ผวาประชานิยม ดันภาระคลังพุ่ง งบงอกปีละ 3 ล้านล้าน

04 มี.ค. 2566 | 10:37 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มี.ค. 2566 | 15:22 น.

เอกชนถล่มนโยบายหาเสียง เกทับบลัฟแหลก TDRI หวั่นสร้างภาระประเทศระยะยาว แอตต้าแนะดึงผู้ถือบัตรสวัสดิการ 15 ล้านคนเข้าระบบแรงงาน สร้างรายได้พ้นภาวะยากจน หอการค้าแนะรัฐบาลใหม่มีแผนระยะยาวยกระดับประเทศ

การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดในเดือนพฤษภาคม 2566 ตามกรอบเวลาของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ทำให้แต่ละพรรคการเมืองต่างขนนโยบายหาเสียงออกมาประชันกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ

  • ใช้งบเพิ่ม 3ล้านล้าน

ล่าสุดสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) โดยดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI และ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI ได้ร่วมทำรายงานวิจัยเรื่อง “ข้อสังเกตและข้อห่วงใยนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566” พบว่า จากการรวบรวมนโยบายจาก 9 พรรค รวม 86 นโยบาย เฉพาะที่มีรายละเอียดที่ชัดเจนเพียงพอ ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 อย่างน้อย 2 พรรคการเมืองที่น่าจะต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีกกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้หากรวมต้นทุนด้านการคลังของนโยบายของทั้ง 9 พรรคการเมือง (โดยไม่นับนโยบายที่ซํ้ากัน) ก็จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นทั้งหมด 3.14 ล้านล้านบาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากงบประมาณรายจ่ายสำหรับปี 2566 ที่มีวงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท 

“แม้นโยบายหลายอย่างที่พรรคการเมืองประกาศออกมาเป็นนโยบายที่มีจุดประสงค์ดีที่มุ่งแก้ไขความเดือดร้อนและปัญหาของประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางก็ตาม แต่ก็ยังมีหลายนโยบายที่น่าจะสร้างปัญหาให้แก่ประเทศในระยะยาว”TDRI ระบุ

ผวาประชานิยม ดันภาระคลังพุ่ง งบงอกปีละ 3 ล้านล้าน

  • เกทับ“บัตรคนจน”

หนึ่งในนโยบายที่มีการพูดถึงกันมากที่สุดคือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน”ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมลํ้าในสังคมไทย ซึ่งพรรคการเมืองได้คะแนนนิยมโดยตรงจากผู้ถือบัตรโดยพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)เป็นพรรคแรกที่ออกมาประกาศนโยบายว่า จะมีการเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากเดิม 200-300 บาทต่อเดือนเป็น 700 บาทต่อเดือน

ขณะที่ล่าสุด“บิ๊กตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ก็ได้ออกมาเกทับ ประกาศนโยบายภายใต้ชื่อแคมเปญ “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” เช่น เพิ่มสิทธิบัตรสวัสดิการพลัส เป็น 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งล่าสุดคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติผู้มีสิทธิ์ในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ 14.59 ล้านคน ซึ่งยังไม่รวมกับ 5.05 ล้านคน ที่ยังมีโอกาสยื่นอุทธรณ์เพื่อให้ได้รับสิทธิอีก

จึงไม่แปลกที่ทั้ง 2 พรรคการเมืองจะเดินหน้าแย่งชิงดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพราะจากฐานเสียงนิยมสูงเกือบ 20 ล้านคนเลยทีเดียว จากปัจจุบันที่มีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 13.17 ล้านคน ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 และถือเป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณสูงมากในการดูแลผู้มีรายได้น้อย เพราะรวมแล้วรัฐใช้งบอุดหนุนไปแล้วเกือบ 3 แสนล้านบาท

 

  • 6 ปีใช้งบ 3 แสนล้าน

ทั้งนี้ข้อมูลจากคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมระบุว่าเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 ครม.อนุมัติงบกลาง 1,581.78 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการจัดทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้กับผู้มีสิทธิตามโครงการปี 2560 พร้อมกับตั้งงบ 46,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2561 เพื่อดำเนินการภายในกรอบวงเงินกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม

ขณะที่ปีงบประมาณ 2562 กองทุนประชารัฐสวัสดิการฯใช้งบไป 42,675.95 ล้านบาท เพิ่มเป็น 45,967.39 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2563 และ 48,216.89 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2564 ส่วนปีงบประมาณ 2565 ใช้ไป 48,826.53 ล้านบาทและล่าสุดปีงบ ประมาณ 2566 กระทรวงการคลังได้ขออนุมัติงบเพิ่มเป็น 65,413.80 ล้านบาท รวม 6 ปีใช้งบประมาณสูงถึง 298,682.34 ล้านบาท

 

  • แนะดึงแรงงานเข้าระบบ

นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า)กล่าวว่า “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”ที่ครม.อนุมัติ 14.9 ล้านสิทธิให้กับคนที่ลงทะเบียนขอสิทธิใช้บัตรนี้ ซึ่งปีงบประมาณ 2566 ใช้งบกับบัตรสวัสดิการนี้ประมาณ 6 หมื่นกว่าล้านบาท จากคนไทย 66-67 ล้านคน มีสิทธิ์เลือกตั้ง 52 ล้านคน ก็พอเข้าใจได้ในช่วงนี้ที่พยายาม ช่วงชิงฐานเสียงกัน

นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว

“แต่ผมมีประเด็นที่ชี้ให้เห็นข้อกังวลของสังคมไทยคือ หากคนที่ถือบัตรนี้มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีตามเงื่อนไขนั้น หากเรามองไปที่ค่าแรงขั้นตํ่าวันละ 353 บาทต่อวัน หากคนเหล่านี้อยู่ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั่วไป ยังต้องมีรายได้เกินรายได้พื้นฐาน 100,000 บาทตามคุณสมบัติเบื้องต้นแน่นอน”

ดังนั้นต้องมาดูสัดส่วนของระดับอายุของคนที่ได้รับสิทธินี้ว่า มีคนอายุระหว่างเท่าไหร่ ซึ่งหากคิดเร็วๆ จากการอนุมานทั่วไป น่าจะเป็นผู้สูงอายุ แต่คนที่ไม่ได้เป็นผู้สูงอายุ เกินการทำงานทั่วไปได้ คนเหล่านี้ เหตุใดไม่ให้เขาไปทำงานในระบบการใช้แรงงานทักษะทั่วไป

ความน่ากังวลคือ ในขณะที่ประเทศไทย กำลังขาดแรงงานจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ หากเราผลักดันคนกลุ่มนี้ ไปทำงานเพื่อทำให้ภาคอุตสาหกรรมและบริการของประเทศ แข็งแรงด้วยการพึ่งพาแรงงานในประเทศได้มากขึ้น และนำงบประมาณส่วนหนึ่งจากการทำโครงการแบบนี้ มาสนับสนุนการจ้างงานจะดีกว่าหรือไม่  หากดึงคนเหล่านี้สัก 1% มาช่วยผู้ประกอบการจ้าง หรือ เสริมทักษะจะมีแรงงานไม่ตํ่ากว่า 150,000 คน เข้ามาแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และลดภาระของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เราควรทำให้คนไทยรู้จักตกปลาด้วยตนเองจะดีกว่าหรือไม่ เพราะหากมีแนวโน้มสถิติ คนเข้าชื่อขอบัตรสวัสดิการแบบนี้มากขึ้น นั่นหมายถึง คนไทยมีตรรกะที่ต้องนำมาปรับปรุงอย่างเร่งด่วนหรือไม่ ประเทศเราจะอ่อนแอขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคนไทยรู้จักช่วยตนเองน้อยลงครับ อนาคตคงลำบากขึ้นแน่นอน”

  • หอการค้าแนะ ต้องมีนโยบายกลาง-ยาว

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยกล่าวว่า นโยบายทางเศรษฐกิจที่พรรคการเมืองนำเสนอในการหาเสียง นอกจากมองระยะสั้น เพื่อให้ประชาชนก้าวข้ามความยากลำบากในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว โดยการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และพักหนี้แล้ว ควรมองหานโยบายระยะยาวเช่น การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจในระยะยาว ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันและหาแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

“มาตรการต่าง ๆ ที่ใช้ในการหาเสียง ควรเน้นมาตรการระยะกลาง และระยะยาวด้วย เพื่อช่วยพัฒนาประชาชนและธุรกิจให้มีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น สร้างสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจให้ประชาชนหารายได้เอง ลดกฎระเบียบที่ซ้ำซ้อนซึ่งเป็นต้นทุนที่ลดความสามารถในการแข่งขัน และเน้นส่งเสริมยกระดับโครงสร้างการผลิต นวัตกรรมเทคโนโลยี รวมถึงงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มมูลค่ารายได้ให้แก่สินค้า ประชาชน และประเทศชาติ”นายวิศิษฐ์กล่าว

อีกทั้งควรจัดให้มีการจัดหาการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนและธุรกิจโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก และสร้างความโปร่งใส ลดการใช้ดุลพินิจ และหาแนวทางพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้เกิดความยั่งยืนที่แท้จริง

อย่างไรก็ดีภาคเอกชน หวั่นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะเกิดการชะงักของการลงทุน จึงขอเสนอแนะรัฐบาลให้เร่งเบิกจ่ายงบลงทุน พร้อมกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจชะงัก และอาศัยโอกาสจากภาคการท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง ส่งเสริมและกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้ในกรอบประมาณการเศรษฐกิจเดิม

  • สรท.ชี้ปรับค่าแรงสอดคล้องศก.

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ในมุมภาคส่งออก การดูแลต้นทุนการผลิตผู้ประกอบการเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะค่าพลังงาน(นํ้ามันดีเซล)/ค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นเป็น 5 บาทต่อหน่วย ซึ่งสะท้อนต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาะค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนพลังงานที่ตํ่ากว่าไทย

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

ดังนั้นนโยบายที่ต้องเร่งดำเนินการของพรรค อาจต้องมองแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เป็นอันดับแรกเช่น เพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ต้นทุนตํ่า ลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ/ก๊าซแอลเอ็นจี หรือปรับสูตรค่าไฟฟ้า และกำไรที่ขายให้โรงไฟฟ้าโดยลดอัตราผลตอบแทนต่อปี หรือส่งเสริมให้มีกลไกตลาดเสรีของพลังงานหรือไฟฟ้าจากการเปิดให้บุคคลอื่นเข้ามาแข่งขัน

ส่วนนโยบายค่าแรงขั้นตํ่า 600 บาทต่อวัน เงินเดือนจบปริญญาตรี 25,000 บาทของพรรคเพื่อไทย นายชัยชาญระบุว่า ค่าแรงขั้นตํ่าปรับขึ้นล่าสุดมาอยู่ที่ 324-354 บาทต่อวัน หรือปรับขึ้นเฉลี่ยทั่วประเทศ 5% สะท้อนอัตราเงินเฟ้อที่ผ่านมาและสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายจริงที่ปรับเพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวันของแรงงาน

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าเป็นการดึงเงินของผู้ประกอบการหรือนายจ้างไปจ่ายค่าจ้าง ซึ่งการปรับค่าแรงขั้นตํ่ามีกระบวนการ ขั้นตอนในการดำเนินงานอย่างชัดเจนโดยผ่านคณะกรรมการไตรภาคี โดยมีการหารือเพื่อทบทวนแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงเป็นระยะต่อเนื่อง พร้อมทั้งต้องประเมินตามทิศทางสภาพเศรษฐกิจ ณ ช่วงเวลานั้นเป็นสำคัญ

 “การที่แต่ละพรรคการเมืองออกแคมเปญหาเสียง ด้วยการกำหนดตัวเลขที่ค่อนข้างสูงนั้น อาจต้องพิจารณาถึงความเป็นได้ของสถานการณ์เศรษฐกิจและสภาพการทางธุรกิจ ความอยู่รอดของผู้ประกอบการในการประคับประคองธุรกิจจากต้นทุนรอบด้านที่ปรับตัวสูงขึ้นพร้อมกันด้วย การปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าเร็วเกินไป อาจส่งผลต่อการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในการตัดสินใจ” นายชัยชาญกล่าว

  • ส.อ.ท.จี้รัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนศก.

ขณะที่นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจ FTI Poll เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ภายใต้หัวข้อ “นโยบายรัฐบาลใหม่ที่ภาคอุตสาหกรรมอยากได้” พบว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่จะได้รัฐบาลใหม่ และมีนโยบายใหม่ๆ ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน และคาดหวังรัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญกับกรอบนโยบายใน 5 เรื่อง ได้แก่

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

  1. การแก้ไขปัญหาต้นทุนพลังงานและการสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานให้แก่ประเทศ โดยเร่งเปิดเสรีพลังงานทางเลือก ส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้เองภายในโรงงาน
  2. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาและนำเทคโนโลยยี และนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต
  3. การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น โดยการเพิ่มบทลงโทษคนกระทำผิด และปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม  ให้มุ่งอำนวยความยุติธรรมโดยให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วเป็นสำคัญ
  4. การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจ และการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ด้วยการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับ SME และมาตรการช่วยเหลือต่างๆ
  5. การแก้ไขปัญหาโลกร้อน Climate change มาตรการกีดกันทางการค้า และการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)  เพื่อนำของเสียกลับมาสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่

ทั้งนี้ ในแต่ละเรื่องได้สำรวจความเห็นเจาะลึกในแต่ละประเด็นนโยบายย่อย เพื่อเป็นโจทย์ให้กับพรรคการเมืองที่มีการหาเสียงอยู่ในขณะนี้ นำไปใช้เป็นกรอบในการกำหนดนโยบายการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคตต่อไป

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,867 วันที่ 5 - 8 มีนาคม พ.ศ. 2566