โค้งท้ายเลือกตั้งเมืองตรัง ดูชัดๆเขตไหน ใครเข้าวิน!

29 เม.ย. 2566 | 14:48 น.
อัปเดตล่าสุด :29 เม.ย. 2566 | 15:07 น.
2.0 k

ก่อนเข้าโค้งสุดท้าย เจาะสนามเลือกตั้งเมืองตรัง “ปชป.”เจ้าถิ่น ยังหวัง 2 เขต ส่วน“ภท.”ชิงปักธงชัย 2 เขต ด้าน“พปชร.”เขต1แผ่ว เขต 2 แรงรอแซงโค้งสุดท้าย ขณะที่“รทสช.”เขต1มีแรงหนุนจากพลังเทอร์โบ และเพื่อไทยบุกใน 2 เขต หลังเลือกตั้งจะมีพวก ”ขี้แพ้ชวนตี”หรือไม่


 ใกล้ถึงวันเลือกตั้ง 14 พ.ค.นี้ ผู้สมัคร ส.ส.จากหลายพรรคการเมือง ขยันลงพื้นที่วางกลยุทธในการจะเอาชัยชนะ ทั้งการจัดทำป้ายสื่อโฆษณาปิดทั่วเขตเลือกตั้ง การเดินหาเสียงไป รถแห่กระจายเสียงไปตามที่สาธารณะ งานศพ งานบวช หลากหลายที่จะพบชาวบ้าน

สิ่งหนึ่งที่ผู้สมัคร ส.ส.และพรรคการเมืองทำกันคือ การจัดตั้ง”หัวคะแนน” มีการแย่งชิงหัวคะแนนระหว่างผู้สมัคร จนมีกระแสข่าวออกมา ผู้สมัครอีกพรรคใช้อิทธิพลไปคุกคามให้หัวคะแนนมาอยู่ฝ่ายตนเอง ผู้สมัคร ส.ส.ที่ถูกแย่งหัวคะแนนถึงกับโวยออกมาดัง ๆ ผ่านสื่อท้องถิ่น   หลังเลือกตั้งอาจจะมีกลุ่มคนที่มีพฤติกรรม พวก“ขี้แพ้ชวนตี”ออกมาเคลื่อนไหวอย่างแน่นอน

หมอรักษ์ บุญเจริญ พรรคภูมิใจไทย  (ขวามือ)

  • เขตเมืองคะแนนสีสู 3 พรรค

เริ่มที่ เขต 1 (อ.เมืองตรัง) เป็นเขตที่ผู้สมัคร ส.ส.มีการแข่งขันกันสูงมาก มันทุกเม็ด มันหยดติ่ง ๆ หมอรักษ์ บุญเจริญ พรรคภูมิใจไทย กระแสตอบรับดีวันดีคืน ด้วยศักยภาพของตัวเองและทีมงานที่ทำงานควบคู่กับชาวบ้านอย่างแท้จริง รวมทั้งอดีตคนไข้ในโรงพยาบาลและคลินิกของหมอรักษ์  พร้อมใจออกมาช่วยแบบปากต่อปาก หมอรักษ์เดินหาเสียงตามงานต่าง ๆ ไปคนเดียวหรือ 2 คนไม่ต้องขนคนไปมากเหมือนกับไปเชียร์ฟุตบอลหรือวัวชน  โดยมีคนไข้ในพื้นที่พาเดินหาเสียง 

ขณะที่พลังประชารัฐ ส่ง นายกิตติพงศ์ ผลประยูร อดีตข้าราชการกรมที่ดินลงสมัคร เปิดตัวออกมากระแสดี เพราะยังไม่มีใครเปิดตัวขึ้นมาแข่งขัน อีกทั้งมีนายนิพันธ์ ศิริธร อดีตส.ส.เขต 1 พลังประชารัฐ หาเสียงและวางแผนให้ท่าทางจะไปได้ดี แต่มาถึงนาทีนี้กระแสความนิยมแผ่วลงไปมาก 

ส่วนนพ.ตุลกานต์  มักคุ้น หมอจากโรงพยาบาลตรัง ลูกรักประชาธิปัตย์ สาย “ชวน หลีกภัย “และ กิจ หลีกภัย แทนที่จะหาเสียงราบรื่น กลับสะดุด ไม่ลงตัวหลายๆ อย่างเพราะเกิดความขัดแย้งกับ นายสมชาย โล่สถาพรพิพิธ  หรือ โกหนอ อดีตส.ส.หลายสมัย ผู้ยิ่งใหญ่ จนอดีตส.ส.ประกาศยุติบทบาทไม่หาเสียงให้

 แต่ไม่จบแค่นั้น โกหนอประกาศจะไปสนับสนุน นายถนอมพงศ์  หลีกภัย (ญาตินายชวน หลีกภัย)ผู้สมัคร ส.ส.รวมไทยสร้างชาติแทน ยิ่งเพิ่มอุณหภูมิให้สูงเดือดผุด ๆ ขึ้นไปอีก ดังนั้นหมอตุลกานต์ คราวนี้บุญแต่มีกรรมบัง

นายทวี  สุระบาล พรรคพลังประชารัฐ

ขณะที่นายถนอมพงศ์  หลีกภัย รวมไทยสร้างชาติ ไม่ได้ตั้งใจลงสมัคร ส.ส.เพียงแต่พรรค รทสช.ต้องการผู้สมัครที่ดูดีสักหน่อย แทนนักการเมืองท้องถิ่นหนวดงามคนหนึ่ง ลำพังบารมี ถนอมพงศ์ ยังไม่แรงพอที่จะสมัคร ส.ส.แต่ด้วยพลังขับเคลื่อนจากกำนันคนดัง ส่งเข้าประกวด บรรดาหัวคะแนนสายกีฬา ชนวัว ชนไก่ ตบเท้าเข้าแถวรายงานตัวกันไม่ขาดสาย สะเทือนไปยังผู้สมัคร ส.ส.บางพรรคบางคนถึงกับร้องเมื่อหัวคะแนนแปรพักตร์ไปซบกำนันคนดัง นายหัวใหญ่รวมไทยสร้างชาติตรัง

ส่วนพรรคเพื่อไทย ทพญ.สรวีย์  ภัทรอิสริยาไชย หรือ หมอน้ำหวาน ผู้สมัคร ส.ส.เกิดที่ตรัง แต่ไม่ได้ทำงานที่ตรังมาลงสมัคร ส.ส.ก็มาสร้างสีสันหาคะแนนเสียงได้บ้างอีกพรรคการเมืองหนึ่ง

เขตนี้กลัวนักการเมืองประเภท”ขี้แพ้ชวนตี”เกิดหลังเสร็จศึกเลือกตั้ง ชาวบ้านถึงกับเอ่ยปาก “พฤติกรรมแบบนี้อย่ามาเล่นการเมืองระดับชาติ” 

ต้องจับตา หมอรักษ์ ภูมิใจไทย , ถนอมพงศ์ หลีกภัย รวมไทยสร้างชาติ และ กิตติพงศ์ ผลประยูร พลังประชารัฐ คะแนนสีสูกันมาก
  นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย พรรคประชาธิปัตย์

  • “สาทิตย์”ยังเป็นต่อ”โกวี”

เขต 2.(อ.ห้วยยอด อ.รัษฎา อ.วังวิเศษ)   สมศักดิ์ศรีส.ส.หลายสมัยต่างฝ่ายต่างเคยเป็นอดีตส.ส.ประชาธิปัตย์มาด้วยกัน เขตนี้ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย  หรือโกต้าน ส.ส.สมัยล่าสุด พกเอาความเชื่อมั่นที่ทำการการเมืองติดต่อกันหลายสมัยไม่เคยสอบตก จะป้องกันแชมป์เอาไว้ได้หรือไม่  

เมื่อนายทวี  สุระบาล  หรือโกวี  อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีและอดีตส.ส.หลายสมัย ทำการบ้านลงพื้นที่มาหลายปีไปทุกงาน เสียงตอบรับกระแสนิยมมาฝั่งทวีได้ยินทุกหมู่บ้าน อีกทั้ง ผู้นำท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่นก็หนุนนายหัววี    

ส่วนดาวสภา คนตัวเล็กฝีปากกล้า สาทิตย์  ก็แพ้ไม่ได้ลงพื้นที่เกือบทุกวัน ที่สำคัญมีนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี มาช่วยหาเสียงให้ในเขตเลือกตั้ง  ทำให้นายหัววี  คะแนนนิยมเป็นรองสาทิตย์เล็กน้อย เขต 2 เป็นการต่อสู้ของช้างสารคู่นี่ที่ชนกันหญ้าแพรกต้องแหลกราญให้รู้ใครแน่กว่าใคร  เวลานี่เอาใจประชาธิปัตย์ให้สาทิตย์เป็นต่อ

นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ  พรรคประชาธิปัตย์

  • “สุณัฐชา” ปชป.เต็งหนึ่ง

เขต 3 (อ.นาโยง อ.ปะเหลียน อ.หาดสำราญ อ.ย่านตาขาว ต.ในควน ต.โพรงจระเข้ ต.หนองบ่อ ต.หนองเสม็ด)   นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ  ส.ส.ปชป.สมัยเดียว เจ้าถิ่นยังมาเต็ง 1 ถึงเป็นอดีตส.ส.สมัยเดียว แต่พ่อสมชาย(โกหนอ)กับคุณลุงบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ หรือ โกเล้ง นายก อบจ.ตรัง ใหญ่คับเมืองตรัง โอกาสชนะเลือกตั้งนอนมา ผู้สมัครพรรคการเมืองอื่นยังไม่สามารถเข้าใกล้ได้  เวลานี้ยังให้ สุณัฐชา หรือ ถ่ามเอ้ง มาเต็ง 1

นายดิษฐ์ธนิน ภาคย์อิชณน์ พรรคภูมิใจไทย

  • “ดิษฐ์ธนิน”ค่ายสีน้ำเงิน คะแนนนำโด่ง

และเขต 4 (อ.กันตัง อ.สิเกา อ.ย่านตาขาว ต.ย่านตาขาว ต.ทุ่งกระบือ ต.ทุ่งค่าย ต.เกาะเปียะ)  ต้องจับตาอย่ากระพริบช่วงปลายยก เมื่อนายกาญจน์  ตั้งปอง  พรรคปชป.ลงพื้นที่หาเสียง โดยมีนายสมชาย หรือ โกหนอ ช่วยเดินหาเสียง  ตามมาด้วยพล.ต.ต.บันลือ  ชูเวทย์ พลังประชารัฐ ที่ออกหมัดมาขยันเดินเอาช่วงท้าย  ยอมขนหัวคะแนนจากเขต 1 ไปหาเสียงในเขตที่ 4 

ส่วนอดีตส.ส.นายสมบูรณ์  อุทัยเวียนกุล รวมไทยสร้างชาติ คะแนนนิยมที่มีต่อตัวสมบูรณ์พอจะขับเคลื่อนไปได้บ้าง   ขณะที่ นพ.วิโรจน์ ทองโอเอี่ยม ย้ายจากเขต 2 มาลงสมัครเขตเลือกตั้งที่ 4 พรรคเพื่อไทย ความแรงยังไม่พอ

เขตนี้ ต้องจับตา พรรคภูมิใจไทย นายดิษฐ์ธนิน ภาคย์อิชณน์  หรือ เอก จากค่ายภูมิใจไทย บัญฑิตกฎหมายผู้สมัครหนุ่มโสดรูปหล่อ อัธยาศัยดี หาเสียงมา 3 ปีแล้ว คะแนนนิยมดี  แถมมีแรงหนุนจาก“เจ้เปี๊ยะ”ดร.นาที  รัชกิจประการ แม่ทัพใหญ่ภาคใต้ เปิดประตูรับเข้าพรรคสีน้ำเงิน  วันนี้ “เอก”จึงโดดเด่นนำโด่งมาอันดับหนึ่ง

พื้นที่จังหวัดตรัง โพล์ออกมาหลายสำนัก จนไม่รู้สำนักใดเชื่อถือได้ ขณะที่หน่วยงานหนึ่งในสังกัด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า
 เขต 1 ยังไม่สรุปอันดับ หมอรักษ์  จากภูมิใจไทย มีคะแนนนิยมขึ้นมาเรื่อย ๆ ตามมาด้วยนายถนอมพงศ์  รทสช. นายกิตติพงศ์ พลังประชารัฐ และหมอตุลกานต์  ปชป.  

เขต 2 ทวี สุระบาล พลังประชารัฐ กับนายสาทิตย์ ปชป.คะแนนสูสีแต่ให้สาทิตย์เป็นต่อเล็กน้อย  

 เขต 3 นางสาวสุณัฐชา ส.ส.ปชป.หนึ่งสมัย ยังมีคะแนนนิยมนำผู้สมัครจากพรรคการเมืองอื่น  และ เขต 4  ดิษฐ์ธนิน จาก ภูมิใจไทย คงนำม้วนเดียวจบแบบไม่พักยก         

ธีมดี  ภาคย์ธนชิต : รายงาน