"เรืองไกร"ร้อง ปธ.รัฐสภา สอบ"พิธา"เป็นบุคคลต้องห้าม เป็น รมต. หรือไม่

17 ก.ค. 2566 | 10:40 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2566 | 10:58 น.

"เรืองไกร" ร้อง ประธานรัฐสภา สอบ"พิธา"เป็นบุคคลตามรัฐธรรมนูญ ม.89 วรรคสอง ที่ระบุว่า การเสนอชื่อบุคคลใดที่มิได้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น" ส่งผลให้เป็นบุคคลต้องห้าม ที่จะเป็นรัฐมนตรีหรือไม่

 จากกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) เห็นว่า สมาชิกภาพของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) จึงให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.)เพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไปนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ  ระบุว่า  กรณีดังกล่าว ย่อมส่งผลถึง นายพิธา ในฐานะเป็นบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย ทั้งนี้ ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 89 วรรคหนึ่ง (2)"

นายเรืองไกร ระบุว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 89 วรรคสอง จึงบัญญัติบังคับไว้ว่า "การเสนอชื่อบุคคลใดที่มิได้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น ตนจึงต้องส่งหนังสือถึงประธานรัฐสภา เพื่อตรวจสอบตามหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
 

ข้อ1. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 กกต. ได้เผยแพร่ข่าวที่ 269/2566 หัวข้อ กกต. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง โดยมีความดังนี้

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้เสนอรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมีหลักฐานปรากฏว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดในวันสมัครรับเลือกตั้ง

อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 82 วรรคสี่ ให้ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา ในวันอังคารที่ 11 กรกฎาคม 2566

วันนี้ (12 กรกฎาคม 2566) คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาเรื่องดังกล่าวต่อจากการประชุมคราวที่แล้ว เห็นว่า สมาชิกภาพของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) จึงให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป”
 

ข้อ 2. กรณีที่ กกต. เห็นว่า สมาชิกภาพของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) นั้น ย่อมมีผลทำให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 160 (6) ตามมาด้วย ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 89 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติบังคับไว้แล้วว่า ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นบุคคลผู้ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160

ข้อ 3. รัฐธรรมนูญ มาตรา 89 วรรคสอง จึงบัญญัติบังคับตามมาว่า “การเสนอชื่อบุคคลใดที่มิได้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น”

ข้อ 4. โดยผลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 89 วรรคสอง จึงต้องถือว่า ไม่มีการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามความในมาตรา 88 วรรคหนึ่ง เพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ตามความในมาตรา 272

ข้อ 5. ดังนั้น การที่ประธานรัฐสภาออกระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวันพุธที่ 19 กรกฎาคม 2566 โดยมีเรื่องที่เสนอใหม่ คือ พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไปแล้วนั้น ในวันดังกล่าว ประธานรัฐสภา ย่อมไม่อาจปล่อยให้สมาชิกรัฐสภา เสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้อีกต่อไป

ข้อ 6. กรณี จึงเป็นหน้าที่และอำนาจของประธานรัฐสภาตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 วรรคสี่ ที่จะต้องตรวจสอบว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 89 วรรคหนึ่ง (2) หรือไม่ และตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 89 วรรคสอง ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ใช่หรือไม่