ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา AI เติบโตและแพร่หลายเป็นอย่างมาก ซึ่งได้แทรกซึมอยู่ในชีวิตดิจิทัลของมนุษย์แทบทุกเรื่อง โดยทำหน้าที่เป็นสมองอันชาญฉลาด เช่น การสั่งงานด้วยเสียงของโทรศัพท์มือถือ การจดจำใบหน้าผู้เป็นเจ้าของโทรศัพท์ แม้กระทั่งหุ่นยนต์ทำความสะอาดบ้าน ตู้เย็น ทีวี ต่างก็เริ่มมีปัญญาประดิษฐ์มาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบแล้วทั้งนั้น
ไม่เพียงแต่ Gadget ในชีวิตประจำวัน แต่ AI ยังมีบทบาทต่อเศรษฐกิจที่หลาย ๆ ประเทศเร่งพยายามผลักดันโมเดล “เศรษฐกิจ AI” และกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ นำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหลาย ๆ มิติ ซึ่งในวันนี้ AI ได้เข้ามามีบทบาทแล้วในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานใต้ทะเล ต่อเนื่องไปถึงการทำงานแทนมนุษย์ที่แต่เดิมอาจมีความเสี่ยงหรือเผชิญอันตราย และทำให้วิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว
AI กับบริบทการพัฒนาอุตสาหกรรมชายฝั่ง
หากพูดถึงแนวโน้มและความจำเป็นต่อการนำ AI มาใช้กับการปฏิบัติงานชายฝั่งทะเล และนอกชายฝั่งทะเลในประเทศไทยก็มีความน่าสนใจไม่น้อย โดยบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี (ARV) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ และพัฒนาโซลูชัน AI เพื่อใช้พัฒนาบริบทเศรษฐกิจและสังคมในไทยได้ให้ข้อมูลว่า AI มีความจำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมทางทะเลในมิติดังนี้
• การสำรวจและซ่อมแซมความผิดปกติโครงสร้างพื้นฐานใต้ทะเล เช่น ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ที่ปัจจุบันไทยก็เป็นประเทศที่มีผลประโยชน์ทางทะเลในหลายด้าน ซึ่งทำให้ AI มีบทบาทอย่างมากต่อการเข้าไปสำรวจ ตรวจสอบ รายงานความผิดปกติให้กับหน่วยงานได้รับทราบ และทำการซ่อมบำรุงแทนมนุษย์
• AI สำหรับป้องกันการถูกทำลาย ทั้งในมิติความเสี่ยงต่อการถูกทำลายโดยภัยธรรมชาติ จากการใช้ AI ที่มาจากการรวมข้อมูลดาวเทียม สถานีตรวจอากาศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการรู้สถานการณ์ล่วงหน้า และช่วยให้สามารถออกแบบกลไกการป้องกันหรือตอบสนองได้ทันท่วงที ทำให้จากเดิมที่เคยสูญทรัพย์สิน ทรัพยากรมนุษย์ มีแนวโน้มลดลงและสามารถนำโซลูชันที่ได้จากการดีไซน์ของ AI ไปใช้ได้ในอนาคต
• การสำรวจแหล่งทรัพยากร หรือแหล่งพลังงาน ที่ปัจจุบัน AI มีความแม่นยำอย่างมากในการนำข้อมูลจากภาพลักษณะภูมิประเทศ หรืออัตราความสมบูรณ์ของพื้นที่มาวิเคราะห์ได้ว่าพื้นที่ชายฝั่ง หรือพื้นที่ทางทะเลส่วนไหนที่ยังสามารถนำทรัพยากรมาใช้
โอกาส - การพัฒนา - การเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก
เออาร์วี (ARV) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ เป็นผู้ที่เล็งเห็นความสำคัญด้านเทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยได้ใช้ความเชี่ยวชาญเรื่องเทคฯ ต่อยอดหลอมรวมกับระบบ AI หุ่นยนต์, Big Data และการสื่อสาร 5G ให้ประสานการทำงานร่วมกันอย่างครบวงจร อีกทั้งต่อยอดสร้างหุ่นยนต์อัตโนมัติเต็มรูปแบบที่สามารถปฏิวัติการดำเนินงานนอกชายฝั่งได้ และเกิดเป็นพลังแห่งนวัตกรรมที่เพิ่มขีดความสามารถที่ชาญฉลาดในการดำเนินงาน
โดยล่าสุดเออาร์วี ได้ตอกย้ำความสำเร็จด้านนวัตกรรมที่น่าทึ่งและพร้อมเผยความสำเร็จระดับโลกด้วยการนำ 3 กลุ่มสุดยอดนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานนอกชายฝั่ง ได้แก่ หุ่นยนต์ปฏิบัติการบนแท่นขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่ง หรือ “Wellhead Robot” เทคโนโลยีโดรนอัตโนมัติไร้คนขับ หรือ “Horrus” และหุ่นยนต์ใต้ทะเลอัจฉริยะ Subsea robotics ecosystem คว้ารางวัล “Spotlight on New Technology Award” สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเลิศในการผสมผสานระหว่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) และโรโบติกส์ ที่ล้ำสมัยที่สุดและมีศักยภาพในการผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมไทยพัฒนาไปสู่อนาคต ที่งาน OTC Asia 2024 งานประชุมสัมมนาระดับนานาชาตินัดสำคัญของอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของเอเชีย
• Wellhead Robot (Main Deck) หุ่นยนต์ปฏิบัติการบนแท่นขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งในอุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊ส สามารถควบคุมและใช้งานหุ่นยนต์จากระยะไกล ให้ปฏิบัติงานในส่วนของการตรวจสอบ หรือการทำงานต่าง ๆ เช่น การหมุนวาล์ว โดยตัวหุ่นยนต์จะมีระบบเคลื่อนที่แบบอัตโนมัติ ระบบการควบคุมแขน ระบบปัญญาประดิษฐ์ และซอฟต์แวร์ โปรแกรมประยุกต์บนเว็บสำหรับใช้ควบคุมหุ่นยนต์ ที่ถูกออกแบบให้มีความทนทานสูงและใช้งานได้ในพื้นที่เสี่ยงอันตราย เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติงานนอกชายฝั่ง
• Horrus & Delivery Drone (Upper Deck) โดรนอัตโนมัติไร้คนขับ ออกแบบมาสำหรับภารกิจตรวจสอบทางอากาศและเฝ้าระวังทางอากาศยานไร้คนขับในพื้นที่ห่างไกลและเป็นอันตราย Horrus เป็นอากาศยานไร้คนขับหรือยูเอวี (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) แบบอัตโนมัติพร้อมสถานีชาร์จด้วยตัวเอง อีกทั้งสามารถจัดเก็บข้อมูลและส่งข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ผ่านโครงข่าย 5G
• หุ่นยนต์ใต้ทะเลอัจฉริยะ ซึ่งประกอบด้วย 1. Xgateway เรือยนต์อัตโนมัติแบบไร้คนขับ (Autonomous Surface Vehicle) ใช้ในการสำรวจอุทกศาสตร์และการเฝ้าระวังมหาสมุทรผ่านการสื่อสารผ่านระบบดาวเทียม สามารถทำงานได้มากกว่า 40 ชั่วโมง
2. Xplorer ยานยนต์ตรวจสอบท่อใต้น้ำอัตโนมัติไร้สาย พร้อมด้วยเซนเซอร์ตรวจสอบท่อเพื่อประเมินความสึกกร่อนและความผิดปกติของท่อใต้น้ำ และสำรวจแผนที่ใต้น้ำ อีกทั้งสามารถตรวจสอบและเก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ ดำเนินงานได้รวดเร็วขึ้นร้อยละ 50 ตลอดจนการประเมินสภาพและทำแผนการบำรุงรักษาของอุปกรณ์ได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ
3. Nautilus หุ่นยนต์ซ่อมบำรุงท่อใต้น้ำ ด้วยเทคโนโลยี AI แบบครบวงจรตัวแรกของโลก พร้อมการปฏิบัติงานเร็วขึ้น 2 เท่า ในขณะที่ลดต้นทุนได้กว่าร้อยละ 30 - 50
เรียกว่าเป็นอีกก้าวสำคัญของประเทศไทยในการพัฒนา AI ให้ทวีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ รวมทั้งกิจกรรมทางชายฝั่งของไทยที่จะถูกยกระดับให้มีทั้งมูลค่า ความยั่งยืน และก้าวไปสู่ความล้ำใหม่ ๆ ที่เราจะได้เห็นเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต