เลือกตั้ง 2566 : กรณีศึกษาตระกูลมาร์กอส แลนด์สไลด์ กลับสู่อำนาจ ฟิลิปปินส์

10 พ.ค. 2566 | 07:51 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ค. 2566 | 09:49 น.

มองชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2565 ของฟิลิปปินส์ที่ทำให้ ตระกูลมาร์กอสกลับคืนสู่อำนาจ หลังพลังคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ พร้อมมองข้ามอดีต อยากเห็น ปัจจุบัน และอนาคต ที่มั่นคง

 

ย้อนไปราว 1 ปี หรือเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ผลการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศฟิลิปปินส์ ตอกย้ำชัยชนะของนายเฟอร์ดินานด์ "บองบอง"มาร์กอส จูเนียร์ จากพรรค PFP (Federal Party of the Philippines) ซึ่งเป็น ชัยชนะแบบ "แลนด์สไลด์" เขากวาดคะแนนโหวตไปมากกว่า 31 ล้านเสียง มากกว่าคู่แข่งอันดับรองลงมาถึงเท่าตัว ทำให้ การกลับคืนสู่อำนาจ ของคนตระกูลมาร์กอสที่เคยได้ชื่อว่าเป็น ตระกูลเผด็จการ และ ทุจริตคอร์รัปชัน กลายเป็นการกลับมาอย่างไร้ข้อครหาด้วย พลังโหวตของประชาชน

"มาร์กอส จูเนียร์" ได้สาบานตนรับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 17 ของฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2565 มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี (พ.ศ.2565-2571) สมกับที่รอคอยมานาน

ภาพการขึ้นสู่อำนาจของมาร์กอส จูเนียร์ ในปีที่ผ่านมา แทบเป็นสิ่งที่ชาวฟิลิปปินส์นึกภาพไม่ออกหากเป็นเมื่อ 36 ปีก่อน เมื่อครั้งที่มวลมหาประชาชนทั้งประเทศลุกฮือขึ้นประท้วงเพื่อโค่นอำนาจของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (ผู้เป็นพ่อ) จากปมทุจริตคอร์รัปชันและการใช้อำนาจเผด็จการนำความรุนแรงมากำจัดฝ่ายตรงข้าม

การประท้วงครั้งนั้นทำให้สมาชิกตระกูลมาร์กอสต้องหล่นจากบัลลังก์อำนาจและระเห็จไปลี้ภัยการเมืองถึงฮาวาย ถือเป็นการสิ้นสุดยุคเผด็จการอันยาวนานกว่า 20 ปี มาร์กอสผู้พ่อไม่มีโอกาสได้กลับฟิลิปปินส์ขณะมีชีวิต เพราะเขาถึงแก่อสัญกรรมที่ฮาวายในปี 2532 ขณะกำลังถูกทางการฟิลิปปินส์ ยื่นเรื่องขออายัดทรัพย์สิน และดำเนินคดีในข้อหาใช้อิทธิพลกระทำการคอร์รัปชันในระหว่างดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ตระกูลมาร์กอส กลับคืนสู่อำนาจด้วยพลังโหวตของประชาชนในการเลือกตั้งเมื่อปี 2565

ตัดภาพอย่างไวๆ มาในวันนี้ นามสกุล “มาร์กอส” กลับมาเป็นที่พูดถึงของชาวฟิลิปปินส์อีกครั้ง เมื่อเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ หรือ “บองบอง” วัย 64 ปี บุตรชายเพียงคนเดียวของอดีตผู้นำเผด็จการซึ่งวายชนม์ไปแล้ว สามารถนำพาตระกูลมาร์กอสกลับคืนสู่ “จุดสูงสุด” ของอำนาจในฟิลิปปินส์ได้สำเร็จอีกครั้งผ่านการลงคะแนนเลือกตั้งของประชาชน

