“นพ.บุญ วนาสิน” ชำแหละ ใครเหมาะนั่งนายกฯ

09 เม.ย. 2566 | 15:22 น.
อัปเดตล่าสุด :09 เม.ย. 2566 | 15:42 น.
2.5 k

“ผมพูดเสมอว่า ยังไงฝ่ายอนุรักษ์นิยม ยังต้องเป็นต่อ ต้องทำใจ ทำอย่างไรจะประคองไม่ให้เขาเหลิง ไม่ให้บ้าอำนาจ” : สัมภาษณ์พิเศษ นพ.บุญ วนาสิน ประธานที่ปรึกษา รพ.ธนบุรีบำรุงเมือง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3877

การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.2566 หลายพรรคการเมืองก็ได้เข้ายื่นใบสมัครทั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต บัญชีการรายชื่อ และยื่นบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปเรียบร้อยแล้ว

การเลือกตั้งครั้งนี้ อนาคตการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร รวมถึงคุณสมบัติของนายกฯ คนที่ 30 ควรเป็นอย่างไร รายการ “THAN TALK” โดย บากบั่น บุญเลิศ และ วิลาสินี แวน ฮาเรน ร่วมพูดคุยกับ นพ.บุญ วนาสิน ประธานที่ปรึกษา รพ.ธนบุรีบำรุงเมือง อย่างตรงไปตรงมา 

ฟันธงเก้าอี้ ส.ส.

ถาม : มองการเมืองในมิติฝั่งอนุรักษ์นิยม กับฝ่ายเสรีประชาธิปไตยสุดโต่ง ถ้าจับขั้วกันจะเป็นผลดีและร้ายต่อประเทศอย่างไร

เรื่องนี้ หมอบุญ สะท้อนถึงจำนวนส.ส.ที่แต่ละฝั่งจะได้จากการเลือกตั้งว่า ฝั่งอนุรักษ์นิยม 2 ป. ประมาณ 100 บวก-ลบ ภูมิใจไทย 60 ประชาธิปัตย์ 35 รวมไปรวมมา ยังไม่ถึง 250 เสียง เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ไม่ stable (ไม่มีเสถียรภาพ) 

ถ้ามาฝ่ายเสรีนิยม เพื่อไทย ประมาณ 200  บวกก้าวไกล ถ้าไม่เอามารวมก็ 40  บวกไปบวกมาเกิน 250 แต่เขาไม่ได้เป็นนายกฯ หรอก เพราะเขามี ส.ว.อยู่ 250 คน ต้องเข้าอีกประตู่หนึ่งด้วย

ถาม : แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย  ประชาธิปัตย์ เขาก็ประเมินเสียงก็ไล่ๆ 250 เสียง  

หมอบุญ ตอบว่า แต่ผมประเมิณว่าไม่ถึง 150  เสียง โพลของผมไม่ผิดหรอก 5 โพล มีส่วนตัว ดุสิต มั่นคง สันติบาล เราคำนวณหมด เพื่อจะได้ดูว่าสนับสนุนถูกคนหรือเปล่า (หัวเราะ)

จับขั้วการเมือง

ถาม : ถ้าเป็นไปตามโพล ที่คุณหมอพูดมา รัฐบาลจะเป็นอย่างไรในเมื่อเสียงข้างน้อย หรือ เสียงข้างมากก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้

หมอบุญ แนะให้ดูมาเลเซีย “อันวาร์” ตอนนั้นแบ่งกันคนละ 2 ปี  “มหาเธร์” เบี้ยว เอาอัมโนเข้ามา ตอนหลังเลือกตั้งครั้งสุดท้าย อันวาร์ได้คะแนนสูงสุด  ให้ อันวาร์ เป็นรัฐบาล ฝ่ายค้านไหลมาเต็มไปหมด ตอนนี้อันวาร์คะแนนเสียงเกินครึ่ง เหมือนเมืองไทยไม่มีผิด ขอให้เขารู้ว่าใครเป็นนายกฯ เดี่ยวก็วิ่งกันมาเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นเรื่องขั้วไม่ใช่สาระสำคัญ 

