“สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ” บอร์ด กสทช. เปิดภารกิจ 2 เรื่อง ประมูลดาวเทียม – มือถือ

03 ต.ค. 2567 | 06:05 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ต.ค. 2567 | 09:42 น.

“สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ” บอร์ด กสทช. ด้านโทรคมนาคม เปิดภารกิจ 2 เรื่องหลัก ประมูลวงโคจรดาวเทียม – คลื่นความถี่มือถือ จับตาย่าน 2100 และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ “AIS-TRUE” กัดไม่ปล่อย

ผ่านไปแล้วกว่า 1 ปี บนเก้าอี้ บอร์ด กสทช. ของ รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม ที่ได้รับผ่านการโหวตจาก สว. เป็น กรรมการ กสทช. คนสุดท้ายในลำดับที่ 7  

ล่าสุด รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม  ได้ให้ สัมภาษณ์ ถึงภารกิจเร่งด่วนที่สำคัญที่รับผิดชอบด้านกิจการโทรคมนาคม มีด้วยกัน 2 เรื่อง คือ

  • วงโคจรดาวเทียม
  •  ประมูลคลื่นมือถือ โดยจะเปิดประมูลในไตรมาส 1/ 2568

 

ภารกิจหลัก

สำหรับภารกิจ ด้านโทรคมนาคม ที่กำลังผลักดันอยู่ในขณะนี้ คือ การรักษาสิทธิวงโคจรดาวเทียม  ขณะนี้ได้ออกหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ณ ตำแหน่งวงโคจร  50.5 / 51 / 142 องศาตะวันออก

ล่าสุด สำนักงาน กสทช. ได้ออกหลักเกณฑ์และขั้นตอนกระบวนการคัดเลือก ได้กำหนดระยะเวลาดังนี้

• เปิดยื่นคำขอรับอนุญาต ในวันที่ 7 ตุลาคม 2567

• ขั้นตอนต่อมา คือ การตรวจสอบคุณสมบัติ

• ข้อเสนอของผู้ขอรับอนุญาต กรอบระยะเวลา 8-10 ตุลาคม 2567

• ถัดจากนั้น คณะกรรมการประเมินเจรจาต่อรองข้อเสนอของผู้ขอรับอนุญาต ในวันที่ 11 ตุลาคม 2567 

• หลังจากนั้น คณะกรรมการประเมินนำเสนอผลการตรวจสอบคุณสมบัติและผลการตัดสินผู้ได้รับอนุญาตให้ กสทช. พิจารณา ในวันที่ 16 ตุลาคม 2567 และ ประกาศรายชื่อผู้ได้รับอนุญาต ในวันที่ 17 ตุลาคม 2567

รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์

ไตรมาส 1/2568  เปิดประมูล 5 ย่านความถี่มือถือดังนี้  

  • 850 เมกะเฮิรตซ์
  •  1500   เมกะเฮิรตซ์ 
  • 1800 เมกะเฮิรตซ์
  • 2100  เมกะเฮิรตซ์
  •  2300 เมกะเฮิรตซ์

โดยสำนักงาน กสทช. จะพิจารณาทางเลือกการประมูลคลื่นความถี่ทีละย่าน ทีละกลุ่ม หรือ ทุกย่านพร้อมกันรวดเดียว เนื่องจากการประมูลความถี่สอดคล้องกับความต้องการใช้งานในระยะเวลา 5 ปี (2567 - 2571 ) และ เป็นไปตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ และแผนการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (IMT Spectrum

สำหรับ คลื่น 850, 2100 และ 2300 เมกะเฮิรตซ์  บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ได้รับสิทธิ์ถือครองคลื่นความถี่ สิ้นสุดอายุใบอนุญาตในวันที่ 3 สิงหาคม 2568 นี้

"จริงๆ อยากจะนำย่านความถี่ออกมาประมูลก่อนต้นปีหน้า แต่ต้องรอทางสำนักงาน กสทช.นำเสนอเรื่องประมูลคลื่นเข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช.ให้พิจารณา"

ส่วน คลื่นความถี่ 3500 เมกะเฮิรตซ์ อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการประมูลจัดสรรคลื่นย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์  (3300 – 4200 เมกะเฮิรตซ์) โดยคำนึงถึงแผนการย้ายการใช้งานทีวีจานดำ (TVRO) และ การใช้งานสำหรับ 5G Private Network ในอุตสาหกรรม ดังนั้นแผนการประมูลและจัดสรรคลื่นความถี่ช่วงแรก 3300 – 3700 เมกะเฮิรตซ์ เน้นสำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (IMT) ในช่วงปี พ.ศ.2570  และ แผนประมูลจัดสรรคลื่นความถี่ช่วงที่สอง 3700 – 4200 เมกะเฮิรตซ์ในปี 2572

คลื่น 1500 เมกะเฮิรตซ์ ใครได้สิทธิ์

คลื่น 1500 เมกะเฮิรตซ์ เป็นของสำนักงาน กสทช. คลื่นย่านนี้ไม่ได้นำออกมาประมูล   ดังนั้น กสทช.เห็นว่าในเมื่อคลื่นยังไม่มีใครได้สิทธิ์จึงดึงนำคลื่นความถี่นี้ออกมาประมูล

ราคาประมูลขั้นต่ำกำหนดแล้วหรือยัง

ราคาประมูลคลื่นความถี่มือถือ รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์ ทำหน้าที่รับผิดชอบกำหนดกรอบราคาประมูลคลื่นความถี่

คิดว่าคลื่นความถี่ย่านไหนเอกชนสนใจมากที่สุด

AIS และ TRUE สนใจคลื่นความถี่ย่าน 2100 และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ มากที่สุด เพราะ โอเปอเรเตอร์มีคลื่นความถี่ให้บริการอยู่แล้ว ไม่เพียงเท่านี้แนวโน้มพฤติกรรมปริมาณการใช้ดาต้าเพิ่มสูงขึ้น แบนด์วิธที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอ คลื่นย่าน 2100 และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ ตอบโจทย์ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มากที่สุด   โดยเฉพาะคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ น่าจะแข่งขันรุนแรงที่สุดเพราะอยู่ในความต้องการค่ายมือถือ

นอกจากนี้ กสทช. ยังมีแนวความคิดในการนำคลื่นที่จะหมดเวลาใบอนุญาตในปี 2570 อีก 20 เมกะเฮิรตซ์ นำมารวมกับคลื่นที่จะประมูลในรอบนี้ 40 เมกะเฮิรตซ์เป็นคลื่นผืนใหญ่ที่ 60 เมกะเฮิรตซ์ โดยแนวคิดนี้โอเปอเรเตอร์มีความสนใจแต่คงอยู่ที่สำนักงาน กสทช. กำหนดเงื่อนไขอย่างไร

“ส่วนตัวไม่อยากให้ราคาประมูลคลื่นความถี่สูงมากเกินไปเพราะสุดท้ายผู้บริโภคจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ".