาการ จะมีจำนวนเพียง 0.8% ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และไม่มีผู้เสียชีวิตภายใน 28 วันหลังจากที่ได้รับยา ขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกจำนวน 7% ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 7 คน


นอกจากนี้ หากผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับยาของไฟเซอร์ภายในเวลา 5 วันหลังมีอาการ จะมีจำนวน 1% ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกจำนวน 6.7% ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 10 คน

 

นายซาจิด จาวิด รัฐมนตรีสาธารณสุขของอังกฤษ กล่าวชื่นชม "ผลการทดลองที่เหลือเชื่อ" สำหรับยาแพ็กซ์โลวิด โดยเขาระบุว่า หากได้รับการอนุมัติ ยาตัวนี้จะเป็นอาวุธสำคัญอีกอย่างหนึ่งของมนุษยชาติในการต่อสู้กับโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนและการรักษาด้วยยาตัวอื่น รวมถึงยาโมลนูพิราเวียร์ของบริษัทเมอร์ค ที่อังกฤษเป็นประเทศแรกของโลกที่ให้การอนุมัติใช้ในสัปดาห์นี้


นายจาวิดยังเปิดเผยด้วยว่า อังกฤษได้สั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จำนวน 480,000 คอร์สในเดือน ต.ค. ขณะเดียวกันได้สั่งซื้อยาแพ็กซ์โลวิดจำนวน 250,000 คอร์ส

 

ไฟเซอร์เจรจา 90 ประเทศเตรียมให้สูตรผลิต

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงการให้สัมภาษณ์ของนายอัลเบิร์ท เบอร์ลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไฟเซอร์ ว่า บริษัทกำลังเจรจากับ 90 ประเทศเกี่ยวกับการทำสัญญาให้บริษัทในประเทศเหล่านั้นผลิตยาแพ็กซ์โลวิด

 

ส่วนเรื่องของราคานั้น ซีอีโอของไฟเซอร์กล่าวเพียงว่า เขาคาดหมายว่าราคาของยาแพ็กซ์โลวิดคงจะใกล้เคียงกับยาต้านโควิดของบริษัทคู่แข่ง คือเมอร์ค ซึ่งก่อนหน้านี้ เมอร์คได้ทำสัญญาขายยาโมลนูพิราเวียร์ให้กับรัฐบาลสหรัฐในราคาคอร์สละ 700 ดอลลาร์ หรือกว่า 23,000 บาท ซึ่งยา 1 คอร์สใช้สำหรับการรักษา 5 วัน   

 

ไฟเซอร์คาดหมายจะสามารถผลิตยาเม็ดแพ็กซ์โลวิด 180,000 คอร์สภายในช่วงสิ้นปีนี้ (2564) และจะสามารถผลิตได้อย่างน้อย 50 ล้านคอร์สในช่วงสิ้นปีหน้า (2565) โดยคาดว่าจะผลิตได้ 21 ล้านคอร์สในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า

 

ขณะเดียวกัน องค์กรสิทธิบัตรยาร่วม (MPP) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยต่อสำนักข่าวรอยเตอร์วานนี้ (5 พ.ย.) ว่า บริษัทไฟเซอร์ กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาขั้นคืบหน้ากับ MPP เกี่ยวกับการมอบช่วงสิทธิบัตรการผลิตยาแพ็กซ์โลวิดให้แก่ประเทศต่างๆ เพื่อให้กลุ่มประเทศยากจนสามารถเข้าถึงยาดังกล่าว

 

ข้อมูลอ้างอิง