ยอดลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรทะลุ 7.2 หมื่นคน

07 เม.ย. 2566 | 20:40 น.

กระทรวงการต่างประเทศ เผย ยอดลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรทะลุ 72,000 คนแล้ว คาดไม่น้อยกว่าปี 2562 ที่ 119,000 คน ยันพร้อมจัดการเลือกตั้งทั้ง 3 แบบ

7 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดเตรียมการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรว่า นับตั้งแต่เปิดให้มีการลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรตั้งแต่ 25 มี.ค. – 9 เม.ย. 66 สถานะปัจจุบันมีจำนวนผู้ลงทะเบียน 72,779 คน เหลืออีก 4 วัน จึงจะสามารถทราบจำนวนผู้มาลงทะเบียนทั้งหมด

คาดว่า จำนวนผู้ลงทะเบียนน่าจะใกล้เคียง น้อยกว่าหรือมากกว่าการเลือกตั้งครั้งหลังสุดเมื่อปี 2562 ซึ่งมีผู้ลงทะเบียน 119,313 คน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสถานทูต สถานกงสุลใหญ่ไทย ในต่างประเทศ ทั้ง 94 แห่งได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนการลงทะเบียนใช้สิทธิผ่านทางเพจเฟซบุ๊กสถานทูต สถานกงสุลที่ประชาชนไทยในประเทศนั้น ๆ อาศัยอยู่ รวมถึงทางแอพพลิเคชั่น ติ๊ก ต๊อก และ สื่อมวลชน

สำหรับการแก้ปัญหาในการลงทะเบียนใช้สิทธิทางออนไลน์ซึ่งระบบการลงทะเบียนจัดทำขึ้นโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยนั้น ในระหว่างทางได้มีการปรับปรุงระบบให้สามารถลงทะเบียนได้ง่ายขึ้น กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานกรมการปกครองอย่างต่อเนื่องซึ่งได้มีการปรับปรุงระบบได้ดียิ่งขึ้น ทั้งในการขอใช้สิทธิลงทะเบียนร่วมกัน จำนวนคนลงทะเบียน

อย่างไรก็ดี มีบางแห่งที่อาจมีอุปสรรค ยกตัวอย่างประเทศจีน การลงทะเบียนใช้สิทธิออนไลน์ต้องใช้ระบบวีพีเอ็น สถานทูต สถานกงสุลไทยในจีน จึงประชาสัมพันธ์แจ้งลงทะเบียนทางแอพพลิเคชั่นวีแชต หรือสามารถเดินทางมาที่สถานทูต สถานกงสุลเพื่อลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง

หรือ กรณีไต้หวัน ตนได้เดินทางเยี่ยมแรงงานไทยในไต้หวัน พบว่าแรงงานลงทะเบียนไม่เป็นจึงได้ขอความอนุเคราะห์สำนักแรงงานไทยในต่างประเทศ นำแบบฟอร์มให้แรงงานกรอกข้อมูล เมื่อกรอกข้อมูลเสร็จ นำข้อมูลส่งสถานทูต สถานกงสุล เพื่อให้เจ้าหน้าที่ช่วยลงทะเบียนใช้สิทธิให้ได้

สำหรับวิธีการจัดการเลือกตั้งในต่างประเทศแตกต่างกัน เป็นไปตามระเบียบการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กำหนดรูปแบบการเลือกตั้ง 3 แบบ ได้แก่ คูหา ไปรษณีย์ และอื่นๆ ตามความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศนั้นๆ ซึ่งกำหนดให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเอกอัครราชทูต

สำหรับรูปแบบคูหานั้น เป็นคูหาเหมือนที่ไทย คนเข้าคูหามาใช้สิทธิ เหมาะกับประเทศที่ชุมชนคนไทยกระจุกในเมืองหลวงที่สถานทูตตั้งอยู่

ส่วนการลงคะแนนเสียงทางไปรษณีย์ เหมาะกับประเทศที่มีคนไทยอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายตามเมืองต่างๆ ขณะที่ระบบไปรษณีย์ของประเทศนั้น ๆ ต้องมีความน่าเชื่อถือ และมีประสิทธิภาพ อาทิ ประเทศยุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ซึ่งสามารถทำได้รวดเร็ว บัตรลงคะแนนไม่ตกหล่นหรือสูญหาย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในละตินอเมริกา หรือแอฟริกา ซึ่งระบบไปรษณีย์ไม่ได้มีประสิทธิภาพมากนัก

ส่วนการเลือกตั้งแบบอื่น ๆ เกิดจากชุมชนไทยอาจกระจุกตัวในเมืองท่าเรือ ไม่ใช่เมืองหลวงที่สถานทูตตั้งอยู่ สถานทูตจึงได้จัดหน่วยเคลื่อนที่เฉพาะกิจ ซึ่งคล้ายคูหาขนาดย่อมในสถานที่นั้นๆ เพื่อรับการลงคะแนนเสียงของคนไทย

ยกตัวอย่าง การจัดการเลือกตั้งในตุรกี ที่ระบบไปรษณีย์ถือว่าไม่ได้ดีมากนัก ซึ่งไม่ได้จัดที่กรุงอังการา เมืองหลวง เนื่องจากตั้งอยู่ห่างไกลจากชุมชนคนไทย แต่จัดขึ้นในสถานที่ที่ประชาชนกระจุกตัว เพื่อความสะดวกในการเดินทางมาลงคะแนน อาทิ เมืองท่า นครอิสตันบูล ซึ่งอยู่ทางเหนือ ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนไทยในต่างประเทศ ไม่ต้องเดินทางไกลมาถึงกรุงอังการาเพื่อลงคะแนน

สำหรับประเด็นข้อห่วงกังวล การเลือกตั้งของไทยจัดขึ้นใกล้วันแรงงานสากล ( 1 พ.ค.) ซึ่งเป็นเวลาของการประท้วงในยุโรป ที่อาจขัดขวางระบบไปรษณีย์ รวมถึงการขนส่งบัตรเลือกตั้งลงคะแนนของคนไทย สำหรับประเด็นภัยพิบัติ การประท้วงที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการจัดการเลือกตั้งนั้น ตามระเบียบการเลือกตั้งให้อำนาจเอกอัครราชทูตในการพิจารณาสภาพแวดล้อมโดยรอบ

หากไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ สามารถเลื่อนไปก่อนได้ แต่สถานทูตต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรถึงความจำเป็นหรือเหตุสุดวิสัย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีภัยพิบัติหรือเหตุรุนแรง และการประท้วงในยุโรป ซึ่งประท้วงในจุดหรือพื้นที่ที่ไม่มีผลกระทบต่อคนไทยที่เดินทางมาลงคะแนน รวมถึงระบบไปรษณีย์ยังคงใช้งานได้ตามปกติ

นายรุจ กล่าวถึงระบบการติดตามการจัดการเลือกตั้งในต่างประเทศหรือ Oversea Voting Monitoring System (OVMS) ว่า กระทรวงการต่างประเทศมีการตั้งห้องสถานการณ์ ที่อาคารกรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งกระทรวงได้จัดทำขึ้นมาใหม่เมื่อ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อดูแลการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร โดยมีเจ้าหน้าที่ดูระบบ OVMS ซึ่งเป็นระบบเรียลไทม์ สะท้อนภาพของสถานทูต สถานกงสุลไทย 94 แห่ง

ไล่เรียงความคืบหน้าของสถานทูต สถานกงสุลในแต่ละเมือง แต่ละแห่งในการจัดการเลือกตั้ง คล้ายคู่มือให้เจ้าหน้าที่กงสุลในแต่ละแห่งรายงานสถานะการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร อาทิ วิธีการส่งบัตรเลือกตั้ง กรณีส่งบัตรคะแนนทางเครื่องบินเป็นเที่ยวไหน ฯลฯ จะสะท้อนภาพมาที่ส่วนกลาง เพื่อให้เห็นภาพรวมและติดตามบัตรเลือกตั้ง รวมถึงการใช้งบประมาณ อาทิ การจัดซื้อครุภัณฑ์ ซึ่งเอื้อต่อการทำงานและการตรวจสอบของกระทรวงต่างประเทศ

"เมื่อได้เห็นระบบการทำงาน OVMS ตนเองเบาใจได้นิดหน่อย ว่าอย่างน้อยมีกลไกติดตามการเลือกตั้งเรียลไทม์ 24 ชั่วโมง ที่จะติดตามสถานการณ์รอบโลก ซึ่งคนไทยต้องตระหนักว่า ทุกประเทศรอบโลกมีสภาพแวดล้อม และเวลาที่จะดำเนินการแตกต่างจากในไทย บางประเทศช้ากว่าไทย 5-6 ชั่วโมง บางประเทศเร็วกว่าไทยหลายชั่วโมง ซึ่งระบบนี้ช่วยเจ้าหน้าที่กงสุล ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นเนื้อเดียวกันในการนำบัตรเลือกตั้งมาไทย" นายรุจ อธิบดีกรมการกงสุล กล่าว

พร้อมกันนี้ได้เชิญชวนให้คนไทยในต่างประเทศใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญ และเน้นย้ำว่า สิทธิเลือกตั้งสำคัญยิ่ง หากมีข้อสงสัยหรือปัญหาอย่างสอบถาม สามารถติดต่อสอบถามสถานทูต สถานกงสุล ทางโทรศัพท์ หรือช่องทางออนไลน์ หรือกรมการกงสุล จะมีเจ้าหน้าที่่ในห้องสถานการณ์ให้ข้อมูล