“ผูกขาดตลาด”อุปสรรคขวางดีลควบรวม “Grab-GoTo” มูลค่า 2.38 แสนล้าน

06 ก.พ. 2568 | 13:37 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.พ. 2568 | 14:04 น.

วงการเทคสตาร์ทอัพฮือฮาขึ้นอีกครั้ง หลังกระแสข่าว 2 ยูนิคอร์นภูมิภาค Grab ยักษ์ใหญ่แห่งวงการ Ride-Hailing และ Food Delivery ที่กำลังพิจารณาควบรวมกิจการกับ GoTo Group คู่แข่งสำคัญจากอินโดนีเซีย มูลค่ากว่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 238,000 ล้านบาท)

การเจรจาของยักษ์ยูนิคอร์นของอาเซียน 2 ราย  สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในแวดวงธุรกิจเทคโนโลยีของภูมิภาค  จังหวะเวลาของดีลนี้น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเกิดขึ้นในช่วงที่ Grab กำลังโชว์ฟอร์มแกร่ง พลิกสถานการณ์จากการขาดทุน 99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,366 ล้านบาท) มาทำกำไรสุทธิได้ 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 510 ล้านบาท) ในไตรมาส 3 ปี 2567

“ผูกขาดตลาด”อุปสรรคขวางดีลควบรวม “Grab-GoTo” มูลค่า 2.38 แสนล้าน

พร้อมกับปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรทั้งปีเป็น 308-313 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10,472-10,642 ล้านบาท) จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 250-270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8,500-9,180 ล้านบาท)

“ผูกขาดตลาด”อุปสรรคขวางดีลควบรวม “Grab-GoTo” มูลค่า 2.38 แสนล้าน

ไม่เพียงเท่านั้น รายได้รวมของ Grab ในปี 2567 ก็ถูกปรับประมาณการเพิ่มขึ้นเป็น 2.76-2.78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 93,840-94,520 ล้านบาท) จากเดิม 2.70-2.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 91,800-93,500 ล้านบาท) สะท้อนถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งของธุรกิจ ขณะที่ GoTo Group กลับกำลังเผชิญช่วงขาลง ด้วยราคาหุ้นที่ร่วงลงถึง 77% จากจุด IPO และยังคงห่างไกลจากจุดคุ้มทุน

แม้ว่าทั้ง Grab และ GoTo Group จะมีการพูดคุยเรื่องการควบรวมกิจการมาเป็นระยะๆ ตลอดหลายปี แต่ครั้งนี้ดูจะมีความเป็นไปได้มากกว่าครั้งก่อนๆ ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลายประการ โดยเฉพาะความต้องการลดการแข่งขันที่รุนแรงและการเผชิญหน้ากันในตลาด ซึ่งกินทรัพยากรไปมหาศาลของทั้ง 2 ฝ่าย

“ผูกขาดตลาด”อุปสรรคขวางดีลควบรวม “Grab-GoTo” มูลค่า 2.38 แสนล้าน

หากดีลนี้เกิดขึ้นจริง จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับภูมิทัศน์ธุรกิจดิจิทัลในภูมิภาค โดยเฉพาะในตลาด Ride-hailing และ Food Delivery ที่ Grab ครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า Gojek ถึง 4 เท่า และมีส่วนแบ่งในตลาด Food Delivery สูงถึง 50% การควบรวมกิจการครั้งนี้จะยิ่งทำให้บริษัทใหม่มีอำนาจเหนือตลาดอย่างชัดเจน

ในด้าน Financial Services ก็จะเห็นการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นระหว่าง GFin ของ Grab กับ SeaMoney เมื่อได้รับการเสริมแกร่งด้วยฐานลูกค้าที่ขยายใหญ่ขึ้นจาก Gojek และ Tokopedia โดยเฉพาะในตลาดอินโดนีเซียที่ Gojek มีอิทธิพลสูง การผนวกกำลังครั้งนี้จะช่วยให้ GFin สามารถขยายบริการด้าน Digital Payments ไปสู่ อีคอมเมิร์ซ และการชำระเงินแบบดิจิทัลได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามเส้นทางสู่การควบรวมกิจการ ยังมีอุปสรรคสำคัญที่คนในวงการดิจิทัล มองว่าอาจไม่ใช่เรื่องง่าย   โดยเฉพาะอินโดนีเซีย หน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า  ขึ้นชื่อเรื่องการต่อต้านการควบรวมกิจการ ที่นำไปสู่การผูกขาดตลาด    ขณะเดียวกันยังมีความซับซ้อนของโครงสร้างผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่าง Tokopedia และ TikTok Shop ที่เพิ่งควบรวมกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เมื่อไม่นานมานี้

แม้ว่าประเด็นเรื่อง TikTok อาจไม่ใช่อุปสรรคใหญ่ เนื่องจาก TikTok ไม่ได้มีความสนใจในธุรกิจ Ride-hailing, Food Delivery หรือ Financial Services มากนัก แต่ก็เป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการเจรจาและจัดโครงสร้างการควบรวม

“ผูกขาดตลาด”อุปสรรคขวางดีลควบรวม “Grab-GoTo” มูลค่า 2.38 แสนล้าน

สำหรับผลกระทบต่ออุตสาหกรรม การควบรวม Grab และ GoTo Group อาจเป็นดาบสองคม ในแง่บวก จะช่วยลดการแข่งขันที่รุนแรงและการเผาเงินที่ไม่จำเป็น ทำให้บริษัทสามารถมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมและบริการใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดีขึ้น

แต่ในแง่ลบ การมีผู้เล่นรายใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาดอย่างชัดเจน อาจส่งผลต่อการแข่งขันในระยะยาว ผู้ประกอบการรายเล็กอาจถูกบีบให้ออกจากตลาด และผู้บริโภคอาจต้องเผชิญกับราคาค่าบริการที่สูงขึ้นเมื่อการแข่งขันลดลง

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้สอบถามข่าวการควบรวม Grab กับ GoTo Group ไปยัง แกร็บ ประเทศไทย   โดยได้รับการแจ้งว่าบริษัทแม่ไม่มีประกาศใดๆ ในเรื่องดังกล่าวออกมา ซึ่งปกติบริษัทจะไม่มีความเห็นกับข่าวที่มีการคาดการณ์

อย่างไรก็ตามกระแสการควบรวมกิจการ  Grab กับ GoTo Group  นั้นไม่มีผลกับประเทศไทยโดยตรง  เนื่องจากที่ผ่านมาธุรกิจ Ride-hailing และ Food Delivery ของ GoTo Group  ที่เดิมเข้ามาให้บริการในไทยเมื่อปี 2563 ภายหลัง Gojek เข้ามาซื้อกิจการจาก GET   หลังจากนั้นได้ปิดตัวไป โดยประกาศหยุดให้บริการไปตั้งแต่ 31 กรกฎาคม 2564

ขณะที่แกร็บ ประเทศไทย ที่จดทะเบียนภายใต้ชื่อ บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด  นั้นมีผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง โดยจากตรวจสอบงบการเงินผ่าน Creden Data  ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2562-2566) มีการเติบโตของรายได้หลักอย่างต่อเนื่อง จาก 2,855 ล้านบาท ในปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 15,485 ล้านบาท  ในปี 2566 หรือเติบโตกว่า 5 เท่าในระยะเวลา 5 ปีรายได้รวมในปี 2566 อยู่ที่ 15,622 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8% จากปี 2565

โดยบริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด  ประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องในช่วงปี 2562-2564  อย่างไรก็ตามพลิกกลับมาทำกำไรได้ในปี 2565-2566  โดยปี 2566 มีกำไรสูงสุดที่ 1,308 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 127% จากปีก่อน

- ปี 2562 ขาดทุนสูงสุดที่ 1,650 ล้านบาท

- ปี 2563 ขาดทุน 284 ล้านบาท

- ปี 2564 ขาดทุน 325 ล้านบาท

- ปี 2565 มีกำไรสุทธิ 576 ล้านบาท

- ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 1,308 ล้านบาท