สหรัฐทุ่มงบกว่า 9 หมื่นล้านพัฒนาซัพพลายเชนวัคซีนโควิดครบวงจร

03 ก.ย. 2564 | 08:36 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ย. 2564 | 16:00 น.

แหล่งข่าวระดับสูงจากทำเนียบขาวเผย สหรัฐมีแผนลงทุน 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 97,320 ล้านบาท) เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนต้านโควิดทั้งซัพพลายเชน ซึ่งจะเป็นการพัฒนาทั้งระบบแบบครบวงจรเพื่อให้สหรัฐเป็นผู้นำในตลาดวัคซีนโควิดโลก

นายเจฟฟรีย์ ไซเอนท์ ที่ปรึกษาทำเนียบขาวด้านสถานการณ์โควิด-19 เปิดเผยวานนี้ (2 ก.ย.) ว่า งบ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นี้ มุ่งลงทุนในบริษัทอเมริกันที่อยู่ใน ห่วงโซ่การผลิตวัคซีนต้านโควิด เพื่อให้บริษัทสามารถขยายกำลังการผลิตทุกองค์ประกอบที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตวัคซีน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่วัตถุดิบการผลิตวัคซีน ถุงปฏิกรณ์ชีวภาพ ท่อสายยาง เข็มฉีดยา กระบอกฉีดยา และชุดอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคส่วนบุคคล (ชุดพีพีอี) เป็นต้น การเบิกจ่ายงบจะเริ่มได้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

 

งบลงทุนดังกล่าวยังครอบคลุมถึงโรงงานผู้บรรจุและติดฉลาก (fill and package) ซึ่งเป็นอีกส่วนประกอบที่สำคัญของซัพพลายเชน อย่างไรก็ตาม ในขั้นนี้ทางทำเนียบขาวยังไม่ได้คัดเลือกจำเพาะเจาะจงว่ามีบริษัทอเมริกันรายใดบ้างที่จะได้รับความสนับสนุนจากงบลงทุนดังกล่าว

สหรัฐทุ่มงบกว่า 9 หมื่นล้านพัฒนาซัพพลายเชนวัคซีนโควิดครบวงจร

ทั้งนี้ สหรัฐยังคงมีความต้องการวัคซีนต้านโควิด-19 ในระดับสูงเนื่องจากรัฐเพิ่งเริ่มโครงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือวัคซีนเข็มที่สาม ให้กับประชาชน คาดว่าหลังจากได้รับไฟเขียวจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ FDA อย่างเป็นทางการแล้ว โครงการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิต้านทาน (booster shot) สำหรับประชาชนก็จะเดินหน้าได้เต็มที่ในช่วงปลายเดือนก.ย.นี้   

 

นอกจากนี้ แหล่งข่าวทำเนียบขาวยังเผยว่า สหรัฐมีแผนจะบริจาควัคซีนต้านโควิด-19 เพิ่มเติมอีกหลายร้อยล้านโดสให้กับประเทศอื่น ๆ ในช่วงไม่กี่เดือนที่เหลือของปีนี้

สหรัฐทุ่มงบกว่า 9 หมื่นล้านพัฒนาซัพพลายเชนวัคซีนโควิดครบวงจร

ด้านนายแพทย์แอนโทนี เฟาชี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ ในฐานะหัวหน้าที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า วัคซีนเข็มที่สาม หรือวัคซีนกระตุ้นภูมินี้ จะกลายมาเป็นเรื่องปกติพื้นฐาน เป็นมาตรฐานใหม่ในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งเดิมนั้นฉีดแค่เพียงสองเข็ม เนื่องจากไวรัสมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา และไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่อย่างสายพันธุ์เดลตา ก็มีบทบาทอย่างมากในการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในสหรัฐและหลายประเทศทั่วโลก ทำให้มีผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยในสหรัฐนั้น ค่าเฉลี่ยการติดเชื้อใหม่ในรอบ 7 วันสูงเกิน 150,000รายแล้ว ขณะที่ค่าเฉลี่ย 7 วันของเดือนมิ.ย.มีน้อยกว่า 10,000 ราย

 

ส่วนยอดตายจากโควิดในสหรัฐขณะนี้ เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยค่าเฉลี่ยรายวันในสัปดาห์นี้ ขยับขึ้นมาสูงกว่า 950 ราย เทียบกับสถิติ 900 รายของสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม นายแพทย์เฟาชียังไม่แสดงความกังวลมากนักเกี่ยวกับข่าวการตรวจพบไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่อย่าง “มิว” (Mu) หรือ B.1.621 ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ และนักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งเตือนว่า สายพันธุ์มิวที่มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง อาจดื้อวัคซีนหลายตัวที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยเขาเห็นว่า แม้อาจจะมีสายพันธุ์ใหม่ที่ดื้อวัคซีนอยู่บ้าง แต่โดยภาพรวมแล้ว วัคซีนที่โลกมีอยู่ก็มีประสิทธิภาพมากพอที่จะป้องกันผู้คนจากไวรัสโควิด-19 ได้