เจาะนโยบายเศรษฐกิจ ชาติไทยพัฒนา แก้หนี้ สร้างงาน เพิ่มรายได้

15 เม.ย. 2566 | 15:37 น.
อัปเดตล่าสุด :15 เม.ย. 2566 | 15:47 น.

“ชาติชาย พยุหนาวีชัย” อดีตนายแบงก์ใหญ่ ในฐานะของทีมเศรษฐกิจ พรรคชาติไทยพัฒนา เปิดนโยบายเศรษฐกิจ หาเสียงเลือกตั้ง 2566 เน้นงานหลัก แก้หนี้ สร้างงาน เพิ่มรายได้ ดันการค้าและการลงทุน

“การตัดสินใจเข้ามาทำงานการเมืองครั้งนี้ เห็นว่า พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นพรรคขนาดกลาง ๆ ทำการเมืองฟังเสียงคนรุ่นใหม่ ไม่ได้มีความซับซ้อน ไม่ทะเลาะกับใคร และหากพรรคได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็สามารถนำเสนอนโยบายต่าง ๆ ไปใช้ได้”

ใจความสำคัญและความตั้งใจของ “ชาติชาย พยุหนาวีชัย” อดีตนายแบงก์ออมสิน บอกกับเราหลังจากได้ตัดสินใจเดินเข้าสู่สนามการเมืองเต็มตัว ในฐานะของ รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และผู้ขับเคลื่อนนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของพรรค เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งใหญ่ ปี 2566

เขาเล่าว่า ประสบการณ์การทำงานตลอดชีวิต น่าจะทำมาต่อยอดใช้พัฒนาประเทศไทยได้ เพราะที่ผ่านมาตอนที่ทำงานเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้ทำงานช่วยประชาชนในระดับฐานรากไว้มาก หากมีโอกาสเข้ามาทำงานการเมืองก็น่าจะมีโอกาสขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้ดีขึ้นได้ 

 

“ชาติชาย พยุหนาวีชัย” รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เปิดนโยบายเศรษฐกิจ

สำหรับการวางนโยบายของพรรคชาติไทยพัฒนา หัวใจสำคัญ คือ การทำนโยบายที่ไม่ก่อหนี้ให้กับคนรุ่นหลัง โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจนั้น อยู่ภายใต้หลัก “รับฟัง ทำจริง” ประกอบไปด้วยเนื้อหาหลักด้านต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้

นโยบายแก้หนี้สินแบบเจาะลึก 

พรรคชาติไทยพัฒนา วางแนวทางการแก้หนี้สินเป็นนโยบายสำคัญ เพราะถือเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน โดยนโยบายที่ออกมาคือ การเปิดคลินิกให้คำปรึกษาหนี้ คลินิกแก้หนี้ ตั้งศูนย์บริหารจัดการหนี้แห่งชาติ เช่นเดียวกับการรวมหนี้เพื่อนำมาบริหารจัดการหนี้ 

พร้อมทั้งตั้งบริษัทสินเชื่อบุคคลแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่รับซื้อหนี้จากสถาบันการเงิน โดยมีการแฮร์คัต (hair cut) เงินต้นบางส่วน แล้วออกมาตรการช่วยเหลือปลอดเงินต้น ปลอดดอกเบี้ยเพิ่ม 2 ปี สำหรับกลุ่มไม่มีความสามารถชำระหนี้

ส่วนกลุ่มที่สามารถชำระบางส่วน ให้ชำระเงินต้นก่อน ดอกเบี้ยทีหลัง เป็นเวลา 2 ปี รวมทั้งออกมาตรการขยายระยะเวลากู้ออกไปเป็นระยะยาว เช่น 30 ปี และมาตรการลดดอกเบี้ยหรือเบี้ยปรับให้เป็นธรรม ซึ่งแนวทางทั้งหมดต้องเร่งทำ

 

“ชาติชาย พยุหนาวีชัย” รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เปิดนโยบายเศรษฐกิจ

นโยบายด้านสร้างงาน สร้างรายได้ 

เน้นเป้าหมายไปที่กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก ผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านการสร้างอาชีพ และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี ทั้งสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ ในรูปแบบหนึ่งแพลตฟอร์มหนึ่งตำบล เป็นช่องทางการขายสินค้าชุมชน ควบคู่กับแบบออฟไลน์ ถนนคนเดิน หรือจุดพักรถแบบต่างประเทศ รวมทั้งดึงสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย เข้ามาช่วยนำความรู้เข้ามาส่งเสริมการสร้างงาน สร้างรายได้ และส่งเสริมอาชีพ 

อีกด้านหนึ่งคือการเติมแหล่งทุน ช่วยคนตัวเล็ก โดยจะสร้างประวัติทางการเงินของประชาชนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยระบบ QR Code ให้ธนาคารสามารถเข้าไปเช็คประวัติ เป็น Credit Scoring ซึ่งเป็นคะแนนที่ชี้วัดความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละคน 

อีกส่วนคือการตั้งกองทุนร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพ (Venture Cap) ขนาดประมาณ 1 – 2 แสนล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินให้กับสตาร์ทอัพ หรือ ธุรกิจเกิดใหม่ด้วย

 

“ชาติชาย พยุหนาวีชัย” รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เปิดนโยบายเศรษฐกิจ

 

นโยบายสหกรณ์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

พรรคมีนโยบายนำกลไกของสหกรณ์มาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะปัจจุบันสหกรณ์ มีทุนและเงินสะสม กว่า 3.3 ล้านล้านบาท และมีสมาชิกกว่า 11.7 ล้านคน เป็นสถาบันที่สามารถช่วยพัฒนาประเทศได้ แต่ต้องแก้กฎหมายให้สหกรณ์สามารถนำเงินสะสมไปลงทุนได้ 

แต่ตั้งกำหนดหลักเกณฑ์ ต้องสร้างผลประโยชน์และผลตอบแทนลงสู่ประชาชนและสมาชิกสหกรณ์ เช่น ไปลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าชุมชน เกษตรชุมชน โรงกำจัดขยะ เบื้องต้นหากให้สหกรณ์นำเงินสะสมมาลงทุนในกิจการที่เป็นประโยชน์ได้จะสร้างเงินหมุนเวียนในระบบได้อีกมาก 

นโยบายด้านการค้า-การลงทุน

นโยบายพรรคกำหนดเรื่องของการส่งเสริมการค้าต่างประเทศ โดยต้องเร่งเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) และขยายความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เช่น กลุ่ม BIMSTEC ควบคู่กับการทำงานร่วมกับเอกชน เพื่อศึกษาการเปิดตลาดการค้าใหม่ ๆ รวมทั้งการส่งเสริมขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เช่น การลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมดึงนักลงทุนที่เป็นเป้าหมายเข้ามาลงทุน

นอกจากนี้ยังต้องหาทางส่งเสริม และอำนวยความสะดวกการลงทุน จากชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุน และทำงานในประเทศไทย เช่น การสนับสนุนวีซ่าระยะยาวให้ต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนในไทยประเทศไทย การปรับค่าจ้างแรงงานให้มีความยืดหยุ่นขึ้นกับความสามารถของแรงงานด้วย

ที่สำคัญอีกอย่าง คือ การสร้างเสริมธุรกิจที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจเกษตร อาหาร ธุรกิจ BCG เช่น การสนับสนุนให้เกษตรกร ชาวนา เรียนรู้กลไกการขายคาร์บอนเครดิตเพื่อสร้างรายได้ตามความต้องการคาร์บอนเครดิตที่เพิ่มขึ้น และราคาคาร์บอนเครดิตด้วย 

นโยบายด้านการสร้างรายได้

แนวทางสำคัญคือ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ และรีแบรนด์ประเทศไทย เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้มากขึ้น ดึงงานสำคัญระดับโลกเข้ามาจัดแสดงในประทศไทย ส่งเสริมให้ทำควบคู่กับการส่งเสริมการซอฟต์พาวเวอร์ที่เป็นจุดขายของไทย และพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวไทย

อีกด้านหนึ่งคือ นโยบายการส่งเสริมการค้าชายแดน เนื่องจากประเทศไทยมีจังหวัดที่ติดชายแดนกับเพื่อนบ้านถึง 31 จังหวัด หากสามารถทำการค้าชายแดนให้คึกคักขึ้น ยกระดับด่านชายแดนให้สามารถค้าขายได้ และเปิดด่านผ่อนปรนอีก 5 ด่านในจังหวัดที่มีมูลค่าการค้าสูง มั่นใจว่าจะส่งผลดีต่อการใช้จ่าย และทำให้เศรษฐกิจการค้าขยายตัวได้

 

“ชาติชาย พยุหนาวีชัย” รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เปิดนโยบายเศรษฐกิจ

 

นโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน

นับเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง จะต้องดำเนินการควบคู่กับนโยบายการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค สนับสนุนการจัดการคมนาคมทางน้ำ เพื่อให้สามารถลดค่าครองชีพในการเดินทาง โดยการเชื่อมต่อการเดินทางในระบบที่มีอยู่ 

ขณะเดียวกันยังต้องเร่งเรื่องของโครงการคมนาคมที่ล่าช้า เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค ในรูปแบบใกล้เคียงกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อกระจายความเจริญไปทั่วทั้งประเทศ 

นโยบายด้านดิจิทัล และการศึกษา 

ส่งท้ายที่นโยบายด้านดิจิทัล และการศึกษา ถือเป็นการวางรากฐานให้กับประเทศอย่างมั่นคง โดยนำดิจิทัลมาเพิ่มขีดสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่งเสริมรัฐบาลดิจิทัล (E-Government) ควบคู่กับการพัฒนาไทยให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล การปฏิรูปการศึกษาโดยสนับสนุนให้เยาวชนเรียนในสิ่งที่ใช่ เพื่อตอบโจทย์การสร้างแรงงานในอนาคต