โตเกียวอ่วม ผู้ติดโควิดพุ่งกว่า 3 พัน/วัน เตียงรพ.รับได้แต่ผู้ป่วยหนัก

04 ส.ค. 2564 | 16:43 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2564 | 00:15 น.

สื่อนอกตีแผ่ “โอลิมปิก โตเกียว 2020” เงียบสนิท แต่โควิดกลับระบาดสนั่น โรงพยาบาลล้นจนต้องรับแต่ผู้ป่วยหนัก

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานวันนี้(4 ก.ค.) ถึง วิกฤตโรงพยาบาลในกรุงโตเกียว ที่แบกรับภาระหนักในการรองรับ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 3.3 พันรายต่อวัน ทำให้โรงพยาบาลจำเป็นต้องรับรักษาเฉพาะผู้ป่วยอาการหนักเท่านั้น

 

มหานครโตเกียวรายงานการตรวจพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 เพิ่มขึ้นถึง 3,709 ราย เมื่อวันอังคาร (3 ส.ค.) สร้างความวิตกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาขาดแคลนเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาล หลังจากที่นายโยชิฮิเดะ สุงะ นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาระบุแนวทางแก้ไขว่า ให้โรงพยาบาลรับรักษาผู้ป่วยอาการหนักเท่านั้น

นายโยชิฮิเดะ สุงะ นายกรัฐมนตรี

รายงานข่าวระบุว่า กรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ห้ามไม่ให้มีผู้เข้าชมในสนามการแข่งขัน เป้าหมายเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังเผชิญภาวะการแพร่ระบาดที่รุนแรงยิ่งขึ้น โดยในรอบ 7 วันที่ผ่านมา มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ เพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดที่เฉลี่ย 3,337.4 รายต่อวัน หรือพุ่งขึ้น 89.3% เมื่อเทียบกับช่วง 7 วันก่อนหน้า

 

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นตรวจพบผู้ป่วยใหม่รายวันสูงเกิน 3,000 ราย ติดต่อกัน 5 วันแล้ว ก่อนจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2,195 รายเมื่อวันจันทร์ (2 ส.ค.) ที่ผ่านมา

 

โตเกียวอยู่ภายใต้ภาวะสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งที่ 4 มาตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.2564 แม้การสัญจรทางเท้าในย่านตัวเมืองโตเกียวจะลดลงเล็กน้อย แต่ยอดผู้ป่วยโควิดรายใหม่ก็ยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ “เดลตา” (Delta) ที่แพร่กระจายได้ง่าย

 

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทุกคนควรเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ยกเว้นผู้ป่วยที่มีอาการไอเพียงเล็กน้อย แต่จากนั้นก็ปรับนโยบายใหม่ในวันจันทร์ (2 ส.ค.) โดยกำหนดว่าผู้ป่วยอาการหนักเท่านั้น จึงจะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้


โตเกียวอ่วม ผู้ติดโควิดพุ่งกว่า 3 พัน/วัน เตียงรพ.รับได้แต่ผู้ป่วยหนัก

ปัจจุบันผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการหายใจหรือปอดบวมอาจต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้าน แพทย์บางส่วนวิจารณ์ว่าการตัดสินใจของนายซูงะ นายกรัฐมนตรี ช่างไร้ความรับผิดชอบ เนื่องจากการเปลี่ยนนโยบายกะทันหันจะทำให้ยอดผู้ป่วยเสียชีวิตที่บ้านเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น ระบุว่ามีผู้ป่วยโรคโควิด-19 เสียชีวิตที่บ้านรวม 84 รายในระยะ 6 เดือนที่สิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน

 

นายโคจิ วาดะ ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยนานาชาติด้านสุขภาพและสวัสดิการแห่งประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่าผู้ป่วยจำนวนมากต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้านนับตั้งแต่ระบบการแพทย์ต้องแบกรับภาระหนักหน่วงจากยอดผู้ป่วยที่พุ่งสูง และควรดำเนินมาตรการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างเหมาะสมหากพวกเขาอาการทรุดหนัก

 

ขณะที่ นพ.โทโมะ คิมูระ แพทย์ที่ให้บริการตรวจรักษาถึงบ้านในเขตมหานครโตเกียว กล่าวว่าเป็นเรื่องยากที่คลินิกจะตรวจผู้ป่วยทางออนไลน์แบบเรียลไทม์ เนื่องจากขาดแคลนทั้งอุปกรณ์และกำลังคน “รัฐบาลมีเวลาเหลือเฟือที่จะดำเนินมาตรการรับมือ เช่น จัดเตรียมสถานที่รักษาตัวเพิ่ม แต่พวกเขาไม่ได้ทำ ผมคิดว่าผมจะช่วยอะไรได้บ้างในฐานะแพทย์ แต่การโยนภาระมาให้กะทันหัน ก็นับเป็นการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบ”