“เขตพัฒนาพิเศษชายแดนภาคใต้” นโยบายใหม่แก้ยากจนพลังประชารัฐ

03 พ.ค. 2566 | 07:21 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ค. 2566 | 09:25 น.

สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.คณิศ แสงสุพรรณ” หลังเปิดตัวเข้าร่วมเป็นทีมนโยบายพรรคพลังประชารัฐ ดันนโยบายใหม่ “เขตพัฒนาพิเศษชายแดนภาคใต้” แก้ปัญหาความยากจนคนใต้

“ชาวบ้านในหลายจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีฐานะที่ยากจนมาก พี่ป้อมจึงขอให้มาช่วยทำนโยบายช่วยให้คนพ้นจากความยากจน และมีโอกาส โดยใช้โมเดลของ EEC มาปรับใช้ในพื้นที่ เลยตัดสินใจเข้ามาทำงานเพื่อประเทศอีกครั้ง”

หนึ่งในใจความสำคัญของ “ดร.คณิศ แสงสุพรรณ” เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจ ในโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ภายหลังเปิดตัวเข้าร่วมเป็นทีมนโยบายพรรคพลังประชารัฐ เพื่อกลั่นนโยบายหาเสียงเลือกตั้งโค้งสุดท้ายเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ชายแดนภาคใต้

ดร.คณิศ ยอมรับว่า ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสครั้งสำคัญของประเทศไทยกับการแก้ไขปัญหาด้านปากท้องพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด คือ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา และสตูล ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่า ประชาชนในชายแดนใต้ ประสบปัญหาความยากจนจำนวนมาก และยังขาดโอกาส ขาดรายได้ จนทำให้เกิดปัญหาตามมานั่นคือเรื่องของความมั่นคง

 

“ดร.คณิศ แสงสุพรรณ” ทีมนโยบายพรรคพลังประชารัฐ

เหตุผลของการตัดสินใจสู่สนามการเมือง

ที่ผ่านมาได้ทำงานให้กับประเทศมาหลายอย่าง โดยเฉพาะงานล่าสุดคือการผลักดันโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งตอนนี้วางรากฐานสำคัญเอาไว้เกือบครบทั้งหมดแล้ว เช่น ด้านงานโครงสร้างพื้นฐาน และการดึงดูดอุตสาหกรรมไฮเทคลงมาในพื้นที่ ซึ่งงานที่ทำเอาไว้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ผ่านการผลักดันให้เป็น “เขตพัฒนาพิเศษชายแดนภาคใต้” เป็นเมกกะโปรเจกต์ใหม่ที่ประเทศไทยต้องเร่งทำ

แต่ก่อนที่จะร่างนโยบายพื้นที่พิเศษใหม่นี้ขึ้นมา เคยคุยกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พปชร. ซึ่งขอให้เข้ามาช่วยทำนโยบายด้านนี้ให้กับพรรค เพราะไม่นานมานี้ พล.อ.ประวิตร ได้หารือนายอันวาร์ อิมราฮิม นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียในระหว่างที่นายอันวาร์เดินทางมายังกรุงเทพฯ 

โดยทั้งสองฝ่ายต่างมีความเห็นร่วมกันในการพัฒนาพื้นที่เชื่อต่อระหว่างไทย-มาเลเซีย คือชายแดนภาคใต้ของไทย กับชายแดนภาคเหนือของมาเลเซีย ที่ประสบปัญหาด้านความยากจน และความมั่นคงในพื้นที่ โดยทั้งสองฝ่าย เห็นว่าควรนำเศรษฐกิจเข้ามาเป็นกลไกแก้ปัญหาในพื้นที่ เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ที่มั่นคง

โดยพล.อ.ประวิตร ให้โจทย์ว่า จะสามารถนำเศรษฐกิจเข้าไปพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ได้อย่างไรบ้าง จึงนำมาสู่การตั้งคณะทำงานร่วม เพื่อศึกษาแนวทางและวิธีการพัฒนาพื้นที่ให้มีลักษณะเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคใต้ ซึ่งจะใช้กลไกเดียวกับการขับเคลื่อนโครงการ EEC ซึ่งกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน ก่อนจะรับเป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ

“ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลให้ตัดสินใจเข้าสู่พรรคพลังประชารัฐ เพราะต้องการอาศัยความเป็นผู้นำของพล.อ.ประวิตรที่จะก้าวข้ามความขัดแย้ง ช่วยก้าวความขัดแย้งทั้งเรื่องการระหว่างประเทศ สร้างความปรองดอง และความเข้าใจระหว่างหน่วยงานต่างๆ และประชาชนในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนโครงการนี้ให้สำเร็จ และถ้าไม่ทำตอนนี้อาจจะไม่มีโอกาสทำเลยก็ได้ โดยเฉพาะในช่วงที่มาเลเซียพร้อมผลักดันความร่วมมือในครั้งนี้”

 

“ดร.คณิศ แสงสุพรรณ” ทีมนโยบายพรรคพลังประชารัฐ

 

ใช้โมเดล EEC เป็นต้นแบบ

ดร.คณิศ อธิบายว่า นโยบาย “เขตพัฒนาพิเศษชายแดนภาคใต้” จะมีลักษณะคล้ายกับ EEC แต่จะไม่เหมือนกันทั้งหมด โดยเน้นการสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ มีอุตสาหกรรมบางอย่างที่เหมาะสม เพื่อกระตุ้นการจ้างงาน ทั้งเกษตร ท่องเที่ยว และบริการ รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นที่ที่จำเป็นในพื้นที่

เบื้องต้นอาจต้องจัดตั้งสำนักงานขึ้นมาในลักษณะเดียวกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) แต่จะเป็นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษชายแดนภาคใต้ มีกฎหมายเฉพาะ ซึ่งสามารถนำกฎหมายของ EEC คือ พระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มาประยุกต์ใช้ได้ เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

กาง 6 โครงการหลักต้องเร่งทำ

สำหรับโครงการ “เขตพัฒนาพิเศษชายแดนภาคใต้” มุ่งหวังให้เป็นความร่วมมือของทั้งสองประเทศ จะมีการจัดทำแผนเพื่อเชื่อมโยงเขตพิเศษทางเศรษฐกิจเข้าไว้ด้วยกัน ในฝั่งไทย โครงการดังกล่าว จะเชื่อมต่อ 5 จังหวัด โดยมีอย่างน้อย 6 โครงการเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ ดังนี้

  1. ยกระดับรายได้เกษตรกร ด้วยการแปรรูปพืชเกษตรให้มีคุณภาพ อาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่มุ่งสู่ตลาดโลก 
  2. พัฒนาการท่องเที่ยว ทั้งฝั่งอ่าวไทย ฝั่งอันดามัน ผ่านโครงข่ายเรือและเครื่องบินท่องเที่ยว เพื่อนำรายได้สู่พื้นที่ 
  3. มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลัก เช่น Motorway และ Landbridge 
  4. สนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตลอดข้างทางของ Motoeway เช่น ศูนย์กลางอาหารระดับนานาชาติ อิเล็กทรอนิกส์ พลังงาน ยา และโลจิสติกส์ 
  5. ขยายความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างสองประเทศ 
  6. ใช้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นธนาคารหลักของเขตพัฒนาพิเศษชายแดนภาคใต้ 

 

“ดร.คณิศ แสงสุพรรณ” ทีมนโยบายพรรคพลังประชารัฐ

 

ดร.คณิศ ทิ้งท้ายว่า ในฐานะของคนที่เคยทำโครงการใหญ่ของรัฐบาลอย่างโครงการ EEC มาก่อน เชื่อมั่นว่า โครงการเขตพัฒนาพิเศษชายแดนภาคใต้ จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของชายแดนภาคใต้ รวมทั้งจังหวัดภาคใต้ของไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้คนในพื้นที่มีโอกาสไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน และเป็นอนาคตให้ลูกหลานชาวใต้เติบโตในพื้นที่ มีงาน มีรายได้สูง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โดยนโยบายทั้งหมดนี้ จะได้ผลักดันให้เกิดขึ้นทันที หากพรรคพลังประชารัฐ เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรี ชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