แม้ว่าการกลับมาครั้งนี้ ไม่ใช่การ “ฟอกมลทิน” อย่างหมดจด ให้สิ่งที่มาร์กอสผู้พ่อเคยกระทำไว้ แต่คะแนนที่ได้อย่างท่วมท้นหรือถล่มทลายแบบ “แลนด์สไลด์” นำห่างคู่แข่งกว่าสองเท่าของมาร์กอส จูเนียร์ เป็นสิ่งบ่งบอกชัดเจนว่า ประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งพร้อมแล้วที่จะ “ลืมอดีต” และ “ให้โอกาส” คนของตระกูลมาร์กอส ได้กลับมาบริหารปกครองประเทศอีกครั้ง

มาร์กอส จูเนียร์ ทำได้อย่างไร ทำไมประชาชนให้โอกาส

นายมาร์กอส จูเนียร์ เป็นบุตรชายคนกลางของอดีตปธน.เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส และนางอิเมลดา มาร์กอส เขาถูกวางตัวให้เป็น “ผู้สืบทอด” อำนาจทางการเมืองของครอบครัว โดยในปี 2560 เขาเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า พ่อผลักดันให้เขาลงสู่สนามการเมืองขณะอายุเพียง 20 ปีเศษ

ก่อนที่ผู้เป็นพ่อจะถูกโค่นอำนาจลงในปี 2529 ด้วยพลังปฏิวัติของประชาชน มาร์กอส จูเนียร์ หรือ “บองบอง” ประสบความสำเร็จในการเมืองระดับท้องถิ่น ได้ขึ้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอีโลโคสนอร์เต (Ilocos Norte) ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตระกูลอยู่ก่อนแล้ว

หลังจากที่ครอบครัวลี้ภัยไปอยู่ฮาวาย “บองบอง” เดินทางกลับมายังฟิลิปปินส์ในปี 2534 หลังจากที่ผู้เป็นพ่อเสียชีวิตขณะลี้ภัย เขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในจังหวัดอีโลโคสนอร์เต และได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอีโลโคสนอร์เตอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นการกลับมาปูอำนาจแบบน้ำซึมบ่อทรายอย่างต่อเนื่อง เพราะที่นี่เป็นฐานเสียงที่แข็งแกร่งที่สุดของตระกูล

เมื่อผู้คนมอง "ปัจจุบัน" และ "อนาคต" มากกว่าอดีต

นักวิจารณ์มองว่า ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปีที่ผ่านมา (2565) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความพยายามแก้ไขภาพจำในยุคที่อดีตปธน.เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ปกครองฟิลิปปินส์ ให้ดูเหมือนว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ โดยมีการปกปิดข้อมูลการทุจริตขนานใหญ่และความยากจนที่เกิดขึ้นในวงกว้างในช่วงเวลานั้น (มีตัวเลขคาดการณ์ว่า ทรัพย์สินที่อดีตปธน.เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส และนางอิเมลดา มาร์กอส ภริยา ฉ้อโกงไปนั้นมีมูลค่าราว 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะตามยึดคืนกลับมาได้บางส่วนในภายหลัง)

หรือแม้กระทั่งช่วงที่มาร์กอสผู้พ่อประกาศใช้กฎอัยการศึกปราบปรามฝ่ายตรงข้ามอย่างเข้มข้นก่อนเกิดการปฏิวัติประชาชน ยังถูกสร้างความเชื่อใหม่ว่า ยุคนั้นทำให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย แม้ออกจากบ้านก็ยังไม่ต้องล็อกประตู เพราะมีความปลอดภัยสูง เป็นต้น ซึ่งกลยุทธ์นี้มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย เพราะส่วนหนึ่งมองว่าการพยายามฟอกดำให้เป็นขาว เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง แต่ในความเป็นจริงก็คือ คนส่วนหนึ่งโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ พยายามที่จะไม่สนอดีตหรือเรื่องราวที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมด้วย แต่อยากโฟกัสกับนโยบายของพรรคการเมืองในปัจจุบันที่มุ่งไปสู่อนาคตมากกว่า