ผมยกตัวอย่างประเทศยุโรป 5 ประเทศ ในช่วงเวลา 200-500 ปี ถึงจะมีประชาธิปไตยที่แท้จริง ของเราเพิ่ง 90 ปี อีก 200 ปีเรารอกันต่อ การเลือกตั้งทำให้เราสร้างเรื่องของประชาธิปไตย สร้างการพัฒนาประเทศได้ แต่ต้องใช้เวลา 200 ปี

ถาม : ว่าคนอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงไม่มีวงจรอุบาทว์ การเลือกตั้งครั้งนี้จะแนะนำอย่างไร

หมอบุญ ตอบว่า จำได้ไหม ผมเชียร์ ชัชชาติ สิทธิ์พันธุ์  เพราะเบื่อคนเก่า ไม่หล่อ อยู่มานาน  ทั้งๆ ที่ผมรู้ว่า ชัชชาติ ทำงานไม่เป็น เขาเป็นนักวิชาการ ไม่เคยประสบความสำเร็จในเรื่องธุรกิจ นี่สำคัญ เขาตรงไป กทม.คุณก็รู้ว่า ไม่มีอำนาจ ถ้าไม่มี creative financing ( การจัดหาเงินอย่างสร้างสรรค์ ) คุณทำอะไรสำเร็จละ  มีแต่ภาษี แล้วเพิ่มรายได้เป็นหรือเปล่า มันต้องหารายได้พิเศษ  กทม.ต้องหารายได้พิเศษ

“ชัชชาติ หนึ่ง เพราะเขาไม่มีอำนาจ เพราะขึ้นกับมหาดไทย สอง ชัชชาติมาจากสายข้าราชการ ใครมาเป็นผู้ว่าฯ ทำได้หรือ ผมพยายามเปลี่ยนกฎหมายมหาดไทย รู้ไหมกฎหมายแม่ ใช้ 6 ปี กฎหมายลูก 8 ปี แต่ละแบบใช้เวลา 5 ปี เท่ากับ 40 ปี กว่าจะเปลี่ยนได้ เพราะฉะนั้นต้องกิโยตินกฎหมาย ต้องล้มกฎหมายทุกฉบับเลย ทั้ง 5,000 ฉบับ   บิ๊กตู่ มุ่งมั่นที่จะรักษากฎหมายอย่างเดียวเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ท่านปิดล็อค” 

ขณะที่รัฐบาลก็เหมือนกัน  หนึ่งใครปราบคอร์รัปชัน  มีแค่สองพรรค สองใครหาเงินมีพรรคเดียวคือ พรรคชาติพัฒนากล้า นอกนั้นใช้เงินหมด  อย่าไปพึ่ง

พรรคการเมือง ที่เราวัดมา ต่างประเทศเป็นคนวัดว่าเราทรุดไป 8 ระดับ ถ้าสมมุติเราเด็กๆ เข้ามา ผมไม่ได้เชียร์พรรคก้าวไกล ทุกพรรคเอาเด็กเข้ามา อายุต่ำกว่า 40 ปี การเลือกตั้งแต่ละครั้งจะเปลี่ยน ส.ส. ประมาณ 30 % เรามาเอาแบบอิตาลี เลือกตั้งทุกปีเลย จะได้ตกไปเรื่อยๆ เอาแต่คนใหม่เข้ามา เอาเด็กใหม่ๆ เข้ามา มันมียางอาย

คุณสมบัตินายกฯ

ถาม : เลือกตั้งครั้งนี้มีคนอาสาเป็นนายกฯ เยอะ คิดว่าคุณสมบัตินายกฯ ที่จะทำให้ไทยพ้นจากเหตุด้อยลงไปได้หรือไม่

หมอบุญ กล่าวว่า “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ บอกว่า ก้าวข้ามความขัดแย้งนั้น จะทำได้อย่างไร เรามีนิติบริกร 2 คนที่สร้างรัฐธรรมนูญอันนี้ไว้ ขยับไม่ได้เลย  

ส่วนที่บอกว่าจะแก้ รธน. ลองไปดูดีๆ สหรัฐฯ มี รธน. 250 ปี ไม่เคยเปลี่ยน ของเราเปลี่ยนตามใจ ประชาธิปไตยเราเหมือนเปลี่ยนเสื้อผ้า 

อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร เป็นเด็กอายุ 40 ปี อีกหนึ่งที่ผมไม่ชอบคือ เพื่อไทยคิดผิดที่ใช้คำว่า  ครอบครัวเพื่อไทย  คำว่าครอบครัว คนกรุงเทพฯรังเกียจ เพื่อไทยคนก็รู้ว่าคือ “ทักษิณ” ผมถึงบอกว่า คนกรุงเทพฯ มีแค่ 6 ล้านคน  9% ของโหวตเตอร์ ก็ต้องเลือกคนใหม่เข้ามา ไม่เอาทั้ง 2 พรรค ไม่ใช่ว่าอยากทำอะไรก็ทำ ซ้ายสุดโต่งเราไม่เอา เอาตรงกลาง เอาเด็กๆ แต่อย่าเอาผู้หญิง ตอนนั้นเชียร์ผู้หญิงเยอะ 

เศรษฐา ทวีสิน เหมือนผม คนไทยมักชอบคนรวย ไม่ชอบคนประสบความสำเร็จ ขี้อิจจา เศรษฐาขึ้นไปจะโดนขัดแข้งขัดขา ทำอะไรไม่ได้เลย คุณทักษิณ จึงต้องไปอยู่แดนไกล  

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โอเค เนื่องจากเราเป็นดองกันแซ่ลิ้ม “ผดุง” ก็สนิทกัน  พิธา เป็นคนเก่ง มีความรู้ หนุ่มๆ ผมคิดว่าเขาพยายามอะไรแล้วเขาพยายามไม่เปลี่ยน เพราะนั้นอย่าไปรังเกียจเด็ก แต่ประเทศไทยยังไม่พร้อมสำหรับเขา  

อนุทิน ชาญวีรกูล  พ่อเขาเป็นเพื่อนสนิท ไม่อยากวิจารณ์  

จุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ น่าสนใจ เพราะครอบครัว เสนีย์ ปราโมช กับเรา ยังสนิทสนมกันมากๆ ลูกหลานตอนนี้ก็ไปอยู่อังกฤษด้วยกัน แต่ประชาธิปัตย์ เขาบอกเป็นสถาบันการเมืองก็ถูก แต่คนที่มาบริหาร สองคนนี้ต้องยอมรับว่า ไม่มีใครยอมรับ นอกจากกลุ่มบางกลุ่ม เหตุผลคือ จุรินทร์ กับเลขาฯ (เฉลิมชัย ศรีอ่อน) เป็นคนค่อยข้าง conservative (อนุรักษ์นิยม ) ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงตามยุคตามสมัย 

อย่างผม ต้องยอมรับว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เป็นดองกัน จุรินทร์ ก็ไหหลำ แซ่ลิ้ม รู้จักกันดี แต่การบริหารพรรคการเมืองต้องล่มเรื่องส่วนตัว นี่สำคัญที่สุด ลืมว่าเราต้องการอะไร ยุคสมัยมันเปลี่ยน อย่าง ชวน หลีกภัย อ่อนกว่าผมปีหนึ่ง เป็นผมลาออกไปนานแล้ว ไม่ต้องไปยุ่งกับในพรรค

เป็นกลางพูดตามเนื้อผ้า      

ถาม : หัวหน้าพรรคการเมืองที่อาสามาเป็นนายกฯ มีจุดด้อย และจุดเด่น วิจารณ์การเมืองไม่กลัวหรือ   

หมอบุญ ตอบว่า ใครก็รู้ว่าผมเป็นกลาง พูดตามเนื้อผ้า ผมพูดเสมอว่า  ยังไงฝ่ายอนุรักนิยม ยังต้องเป็นต่อ ต้องทำใจ ทำอย่างไรจะประคองไม่ให้เขา เหลิง ไม่ให้บ้าอำนาจ โดยการเลือกฝ่ายค้านเข้ามาเยอะๆ เป็นการ check and balancd  (ตรวจสอบและถ่วงดุลย์อำนาจ) ในทางการเมือง องค์กรอิสระเชื่อไม่ได้ เพราะโดนแทรกแซง  โดนไม่รู้กี่ร้อยเรื่อง