ศาลปกครองพิจารณา คดีกกต.แบ่งเขตเลือกตั้งมิชอบนัดแรก ตุลาการเห็นควรยกฟ้อง

04 เม.ย. 2566 | 15:20 น.
อัปเดตล่าสุด :04 เม.ย. 2566 | 15:32 น.

ศาลปกครองสูงสุดนั่งพิจารณาคดีฟ้อง กกต. ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม.-สุโขทัย-สกลนคร ไม่ชอบด้วยกฎหมายนัดแรก ตุลาการผู้แถลงคดีเสนอความเห็นควรยกฟ้อง ชี้เหตุเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา86

4 เม.ย.66)ศาลปกครองสูงสุด ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีนัดแรก ในที่คดีที่ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ว่าที่ผู้สมัครส.ส.กทม. คดีที่นายพัฒนา สัพโส ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.จ.สกลนคร  คดีที่นายวิรัตน์ วิริยะพงษ์ ผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ในจ.สุโขทัย และคดีที่นายพัฒ  ตั้งเบญจผล ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์จากจ.สุโขทัย

ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)กรณีขอให้เพิกถอนประกาศกกต.เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร ,จ.สกลนคร และจ.สุโขทัย ลงวันที่ 16มี.ค.2566  ตามลำดับ   
 

ศาลปกครองพิจารณา คดีกกต.แบ่งเขตเลือกตั้งมิชอบนัดแรก ตุลาการเห็นควรยกฟ้อง

ในการพิจารณาคดีครั้งนี้ มีเพียง ผู้ฟ้องคดี 3 รายเดินทางมาแถลงปิดคดีที่ศาลด้วยตัวเอง คือ นายนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ผู้สมัครส.ส.กทม. นายวิรัตน์ วิริยะพงษ์ ผู้สมัคร ส.ส.ในจ.สุโขทัย และนายพัฒ  ตั้งเบญจผล ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์

โดยต่างแถลงปิดคดีตรงกันว่า  ประกาศกกต.เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งลงวันที่ 16 มี.ค.2566 การแบ่งเขตการเลือกตั้ง รูปแบบที่ 1 เป็นการรวมแขวง/ตำบลเพื่อกำหนดเป็นเขตเลือกตั้งใหม่  โดยไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์รวมเขตปกครองครอง/อำเภอต่างๆ เป็นเขตการเลือกตั้ง ตามหลักเกณฑ์ที่พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. 2561 มาตรา 27 กำหนด

เป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง และกระทบสิทธิของประชาชนสร้างความสับสนในการใช้สิทธิเลือกตั้ง และกระทบต่อจำนวนราษฎรผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง  ขณะที่ ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจาก กกต.ขอส่งแถลงการปิคคดีทั้ง 4 คดีเป็นลายลักษณ์อักษร

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า

จากนั้นองค์คณะตุลาการเจ้าของสำนวนคดีก็ได้ให้ตุลาการผู้แถลงคดีซึ่งเป็นตุลาการนอกองค์คณะแถลงความเห็นส่วนตัวที่องค์คณะจะนำไปประกอบการพิจารณาด้วย

โดยตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นในทั้ง 4คดี ว่า  ในการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2566 นี้ มีความแตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อน ทั้งในจำนวนราษฎรในการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่มีกำหนดว่า ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น หรือ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

 รวมทั้งส่วนของจำนวน ส.ส.ที่เพิ่มขึ้นส่วนของ กรุงเทพมหานคร ที่เพิ่มจาก 30 คน เป็น 33 คน  จ.สกลนคร เพิ่มจากเดิม 6 คน เป็น 7 คน และ จ.สุโขทัย เพิ่มจากเดิม 3 คน เป็น 4 คน  ประกอบกับ รัฐธรรมนูญ มาตรา 86 (5) กำหนดว่า จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกินหนึ่งคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งเท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมี

โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน  ดังนั้น เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ต่อจำนวน ส.ส.1 คน เป็นตัวตั้ง   ทั้งในเขตพื้นที่ของ กรุงเทพมหานคร  จ.สกลนคร  และ จ.สุโขทัย ตาม ประกาศกกต.เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งลงวันที่ 16 มี.ค.2566

 พบว่า จำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ในแต่พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร  จ.สกลนคร และจ.สุโขทัย  มีจำนวนมาก หรือ มีจำนวนน้อย กว่าร้อยละ 10 ของค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง 162,766 คน ต่อจำนวน ส.ส.1 คน  จนเกินไป

การที่ กกต.ออกประกาศกกต.เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งลงวันที่ 16 มี.ค.2566  ในส่วนของกรุงเทพมหานคร 33 เขตเลือกตั้ง  จ.สกลนคร 7เขตเลือกตั้ง  และ จ.สุโขทัย 4เขตเลือกตั้ง จึงเป็นการประกาศที่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นควรที่ศาลปกครองสูงสุดจะพิจารณายกฟ้องในคดีนี้   

หลังจบกระบวนนั่งพิจารณาคดี องค์คณะตุลาการเจ้าของสำนวนได้แจ้งคู่กรณีทุกฝ่ายว่าศาลนัดฟังคำพิพากษาคคีในวันที่ 7 เม.ย.นี้