"ส.ว.มีไว้ทำไม" พุ่งทวิตเตอร์ กางกฎหมายหาคำตอบ ถอดถอน ส.ว.

17 พ.ค. 2566 | 06:45 น.
1.6 k

"ส.ว.มีไว้ทำไม" พุ่งติดเทรนด์ทวิตเตอร์ หลังส.ว.แสดงความเห็นเรื่องโหวตรับรอง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี กางกฎหมายหาคำตอบ ถอดถอน ส.ว. ได้หรือไม่ ส่องหน้าที่ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ

หลังนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้แถลงชัยชนะหลังทราบผลการเลือกตั้ง 2566 อย่างไม่เป็นทางการ และประกาศความพร้อมจัดตั้งรัฐบาล กับ 5 พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม รวม 310เสียง และเป็นนายกรัฐมนตรีของทุกคน 

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งรัฐบาลที่สำเร็จนั้น จะต้องใช้เสียงรับรองผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 376 เสียงของรัฐสภา คือทั้งจากสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) และวุฒิสภา(ส.ว.) ซึ่งถูกบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 ที่ใน 5 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญ จะมี ส.ว. จำนวน 250 คน และต้องร่วมโหวตรับรองนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส. ด้วย

หลังจากส.ว. เริ่มทยอยแสดงความคิดเห็น ต่อการโหวตรับรองนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็กลายเป็นกระแสร้อนในโซเชียลมีเดีย จนแฮชแทก "ส.ว.มีไว้ทำไม" ติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่ง ของประเทศไทย พร้อมเกิดคำถามถอดถอนส.ว. ได้หรือไม่

ส.ว.

กางกฎหมาย ส.ว. มีไว้ทำไม

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ในบทบัญญัติหลัก ส.ว. มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

  • พิจารณาและการกลั่นกรองกฎหมาย ได้แก่ การกลั่นกรองร่างพระราชบัญญัติ ,การอนุมัติพระราชกำหนด ,การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
  • ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยสามารถการตั้งกระทู้ถาม ,เปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา และ เปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภา
  • การตั้งกรรมาธิการ
  • ให้คำแนะนำ หรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่ง ได้แก่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ,คณะกรรมการการเลือกตั้ง ,ผู้ตรวจการแผ่นดิน ,คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาต ,คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ,คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ส.ว.พ้นจากการเป็น ด้วยเหตุใดบ้าง

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 111 บัญญัติว่า สมาชิกภาพของส.ว.สิ้นสุดลง เมื่อ

  • ถึงคราวออกตามอายุของวุฒิสภา
  • ตาย
  • ลาออก
  • ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 108
  • ขาดประชุมเกินจํานวน 1ใน 4ของจํานวนวันประชุมในสมัยประชุมที่มีกําหนดเวลาไม่น้อยกว่า 120วัน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานวุฒิสภา
  • ต้องคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทําโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
  • กระทําการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 113 หรือกระทําการอันต้องห้ามตามมาตรา 184 ,185
  • พ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144 หรือมาตรา 235 วรรคสาม

ลักษณะต้องห้าม ของส.ว.

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ส.ว.จะต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพ หากมีลักษณะต้องห้ามดังนี้

  • เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 98
  • เป็นข้าราชการ
  • พ้นจากการเป็นส.ส. มายังไม่เกิน 5ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก
  • เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
  • พ้นจากการดํารงตําแหน่งในพรรคการเมือง มายังไม่เกิน 5ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก
  • พ้นจากการดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี มายังไม่เกิน 5ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก
  • พ้นจากการดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น มายังไม่เกิน 5ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก
  • เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดํารงตําแหน่ง ส.ส. ,ส.ว. , ข้าราชการการเมือง ,สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ,ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาในคราวเดียวกัน หรือผู้ดํารงตําแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญ หรือในองค์กรอิสระ
  • เคยดํารงตําแหน่งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้

ลักษณะต้องห้าม ใช้สิทธิสมัครรับเลือก ส.ว.

ผู้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 98 ย่อมไม่สามารถสมัครรับเลือก ส.ว.ด้วย คือบุคคลที่มีลักษณะดังนี้

  • ติดยาเสพติดให้โทษ
  • เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
  • เป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ
  • เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 96 
  • อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
  • ต้องคําพิพากษาให้จําคุก และถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
  • เคยได้รับโทษจําคุก โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
  • เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทําการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
  • เคยต้องคําพิพากษา หรือคําสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจําคุกเพราะกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
  • เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่า กระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทําโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิด ฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสํานัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
  • เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
  • เป็นข้าราชการซึ่งมีตําแหน่ง หรือเงินเดือนประจํานอกจากข้าราชการการเมือง
  • เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  • เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกิน 2ปี
  • เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือ เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
  • เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ
  • อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง
  • เคยพ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144 หรือมาตรา 235 วรรคสาม

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีบทบัญญัติใด ที่ให้ประชาชนเข้าชื่อถอดถอนส.ว.ได้ จะมีเพียง 3 มาตราเท่านั้น ที่ให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อกันได้ ได้แก่

  •  มาตรา 138 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน สามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ตามหมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ
  • มาตรา 236 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน สามารถเข้าชื่อกล่าวหา ป.ป.ช. หาก ป.ป.ช. ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจที่มีตามรัฐธรรมนูญ
  • มาตรา 256 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน สามารถเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาได้