ส.ว. ชี้เดินตามกติกาโหวตนายกฯ Popular vote ไม่ใช่เลือกผู้นำอัตโนมัติ

17 ก.ค. 2566 | 16:57 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2566 | 17:06 น.

“สังศิต พิริยะรังสรรค์” ส.ว. แสดงความเห็นการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ชี้เดินตามกติกา หลายประเทศประชาธิปไตย ออกแบบเลือกผู้นำไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะ Popular vote ไม่ใช่เลือกผู้นำโดยอัตโนมัติ

ความเคลื่อนไหวของ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หลังจากได้รับแรงกดดันจากหลายองค์กรเกี่ยวกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี อีกครั้ง ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 นั้น ภายหลังการโหวตเลือกนายกฯ รอบแรก วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล ผู้ถูกเสนอชื่อไม่ได้รับความเห็นชอบให้ก้าวขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 30 

โดยผลโหวต มี ส.ว. ลงมติเห็นชอบ 13 เสียง ไม่เห็นชอบ 34 เสียง งดออกเสียง 159 เสียง และไม่เข้าประชุม 43 คนนั้น 

ล่าสุด นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุถึงการออกแบบนายกรัฐมนตรีของไทย มีเนื้อหาดังนี้

 

ภาพประกอบข่าว การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

การออกแบบรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศเป็นหลักสำคัญที่สุดใน กระบวนการเลือกผู้นำฝ่ายบริหารที่มีความชอบธรรมของแต่ละประเทศ

ในประเทศสหรัฐอเมริกา การเลือกตั้งประธานาธิบดี และผู้มีสิทธิ์ที่จะได้เป็นประธานาธิบดีไม่ได้มาจากคะแนนนิยมเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่ลงคะแนนให้ (popular vote) แต่มาจากจำนวนคะแนนเสียง ของผู้แทนรัฐที่ลงคะแนนให้แก่ประธานาธิบดี (electoral vote) 

ในการเลือกตั้งหลายครั้งพบว่าผู้ที่ได้รับการเลือกเป็นประธานาธิบดีของ สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ที่ได้รับ electoral vote มากกว่า แต่กลับได้รับคะแนนนิยมจากประชาชน (popular vote) น้อยกว่าคู่แข่งขัน ที่ลงสมัครเป็นประธานาธิบดีเสียอีก

ตัวอย่างเช่นนายโดนัลด์ ทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีโดยชนะนางฮิลลารี คลินตัน จากการได้รับ electoral vote มากกว่า นางคลินตัน ถึงแม้เขาจะได้รับคะแนนนิยมในการเลือกตั้งต่ำกว่าก็ตาม

นี่เป็น กฎกติกาของระบบประชาธิปไตยที่ถูกออกแบบมาสำหรับการเลือกประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะประเทศที่เรียกระบอบการปกครองของตนเองว่า “ประชาธิปไตย” ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักร สาธารณรัฐฝรั่งเศส หรือ เยอรมัน ต่างมีการออกแบบในการเลือกผู้นำสูงสุดในการบริหารประเทศแตกต่างกันทั้งสิ้น 

 

ภาพประกอบข่าว การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ผู้สมัครรับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใดที่ได้คะแนนนิยมจากประชาชนมากที่สุดจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี 

ส่วนระบบของอังกฤษกับเยอรมันแตกต่างออกไป นายกรัฐมนตรีของอังกฤษและเยอรมันได้มาจากพรรคการเมือง ที่สามารถรวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภา และไม่จำเป็นเสมอไปว่าพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้ง ให้มี ส.ส. มากที่สุดในสภาจะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และบ่อยครั้งก็เกิดปรากฎการเช่นว่านี้

สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของประเทศไทย ไม่ได้กำหนดว่าผู้นำ ของพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนมากที่สุดในการเลือกตั้ง (popular vote) จะต้องได้รับการเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยอัตโนมัติ

“รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน” ของไทย กำหนดว่า นายกรัฐมนตรีจะได้มาจากการเลือกของ “ รัฐสภา” ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 ท่าน และวุฒิสมาชิกอีกจำนวน 250 ท่าน 

นี่เป็นภารกิจของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องไปบริหารจัดการกันเอง ในการรวบรวมพรรคการเมืองต่าง ๆ และเสียงจาก วุฒิสมาชิกให้ได้เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกของรัฐสภา พรรคการเมืองใดที่สามารถดำเนินการได้ก็จะได้เป็นรัฐบาล และพรรคการเมืองที่มารวมกันเป็นรัฐบาลนั้นสามารถเลือกผู้นำของพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากที่สุด หรือบุคคลใดก็ตามที่พรรคการเมืองเหล่านั้นเห็นร่วมกันให้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ 

ระบบการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยจึงเป็นเรื่องของ “การเมือง” ใน “ระบบรัฐสภา”  ซึ่งไม่ใช่การเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงจากประชาชน

ส่วนผู้ที่เห็นแย้งว่า “วุฒิสมาชิกไม่สมควรมีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี” นั้น นี่เป็นเรื่องของ “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็น “กฎ กติกา” ที่กำหนดเอาไว้ก่อนที่จะมีวุฒิสมาชิก และพรรคการเมืองต่าง ๆ

จึงเรียนมาเพื่อให้ท่านอาจารย์ทั้งหลายได้มาช่วยกันให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่สังคมด้วยครับ

สำหรับ การโหวตเลือกนายกฯ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นหนึ่งใน 159 ส.ว. ที่งดออกเสียง ให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี