นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในฐานะโฆษกกระทรวงดีอี กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 22-28 พฤศจิกายน 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 835,284 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 655 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 609 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 44 ข้อความ Website จำนวน 2 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 245 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 69 เรื่อง โดยในจำนวนนี้เป็นข่าวปลอมเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง ออมสินปล่อยกู้เงินด่วน กู้ได้ทุกอาชีพ ผ่านเพจ กู้ง่าย ทันใจ
อันดับที่ 2 : เรื่อง กรมการขนส่งทางบก เปิดทำใบขับขี่ใหม่หรือต่ออายุ ผ่านเพจ Business 822
อันดับที่ 3 : เรื่อง ใบรับรองการซื้อหุ้น ออกโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
อันดับที่ 4 : เรื่อง ปปง. เปิดลงทะเบียนรับเงินคืนจากการถูกโกงออนไลน์ผ่านเพจ Corruption Consultation and Suppression Center
อันดับที่ 5 : เรื่อง ท่าอากาศยานดอนเมือง เปิดเพจเฟซบุ๊กใหม่ ชื่อ Don Mueang International Airport DMK
อันดับที่ 6 : เรื่อง ลงทะเบียนยื่นสิทธิ์รับเงินคืน ผ่านเพจ Human assistance organization, online anti-C.rruption
อันดับที่ 7 : เรื่อง นิคมอุตสาหกรรมอมตะ เปิดให้ลงทุนกองทุนรายวัน ปันผล 15-30% ต่อวัน และกองทุนรวม ปันผล 5-7% ต่อสัปดาห์ โดย ก.ล.ต.
อันดับที่ 8 : เรื่อง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ประกาศเปิดรับสมัครงานทำที่บ้าน ผ่านเพจ Department of skill
อันดับที่ 9 : เรื่อง ธ.ก.ส. เปิดช่องทางติดต่อผ่านไลน์ ธ.ก.ส. BAAC Thailand
อันดับที่ 10 : เรื่อง ก.ล.ต. รับรอง ลงทุนหุ้น cp axtra ผ่าน TikTok trade_talk_today ได้ผลตอบแทนสูง
“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ สถาบันการเงินของรัฐ โดยเฉพาะโครงการสินเชื่อ การชวนลงทุน และโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาผู้เสียหายจากคดีอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อประชาชน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความวิตกกังวล และอาจทำให้ประชาชน ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ สร้างความเสียหายทั้งทรัพย์สินและข้อมูลส่วนบุคคลได้ ซึ่งส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วประเทศเป็นวงกว้าง หากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม” นายเวทางค์ กล่าว
สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “ออมสินปล่อยกู้เงินด่วน กู้ได้ทุกอาชีพ ผ่านเพจ กู้ง่าย ทันใจ” กระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับธนาคารออมสิน กระทรวงการคลัง พบว่า เป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า เพจเฟซบุ๊กชื่อ “กู้ง่าย ทันใจ” ไม่ใช่เพจของ ธ.ออมสิน และ ธ.ออมสิน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลของเพจดังกล่าวใด ๆ ทั้งยังเป็นการแอบอ้างนำโลโก้ของธนาคารมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยธนาคารไม่มีการปล่อยสินเชื่อ ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก แอปพลิเคชันไลน์ และ Messenger อีกทั้ง ได้ยกเลิกการส่ง SMS ที่แนบลิงก์ให้ลูกค้าแล้ว
ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อเพจดังกล่าวที่มีการแอบอ้างชื่อของธนาคารในการชักชวนลักษณะนี้ หากต้องการถติดตามข่าวสารจากธนาคาร สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.gsb.or.th, แอปพลิเคชัน MyMo, Social Media ช่องทาง GSB Society และ GSB Now เท่านั้น