โครงสร้างราคาน้ำมัน กลไกสำคัญที่ต้องรู้

22 ก.ค. 2565 | 10:00 น.

ความขัดแย้งระหว่างประเทศ สงคราม ส่งผลให้ราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น สูงสุดในรอบ 8 ปี ราคาน้ำมันมีที่มาอย่างไร เพราะอะไรราคาน้ำมันแต่ละประเทศถึงต่างกัน ? มาทำความเข้าใจเจาะลึกโครงสร้างราคาน้ำมันของไทยไปพร้อมๆ กัน

วิกฤตการณ์พลังงานในขณะนี้ถือเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง ที่เห็นชัดที่สุดคือเรื่องของ “ราคาน้ำมัน” ในปี 2565 ที่ราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น ทำสถิติสูงสุดในรอบ 8 ปี สาเหตุหลักมาจากความขัดแย้งสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน จนนำไปสู่ EU ออกมาตรการการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ส่งผลกระทบราคาน้ำมันดิบ WTI, Brent Crude และน้ำมันดิบดูไบ ปรับตัวสูงขึ้น

 

สิ่งที่คนไทยต้องเผชิญในขณะนี้ก็คือความผันผวนของราคาน้ำมัน และแม้ว่าประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันในประเทศได้แต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ เพราะไทยผลิตน้ำมันดิบได้เพียง 10 - 20% จึงจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันดิบอีกกว่า 80 – 90% เพื่อนำมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปใช้ในประเทศ

“โครงสร้างราคาน้ำมัน” คือกลไกอีกอย่างที่เป็นตัวกำหนดราคาน้ำมันของแต่ละประเทศ ซึ่ง “โครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปไทย” ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ


ส่วนที่ 1 ต้นทุนเนื้อน้ำมันจากโรงกลั่น จะมีราคาขึ้นลงตามราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลก ประเทศไทยอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปตามตลาดสิงคโปร์ โดยจะเป็นการบวกค่าขนส่ง ค่าประกัน และค่าการสูญหาย รวมเรียกกันว่า “ราคา ณ โรงกลั่น”
ส่วนที่ 2 ภาษีน้ำมันและกองทุนน้ำมัน จากการกำหนดนโยบายของภาครัฐ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล ภาษีมูลค่าเพิ่ม กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 
ส่วนที่ 3  ค่าการตลาด ส่วนของปั๊มน้ำมันจะเก็บเพื่อเป็นค่าบริหารจัดการ เมื่อขายน้ำมันให้กับผู้บริโภคที่หน้าปั๊มน้ำมันต่างๆ ส่วนนี้ยังไม่ใช่กำไรสุทธิของปั๊มน้ำมัน เพราะยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายจากการขนส่ง ค่าปฏิบัติการคลัง ค่าที่ดิน ค่าจ้างพนักงาน ค่าสาธารณูปโภค และค่าใช้จ่ายอื่นๆ

ย้อนกลับหลายสิบปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันมีความผันผวน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โดยในช่วงการระบาดโควิด-19 ราคาน้ำมันร่วงลงไปถึง 70 เหรียญ/ บาร์เรล เพราะความต้องการใช้ลดลงถึง 30 % แต่ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการควบคุมโรคในแต่ละประเทศเริ่มผ่อนคลายลง ซึ่งรายงานประจำเดือนมกราคม 2565 ของ EIA คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก ปี 2565 มีประมาณ 100,520,000 บาร์เรลต่อวัน ผนวกกับปัจจัยหนุนสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันเกิดความผันผวน และปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปตามกลไกและสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