นอกจากนี้  “บองบอง” หรือนายมาร์กอส จูเนียร์ ยังใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียต่างๆ ในการแก้ต่างเรื่องอื้อฉาวในอดีตรวมทั้งการสร้างภาพจำใหม่ๆ เกี่ยวกับตระกูลมาร์กอสดังที่กล่าวมาข้างต้น ผ่านการเตรียมการมาอย่างยาวนานนับ 10 ปี มีการอัปโหลดวิดีโอหลายร้อยคลิปก่อนจะนำมาโพสต์ซ้ำตามเพจเฟซบุ๊กต่าง ๆ แม้จะมีข้อครหาเกี่ยวกับการบิดเบือนหรือปกปิดข้อมูลที่แท้จริง แต่เขาก็ปฏิเสธความเกี่ยวข้องโดยตรงกับสื่อเหล่านี้

พรรคเพื่อไทยขอคว้าชัยชนะถล่มทลายแบบ “แลนด์สไลด์” ในศึกเลือกตั้ง 14 พ.ค.นี้

การหาเสียงของเขาเน้นการสร้างความปรองดอง และฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นสำคัญ พร้อมทั้งจับประเด็นที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ เช่น พลังงานหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว สื่อสารผ่านสื่อโซเชียลมีเดียยุคใหม่ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ติ๊กต็อก คลิปไวรัลเกื้อหนุนการหาเสียง ที่สำคัญคือ มาร์กอส จูเนียร์ พยายามขยายฐานอำนาจเดิม จับมือกลุ่มพันธมิตร ผูกมิตรกับการเมืองท้องถิ่นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย รวมทั้งกลุ่มของปธน.ดูแตร์เต(ซึ่งเป็นคู่แข่งกันในการเลือกตั้ง) ที่เขายอมจับมือให้บุตรสาวของดูแตร์เตมารับตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดีของเขาด้วย

นักวิเคราะห์กล่าวว่า กลยุทธ์ของมาร์กอส จูเนียร์ ซึ่งปัจจุบันคือประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์คนปัจจุบันนั้น สอดคล้องกับคติความคิดความเชื่อของคนยุคใหม่ที่มีความคิดเป็นของตนเอง ไม่ชอบให้ใครมาชี้นิ้วบอกหรือสั่งให้ต้องทำอะไร นอกจากนี้พวกเขายังไม่ชอบการสาดโคลนให้ใครเป็นคนเลว แล้วโจมตีกันด้วยเรื่องที่เป็นอดีต พวกเขาต้องการผู้นำที่อยู่กับปัจจุบันและนำประเทศชาติไปสู่อนาคตที่พวกเขาเชื่อว่าจะมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและมีความมั่นคงมากขึ้นมากกว่า ซึ่งนโยบายและท่าทีของมาร์กอส จูเนียร์ ตอบโจทย์พวกเขาได้เป็นอย่างดี

ย้อนกลับมองการเลือกตั้งไทย แลนด์สไลด์จะเกิดขึ้นหรือไม่

บรรยากาศเช่นนี้ เชื่อมโยงกับการเมืองไทยที่กำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งสำคัญในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.นี้ ได้เป็นอย่างดี ความพยายามกลับคืนสู่อำนาจของตระกูลชินวัตรที่มีมลทินมัวหมองด้วยข้อกล่าวหาและคดีทุจริตคอร์รัปชันจะสามารถทำให้พรรคเพื่อไทยคว้าชัยชนะถล่มทลายแบบ “แลนด์สไลด์” อย่างที่กล่าวถึงกันมาโดยตลอด ได้หรือไม่นั้น น่าจะเห็นเค้าลาง “ความเป็นไปได้” จากคะแนนนิยมของพรรค รวมทั้งผลสำรวจความนิยมในตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ทายาทคนสุดท้องของ “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้ที่ยังลี้ภัยในต่างแดนด้วยคดีอาญาทางการเมือง) ที่สะท้อนให้เห็นฐานเสียงที่ยังคงมั่นคงเหนียวแน่น 

และยังไม่รวม “ความเป็นไปได้” จากพลังของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ที่พร้อมจะ “มองข้ามอดีต”ที่พวกเขาไม่เคยสัมผัสเกี่ยวข้องด้วยตัวเอง แต่อยากเห็น “ปัจจุบัน” และ “อนาคต” ที่มั่นคงมากขึ้น มีเสรีภาพมากขึ้น และเศรษฐกิจดีขึ้น เป็นตัวชี้วัดบุคคลและพรรคการเมืองที่พวกเขาอยากลงคะแนนเลือกตั้งให้มากกว่า