ระทึกอาฟเตอร์ช็อก ลุ้น “เอเวอร์แกรนด์" นัดชำระหนี้หุ้นกู้ 23 ก.ย.นี้

22 ก.ย. 2564 | 20:50 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ย. 2564 | 04:00 น.
991

นักลงทุนจับตาการชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ของบริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ในวันพฤหัสฯนี้ (23 ก.ย.) ซึ่งการผิดนัดชำระหนี้อาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก

ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป หรือ “เอเวอร์แกรนด์”  มีกำหนด ชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ 2 งวดในวันพรุ่งนี้ (23 ก.ย.) โดยมีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยวงเงิน 232 ล้านหยวน หรือราว 35.88 ล้านดอลลาร์สำหรับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนก.ย.2568 รวมทั้งจ่ายดอกเบี้ยอีกก้อนหนึ่งวงเงิน 83.5 ล้านดอลลาร์สำหรับหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมี.ค.2565

 

ในวันนี้ บริษัทเหิงต้า เรียล เอสเตท กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเอเวอร์แกรนด์ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้นว่า บริษัทสามารถบรรลุข้อตกลงกับเจ้าหนี้ในการเจรจาเกี่ยวกับแผนการชำระดอกเบี้ยวงเงิน 232 ล้านหยวน หรือราว 35.88 ล้านดอลลาร์สำหรับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนก.ย.2568 แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขการชำระดอกเบี้ยที่มีการเจรจากับเจ้าหนี้

 

นอกจากนี้ เอเวอร์แกรนด์ไม่ได้ระบุถึงการชำระดอกเบี้ยอีกก้อนหนึ่งวงเงิน 83.5 ล้านดอลลาร์ที่จะครบกำหนดในวันพรุ่งนี้เช่นกัน แต่เป็นดอกเบี้ยของหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมี.ค.2565

ระทึกอาฟเตอร์ช็อก ลุ้น “เอเวอร์แกรนด์\" นัดชำระหนี้หุ้นกู้ 23 ก.ย.นี้

ก่อนจะสิ้นเดือนกันยายนนี้ เอเวอร์แกรนด์ยังมีดอกเบี้ยที่รอการชำระอีกงวดในวันที่ 29 ก.ย.จำนวน 47.5 ล้านดอลลาร์สำหรับหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมี.ค.2567

 

ถ้าผิดนัดชำระหนี้จะเกิดอะไรขึ้น

นักวิเคราะห์เตือนว่า หากเอเวอร์แกรนด์ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ได้ตามกำหนด ก็จะทำให้เกิด “อาฟเตอร์ช็อก”ในตลาดหุ้น เนื่องจากจะส่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อนักลงทุน แม้ว่าโดยหลักการแล้ว บริษัทจะมีเวลาอีก 30 วันหลังวันครบกำหนดชำระเพื่อหาทางจ่ายหนี้ที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะถูกประกาศว่าบริษัทผิดนัดชำระหนี้

 

ก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า เอเวอร์แกรนด์ได้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยเงินกู้ต่อธนาคารเจ้าหนี้อย่างน้อย 2 แห่งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (20 ก.ย.) และบริษัทเองก็เคยออกมายอมรับว่า กำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่อง และอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด

 

ทั้งนี้ เอเวอร์แกรนด์มีตราสารหนี้เชิงพาณิชย์มูลค่ารวม 2.057 แสนล้านหยวน (3.2 หมื่นล้านดอลลาร์) หรือราว 1 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2563  นอกจากนี้ ยังมีหนี้สินมากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 10 ล้านล้านบาท เทียบเท่ากับ 2% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีน ซึ่งเกิดจากการกระหน่ำกู้เงินมาขยายธุรกิจและขึ้นโครงการต่าง ๆ ตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมาเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของจีน