องค์กรสนใจลงทุน Gen AI เพิ่ม ข้อมูล-ความเสี่ยงอุปสรรคใช้งาน

30 ส.ค. 2567 | 08:06 น.

ดีลอยท์ เผยผลสำรวจแนวโน้มองค์กรนำ Generative AI มาใช้ ระบุแม้มีความสนใจ และลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ 3 ใน 4 ของปัญหาที่ขัดขวางการงานใช้ Gen AI ได้อย่างประสบความสำเร็จนั้นล้วนเกี่ยวข้องกับข้อมูลและความเสี่ยงทั้งสิ้น

สถาบัน AI ของดีลอยท์ เปิดเผยรายงานฉบับไตรมาส 3 ของ “State of Generative AI in the Enterprise” เกี่ยวกับแนวโน้มการนำ Gen AI มาใช้ในองค์กร การปรับใช้ ตลอดจนวิธีการที่องค์กรเอาชนะอุปสรรคและสร้างประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้อย่างเต็มที่ในวงกว้าง

องค์กรสนใจลงทุน Gen AI เพิ่ม ข้อมูล-ความเสี่ยงอุปสรรคใช้งาน

นายจิม โรแวน Applied AI Leader and Principal, บริษัทดีลอยท์ คอนซัลติ้ง แอลแอลพี จำกัด กล่าวว่าขณะที่การทดลองใช้งานเริ่มให้ผลเป็นรูปร่าง ทำให้เห็นชัดว่าเรามาถึงช่วงเวลาสำคัญสำหรับ Generative AI หรือ Gen AI องค์กรจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างความคาดหวังของผู้นำกับความท้าทายในด้านต่างๆ เช่น คุณภาพข้อมูล ค่าใช้จ่ายในการลงทุน การวัดผลอย่างมีประสิทธิภาพ และภูมิทัศน์ด้านกฎระเบียบที่กำลังเปลี่ยนแปลง การสำรวจไตรมาสที่ 3 ของเราแสดงให้เห็นว่า การจัดการการเปลี่ยนแปลงและการบูรณาการอย่างเต็มรูปแบบเป็นสิ่งสำคัญในการที่องค์กรจะเอาชนะอุปสรรค ปลดล็อกคุณค่า และสร้างอนาคตให้ Gen AI ในองค์กร”

ขณะที่ นายคอสติ เปริโกส Generative AI Leader บริษัท ดีลอยท์ โกลบอล กล่าวว่าองค์กรต่างๆมีความตื่นเต้นและสนใจใน Gen AI อย่างต่อเนื่อง และผู้นำองค์กรพบว่า AI จะมีคุณค่ามากที่สุดเมื่อนำไปใช้ในส่วนงานและกระบวนการทางธุรกิจที่สำคัญขององค์กร รายงานของดีลอยท์ชี้ให้เห็นว่าประโยชน์สูงสุดของ Gen AI นั้นมีมากกว่าแค่การปรับปรุงประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และการลดต้นทุน โดยผู้บริหารกว่าครึ่งระบุว่า Gen  AI ส่งผลให้เกิด นวัตกรรมเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีขึ้น

ความสัมพันธ์กับลูกค้าที่ดีขึ้น และสร้างคุณค่าในด้านอื่นๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและประโยชน์มหาศาลของ GenAI

 ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า แม้ผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการบริษัท ยังคงตื่นเต้นกับ Gen AI แต่เริ่มมีสัญญาณว่าความกระตือรือร้นอาจลดลงเมื่อความตื่นเต้นกับ “เทคโนโลยีใหม่” เริ่มจางหาย ความสนใจใน Gen AI ยังคงอยู่ในระดับ “สูง” หรือ “สูงมาก” โดย ผู้บริหารระดับสูงสนใจ 63% และคณะกรรมการ 53% แต่ลดลงจากการสำรวจในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 ราว 11% และ 8% ตามลำดับ ขณะที่เป้าหมายขององค์กรคือการเลือกโครงการ Gen AI ที่มีศักยภาพสูงสุดและขยายขนาดโครงการได้อย่างรวดเร็วเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่โครงการด้าน Gen AI หลายโครงการยังคงอยู่ในขั้นทดลองหรือพิสูจน์แนวคิด (proof-of-concept) โดยส่วนใหญ่ของผู้ตอบแบบสอบถาม หรือราว 68% ระบุว่าองค์กรของตนมีการขยับจากการใช้ Gen AI ในขั้นทดลอง ราว 30% หรือน้อยกว่า ไปสู่โครงการเต็มรูปแบบ

ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่อง AI โดยองค์กร 75% เพิ่มการลงทุนด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลเนื่องจาก Gen AI อย่างไรก็ตาม องค์กรต่างประสบปัญหาที่คาดไม่ถึงในการขยายขนาดโครงการ โดยปัญหาที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลทำให้องค์กรที่ร่วมการสำรวจ 55% หลีกเลี่ยงการใช้งาน Gen AI บางอย่าง การแก้ไขปัญหาข้อจำกัดด้านข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการนำ Gen AI ไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อปรับปรุงความสามารถด้านข้อมูลให้ทันสมัย องค์กร 54% มีการเพิ่มการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ขณะที่องค์กร 48% มีการปรับปรุงแนวปฏิบัติในการจัดการคุณภาพข้อมูล และ องค์กร 45% มีการปรับกรอบในการกำกับดูแลข้อมูลและ/หรือ พัฒนานโยบายข้อมูล

 ความกังวลเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือและกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายองค์กรต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง โดยพยายามจำกัดความเสี่ยงแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่กลัวกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจนเกินไป

แม้ผู้ตอบแบบสอบถามจะตระหนักว่าการจัดการความเสี่ยงในการใช้ Gen  AI เป็นเรื่องสำคัญ แต่ 3 ใน 4 ของปัญหาที่ขัดขวางการงานใช้ Gen AI ได้อย่างประสบความสำเร็จนั้นล้วนเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงทั้งสิ้น เช่น ความกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎระเบียบ 36% ความยากลำบากในการจัดการความเสี่ยง 30% และการขาดกรอบการกำกับดูแล 29% ความกังวลเหล่านี้เกิดจากความเสี่ยงเฉพาะของ Gen AI เช่น ข้อผิดพลาดที่เกิดจากสมมติฐานและข้อจำกัดของแบบจำลอง (Model Bias) การสร้างข้อมูลหรือเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องหรือไม่สมเหตุสมผล (AI hallucinations) ความกังวลใหม่ๆ เกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว ความน่าเชื่อถือ และ การป้องกันช่องทางในการโจมตีใหม่ๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างความมั่นใจว่ามีการใช้งานอย่างรับผิดชอบ องค์กรมีการกำหนดมาตรการควบคุมและสร้างความสามารถในการตรวจสอบ โดยการดำเนินการในอันดับต้นๆ ขององค์กรในเรื่องนี้ ได้แก่ การกำหนดกรอบการกำกับดูแลในการใช้เครื่องมือและแอปพลิเคชัน Gen AI ราว 51% การตรวจสอบข้อกำหนดทางกฎหมายและการปฏิบัติตามกฎระเบียบ 49% และการตรวจสอบภายใน/การทดสอบเครื่องมือและแอปพลิเคชัน GenAI ราว 43%

 ขณะที่องค์กรที่ร่วมตอบแบบสำรวจ เริ่มมีการพัฒนาโครงการ Gen AI ไปไกลกว่าขั้นตอนการพิสูจน์แนวคิด (proof-of-concept) แต่องค์กร 41% ยังระบุว่าพบความยากลำบากในการกำหนดและวัดผลกระทบที่แท้จริงของโครงการ Gen AI และมีองค์กรเพียง 16% เท่านั้น ที่มีการทำรายงานถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากโครงการเพื่อเสนอ CFO อย่างสม่ำเสมอ เมื่อการใช้งานและกรณีศึกษาต่างๆ มีความชัดเจนมากขึ้น

 ผู้บริหารระดับสูงมีแนวโน้มที่จะไม่ตัดสินใจลงทุนเพียงเพราะภาพที่สวยงามหรือเพียงกลัวว่าจะตกกระแสเท่านั้น แต่จะพิจารณาจากผลการวัดที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาความสนใจและการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการบริษัท เพื่อพิสูจน์ศักยภาพและมูลค่าที่แท้จริง องค์กร 48% มีการกำหนดตัวชี้วัดผลสำเร็จ (KPIs) เพื่อประเมินประสิทธิภาพของ Gen AI ราว 38% มีการกำหนดกรอบการประเมินการลงทุนในโครงการ และที่ 38% เท่ากัน มีการติดตามการเปลี่ยนแปลงของประสิทธิผลของพนักงานจากการใช้ Gen AI