สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย ติดต่อ กต. ขอสังเกตการณ์เลือกตั้งไทย

21 เม.ย. 2566 | 07:18 น.
1.2 k

หลังจากฐานเศรษฐกิจเปิดประเด็นคณะผู้แทน EU ขอส่งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้ง เข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้ง 2566 ในไทย ล่าสุด สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย ติดต่อ กต. ขอตามติดสถานการณ์ด้วย

จากกรณีฐานเศรษฐกิจ นำเสนอประเด็นคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย แสดงความประสงค์ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้ง (Election Expert Mission : EEM) ของสหภาพยุโรป หรือ EU จำนวน 2-4 คน เข้ามาติดตามการเลือกตั้งทั่วไปของไทยในปี 2566 โดยส่งหนังสือเข้ามายัง กระทรวงการต่างประเทศ แล้วนั้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : EU จับตาเลือกตั้งไทย ร่อนหนังสือขอเข้าสังเกตการณ์

ล่าสุดแหล่งข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศ ยังระบุกับฐานเศรษฐกิจด้วยว่า นอกจากทาง EU ที่จะเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งในไทยแล้ว มีรายงานด้วยว่า สหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย ยังได้สอบถามและติดตามสถานการณ์การเลือกตั้งของไทยอย่างต่อเนื่อง 

โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยังได้หยิบยกประเด็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่อาจส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่ต้องการ เช่น แอปพลิเคชัน TikTok ล่าสุด สหรัฐฯ ได้ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางใช้แอปพลิเคชันดังกล่าวในอุปกรณ์ของทางราชการแล้ว

 

ภาพประกอบข่าว ผู้สังเกตการณ์ต่างชาติติดตามการเลือกตั้งทั่วไปของไทย

ก่อนหน้านี้ กระทรวงการต่างประเทศ ได้รับหนังสือจากคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย แจ้งว่า จะส่งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้ง เข้ามาติดตามการเลือกตั้ง 2566 ในไทย

โดยที่ผ่านมา EEM เคยได้เข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้ง ประเทศกัมพูชา อินโดนีเชีย และเมียนมา รวมถึงการเลือกตั้งในไทยเมื่อปี 2554 และ 2557

เบื้องต้น EEM กำหนดว่าจะขอเข้ามาก่อนการเลือกตั้งประมาณ 2 เดือน และเตรียมรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ และเดินทางไปสังเกตการณ์ที่หน่วยเลือกตั้งและศูนย์นับคะแนน ก่อนจัดทำรายงานการประเมินกระบวนการเลือกตั้งของไทย โดย EEM จะรายงานผลการประเมินฯ ให้ กกต. ทราบเพื่อพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ EEM ต่อไป

 

ภาพประกอบข่าว ผู้สังเกตการณ์ต่างชาติติดตามการเลือกตั้งทั่วไปของไทย

นโยบายของไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

สำหรับนโยบายของไทยด้านการรับคณะผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างประเทศนั้น ในการประชุมประสานงานหน่วยงานไทยเกี่ยวกับคำขอสังเกตการณ์การเลือกตั้งของฝ่ายต่างประเทศ ทางผู้แทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ชี้แจงว่า ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา กกต. ได้จัดกิจกรรมสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น

ทั้งนี้เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ระเบียบ (Code of conduct) และกระบวนการต่าง ๆเกี่ยวกับการเลือกตั้งของไทยให้แก่คณะผู้สังเกตการณ์ต่างชาติ รวมถึงผู้แทนจากสถานทูตต่าง ๆ ในไทย โดยกำหนกลุ่มเป้าหมายเอาไว้ 3 กลุ่ม ดังนี้

  1. กกต. จากประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ รวมติมอร์-เลสเต 
  2. กกต.จากความสัมพันธ์อันดีกับไทย รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศที่อยู่ในไทย 
  3. สถานทูตต่าง ๆ ในไทยที่แสดงความประสงค์สังเกตการณ์การเลือกตั้ง 

อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งปี 2562 สถานทูตประเทศสมาชิก EU จำนวน 12 คน ได้ส่งคำขอสังเกตการณ์ใน 6 จังหวัด ซึ่ง กกต. ได้อนุญาตให้เข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งในฐานะผู้แทนประเทศใน EU ไม่ใช่ฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้ง หรือ EEM