หนึ่งในเทคโนโลยีที่โตแรงที่สุดในปีที่ผ่านมาก็คืออากาศยานไร้คนขับ หรือที่วันนี้คนไทยรู้จักกันทั่วประเทศว่า “โดรน” ที่ได้แทรกซึมเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยประโยชน์ทางตรงมักจะถูกนำมาช่วยทำงานในสิ่งที่คนทำไม่ได้และช่วยต่อยอดธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ในตลาด เช่น การสำรวจท่อส่งก๊าซ การเก็บข้อมูลสภาพอากาศ รายงานสภาพการจราจร และการสำรวจพื้นที่การเกษตรและชลประทาน
ส่วนประโยชน์ทางอ้อมก็เช่น การทำให้คนเห็นมุมมองใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากภาพถ่ายโดรน หรือความบันเทิงที่ถูกถ่ายทอดบนช่องทางต่างๆ
ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ARV ผู้นำด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า กระแสนิยมอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน ทำให้มูลค่าทางการตลาดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงถึง 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังคาดว่าจะมีการซื้อขายพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2573 จะเติบโตสูงกว่า 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการเติบโตนี้ก็ถือเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนหรือบริษัทผู้ผลิตโดรนเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีอันทันสมัย และสร้างโซลูชันต่างๆ ได้อย่างไม่รู้จบ อย่างไรก็ตาม การเติบโตในด้านมูลค่าอาจไม่ใช่ตัวชี้วัดทั้งหมด เมื่อเทียบกับการนำไปใช้จริงในหลากหลายภาคส่วนซึ่งวันนี้
แนวโน้มการใช้โดรนอย่างเข้มข้นขึ้นใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมของปีนี้ ประกอบด้วยวงการเกษตร-ป่าไม้ : ปัจจุบันมีการใช้โดรนกับการสำรวจพื้นที่ป่าไม้ได้มากกว่าการใช้แรงงานคนถึง 10 เท่า ช่วยติดตามและวิเคราะห์พื้นที่สีเขียวที่มีขนาดใหญ่ รวมถึงบริหารจัดการและวาง แผนฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว และช่วยเก็บข้อมูลจำนวนการดูดซับคาร์บอนในพืชและในป่าไม้ และทางบริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด หรือ VARUNA บริษัทในกลุ่ม ARV คิดค้นเทคโนโลยี Smart Forest Solution ที่ใช้เทคโนโลยีดาวเทียม (Satellite) ภาพถ่าย โดรนสำรวจและข้อมูลภาคพื้นดิน หรือโดรนมัลติสเปกตรัม (Multispectral Drone) เพื่อใช้ในการประมวลผลข้อมูลเชิงพื้นที่ ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผ่านแพลตฟอร์ม “Varuna Analytics” และวางแผนติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่สีเขียวในภาคเกษตรและป่าไม้ได้อย่างครบวงจรและยั่งยืน
วงการโลจิสติกส์ และอีคอมเมิร์ซ : ภาคโลจิสติกส์และอีคอมเมิร์ซเป็นอีกอุตสาหกรรมที่กำลังจะเติบโต และโดรนก็ได้เข้ามามีบทบาทในเชิงพาณิชย์มากขึ้น จากการผสมผสานความสามารถการทำงานของโดรนผนวกกับอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงซึ่งช่วยการขนส่งที่รวดเร็วมากกว่ายานพาหนะปกติทั่วไป การส่งในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก ตลอดจนในภาวะฉุกเฉินที่โดรน สามารถทำงานเดินทางไปถึงและเก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ ตัดสินใจ หรือแม้กระทั่งการทำงานอย่างอัตโนมัติโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาคำสั่งของมนุษย์
วงการกีฬาและความบันเทิง : โดรนได้ถูกพัฒนาให้เป็นการแข่งขันกีฬา โดยนำมาใช้ประโยชน์ต่อการถ่ายทอด การถ่ายภาพ เช่น อุตสาหกรรม บันเทิงก็ได้มีการนำโดรนมาช่วยในด้านการสร้างคอนเทนต์จากมุมสูงในงานนิทรรศการต่างๆ หรือการถ่ายทำฉากที่ต้องการภาพในมุมสูงของภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง อันจะนำไปสู่การสร้างโอกาสทางการตลาดได้อีกมากมาย
วงการคมนาคม ด้านการก่อสร้าง และบริการฉุกเฉิน : ในปัจจุบันมีการใช้โดรนเพื่อช่วยเรื่องการจราจรหรือในกรณีสถานที่ที่คนเข้าถึงได้ยาก ยกตัวอย่างเช่น ARV ได้นำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับอัตโนมัติ ‘HORRUS’ มาสำรวจสภาพการจราจรให้กับกรมทางหลวงเพื่อเฝ้าระวังอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา และมีความโดดเด่นด้วยการผสานเทคโนโลยี 5G ที่ช่วยให้การส่งภาพผ่านระบบออนไลน์เพื่อนำมาวิเคราะห์และประกอบการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ได้อย่างเรียลไทม์ แม่นยำและได้ในระยะไกลยิ่งขึ้น ซึ่งการนำ HORRUS มาใช้ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จในการช่วยให้เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงสามารถตัดสินใจและบริหารจัดการการระบายช่องทางการเดินรถได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ส่วนในด้านการก่อสร้างโดรนจะมีบทบาทช่วยบินสำรวจพื้นที่ พิจารณาทำเลที่ตั้ง ศึกษาสภาพแวดล้อมในบริเวณโครงการได้ พร้อมยังช่วยให้การคำนวณ การจับภาพ การตรวจสอบ และการประมวลผลต่างๆ ที่ให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ ลดความผิดพลาดลง ซึ่งปัจจุบันบริษัท สไกลเลอร์ โซลูชั่นส์ จำกัด หรือ SKYLLER ในกลุ่ม ARV พร้อมให้บริการตรวจสอบอุปกรณ์ในงานอุตสาหกรรมและงานโครงสร้าง ขนาดใหญ่ ผ่าน Skyller Platform ระบบจัดการความสมบูรณ์ของทรัพย์สินและโครงสร้างต่างๆ พร้อมทีมนักบินผู้เชี่ยวชาญ (DaaS) ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลการตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
ด้านความปลอดภัยหรือป้องกันประเทศ : ได้มีการนำโดรนมาใช้ในการสืบสวน ซึ่งในวงการตำรวจไทยที่ผ่านมาพบว่ามีการนำโดรนมาใช้ในงานสืบสวนบ้างแล้ว เช่น การใช้โดรนไล่ล่าผู้ต้องหาที่หลบหนีการจับกุมในคดียาเสพติด หรือนำโดรนมาใช้ในงานป้องกันอาชญากรรม ส่วนในต่างประเทศ เช่น การบินดูที่เกิดเหตุคดีจราจร (Traffic Accident Scene Investigations) การค้นหาคนหาย (Search for Missing Persons) การระบุตำแหน่งที่อยู่ของผู้ต้องสงสัย (Location of Suspects) ภารกิจในการไล่ล่าหรือค้นหา (Perquisitions) หรือปฏิบัติการช่วยชีวิต (Rescue Operations)
จากข้างต้นจะเห็นได้ว่าการนำโดรนมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม สาเหตุหลักมาจากภาคธุรกิจโดรนได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เชื่อว่าในปีนี้การดำเนินกิจกรรมและไลฟ์สไตล์ของหลายๆ คน จะต้องมีความเกี่ยวพันกับโดรนและได้รับประโยชน์ในมิติต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกันกับ ARV ที่มีแผนในการพัฒนาโดรนเพื่อใช้ในวงการต่างๆ ด้วยความสามารถทางเทคโนโลยีที่มากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน