เกษตรไทยเผชิญ 3 ความท้าทาย เร่งติดอาวุธนวัตกรรมปลดล็อคสู่ความยั่งยืน

06 ธ.ค. 2567 | 10:49 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ธ.ค. 2567 | 11:05 น.

ภาคเกษตรไทยเผชิญ 3 ความท้าทายหลัก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเข้าถึงเทคโนโลยี ขาดความรู้ด้านการเกษตรที่ยั่งยืน เร่งผลักดันการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับภาคเกษตรสู่ความยั่งยืน

นายสมศักดิ์ สมานวงศ์ นายกสมาคมอารักขาพืชแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แม้ภาคการเกษตรจะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศและใช้แรงงานกว่า 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานทั้งหมด แต่กลับสร้างรายได้เพียง 8% ของ GDP เท่านั้น ปัจจุบันภาคการเกษตรไทยกำลังเผชิญความท้าทายสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง เช่น ปัญหาน้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร 2.การเข้าถึงเทคโนโลยีที่จำกัด และ 3.การขาดความรู้ด้านการเกษตรยั่งยืน

เกษตรไทยเผชิญ 3 ความท้าทาย เร่งติดอาวุธนวัตกรรมปลดล็อคสู่ความยั่งยืน

โดยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรปี 2566 ระบุว่า เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาเครื่องมือทางการเกษตรแบบดั้งเดิม

ทั้งนี้การสนับสนุนและส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตรไทยเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน มาเลเซีย และเวียดนาม ขั้นตอนสำคัญต่อไปคือการปรับกระบวนการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การสนับสนุนที่ตรงเป้าหมาย และการปรับปรุงการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และแนวทางปฏิบัติขั้นสูงสำหรับเกษตรกร โดยต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการปลดล็อกโซลูชันที่ชาญฉลาดและยั่งยืน เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพพืชผลให้ตอบสนองความต้องการอาหารทั่วโลก พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเกษตรยั่งยืนในระดับโลก

เกษตรไทยเผชิญ 3 ความท้าทาย เร่งติดอาวุธนวัตกรรมปลดล็อคสู่ความยั่งยืน

ด้านนางสาวมณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า การทรานส์ฟอร์มภาคการเกษตรจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงใน 5 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย 1.การเปลี่ยนจากการใช้แรงงานเข้มข้นสู่การเกษตรอัตโนมัติ 2.การลดการพึ่งพาพ่อค้าคนกลางสู่การสร้างรายได้ทางตรง 3.การปรับจากตลาดที่ควบคุมโดยอุปทานสู่ตลาดเสรี 4.การสนับสนุนการลดขยะ และ 5.การวางตำแหน่งประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านการเกษตรสมัยใหม่

ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่า การปรับเปลี่ยนมาใช้สารเคมีเกษตรยั่งยืนอย่าง green chemistry จะช่วยลดการใช้พลังงาน ความเสี่ยง ค่าใช้จ่าย และการสูญเสีย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย BCG Economy ของรัฐบาล นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรไทยปรับตัวสู่แนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ผู้บริโภคก็จะได้รับผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในปี 2593 ความต้องการอาหารทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ดังนั้นทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเร่งเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้น

เกษตรไทยเผชิญ 3 ความท้าทาย เร่งติดอาวุธนวัตกรรมปลดล็อคสู่ความยั่งยืน

ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติระบุว่า เทคโนโลยีเกิดใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นกุญแจสำคัญของภาคการเกษตร โดยปัจจุบันไทยมีสตาร์ทอัพด้านเกษตรกรรมกว่า 80 ราย คิดเป็นมูลค่าการลงทุนมากกว่า 1.7 ล้านล้านบาท