"มาดามเดียร์"ยัน กองทุนไอเดีย 1 หมื่นล้าน แจงที่มาได้ ไม่พึ่งงบประมาณ

12 เม.ย. 2566 | 14:59 น.
อัปเดตล่าสุด :12 เม.ย. 2566 | 15:14 น.

"มาดามเดียร์"ย้ำ นโยบายกองทุนไอเดีย 10,000 ล้านบาท ของประชาธิปัตย์ แจกแจงได้ไม่หวังพึ่งงบประมาณแผ่นดิน ชี้งบประเทศยังขาดดุล ห่วง พรรคการเมืองออกนโยบายประชานิยม หวังครองใจโหวตเตอร์ แต่ใช้เม็ดเงินสูงมาก

น.ส.วทันยา บุนนาค หรือ "มาดามเดียร์" ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงนโยบายกองทุนไอเดีย 10,000 ล้านบาทของพรรคประชาธิปัตย์ หลัง กกต.ให้พรรคการเมืองชี้แจง รายได้ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน ว่า ที่มาของเงินแจกแจงได้ชัดเจน

ทั้งเงินที่มาสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณ หรือ กองทุน USO ของสำนักงาน กสทช. และภาษีจากอุตสาหกรรมบันเทิง

ส่วนนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทยนั้น มองว่า ทุกๆนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่ดี ในการเสนอขายนโยบายให้กับประชาชน แต่ตามที่นักวิชาการหลายฝ่ายกังวลว่า อาจจะเป็นนโยบายที่เป็นแนวประชานิยม เพื่อหวังครองใจVoter (ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง) แต่หลายนโยบายมีการใช้เม็ดเงินจำนวนสูงมาก จึงเกิดคำถามว่าจะนำเม็ดเงินจากที่ไหน อย่างไร เพราะขณะนี้เองประเทศไทยก็ประสบปัญหาเกี่ยวกับการบริหารการเงินที่ขาดดุลมาอย่างต่อเนื่อง

น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง พรรคประชาธิปัตย์

โดยเฉพาะจากการเผชิญปัญหาโควิด-19 ที่ต้องมีการกู้เงิน จากต่างประเทศ หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น จนต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะ และยังมีปัญหาด้านการจัดเก็บรายได้ที่ลดน้อยลง แต่ก็เชื่อว่า แต่ละพรรคการเมืองได้คำนวณ ที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในแต่ละโครงการไว้ครบถ้วนแล้ว ซึ่งต้องรอแต่ละพรรคการเมืองได้ชี้แจง

แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์  สามารถชี้แจงต่อ กกต.และ ประชาชนได้ว่า เม็ดเงินแต่ละตัวจะมาจากไหน และที่สำคัญแต่ละนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้พึ่งเงินงบประมาณแผ่นดิน แต่เป็นเงินที่มาจากภาคส่วนอื่น


ส่วนนโยบายการแจกเงินที่ประชาชนฟังดูแล้วหวือหวาน่าสนใจ อาจจะแตกต่างจากนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์นั้น น.ส.วทันยา กล่าวว่า แต่ละพรรคก็พยายามทำนโยบายบนหลักการว่า จะอัดเงินเข้าระบบเศษฐกิจอย่างไร  เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ที่จะอัดเงินเข้าระบบ 1 ล้านล้านบาท เพราะสืบเนื่องจากวิกฤติโควิด-19 และวิกฤติสงครามยูเครน-รัสเซีย ที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ค่าพลังงาน จนถึงค่าสินค้าอุปโภค บริโภค เพิ่มขึ้น

ในขณะที่รายได้ของประชาชนลดน้อยลง จึงเป็นแนวนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์คิดว่าจะอัดเงินเข้าไปหล่อเลี้ยงระบบเศษฐกิจ แต่การอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ ไม่ใช่คำตอบเดียวที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี การให้งบประมาณในการทำวิจัย และมีผู้ที่มีความรู้ความสามารถคอนดูแลให้คำปรึกษาให้กับภาคธุรกิจองค์กรต่างๆ ที่ขาดทุน ควบคู่กันไป

 
น.ส.วทันยา ยังย้ำว่า โลกเศรษฐกิจในยุคหน้า เป็นยุคของเศรษฐกิจดิจิทัล การขับเคลื่อนที่จะช่วยสร้างศักยภาพเศษฐกิจให้กับประเทศไทย และประเทศอื่นทั่วโลก เติบโตแบบก้าวกระโดด ต้องมีการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาเป็นองค์ประกอบในทุกภาคอุตสาหกรรม ต่างๆ ทั้ง ด้านเกษตร อุตสาหกรรมหนัง หรือ ภาคบริการ เป็นต้น