นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอี) กล่าวว่า จากการรายงานของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือ ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ระหว่าง วันที่ 22 – 26 มกราคม ที่ผ่านมา มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวงผ่านเครือข่ายออนไลน์ในหลายรูปแบบจำนวน 5 คดี ประกอบด้วย
คดีที่ 1 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 1,198 บาท รายละเอียดคดี คือ ผู้เสียหายได้พบเห็นลิงก์การติดต่อจองโต๊ะรับประทานอาหารที่โรงแรม Baiyoke Sky ผ่านทางแอปพลิเคชัน Facebook บัญชีชื่อว่า Baiyoke Sky Hotel ผู้เสียหายได้ติดต่อพูดคุยและมีการโอนเงินชำระจองโต๊ะรับประทานอาหารโดยชำระเต็มราคา หลังจากนั้น ทางเพจได้แจ้งผู้เสียหายให้ทำการโอนเงินไปให้อีกครั้งอ้างว่าเป็นค่าประกัน แต่ผู้เสียหายไม่ได้โอนเงินไปและพยายามติดต่อกับทางเพจดังกล่าวแต่ไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 2 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 2,007,000 บาท รายละเอียดคดี พบว่า มิจฉาชีพใช้บัญชี Facebook ชื่อว่า CP all ใช้ภาพโพรไฟล์เป็นโลโก้ของบริษัท ซีพี ออลล์ ได้ติดต่อพูดคุยชักชวนให้ผู้เสียหายลงทุนในรูปแบบการเล่นหุ้นและบอกถึงค่าตอบแทน ที่จะได้รับผู้เสียหายหลงเชื่อจึงตกลงร่วมลงทุน มิจฉาชีพได้บอกขั้นตอนการลงทุน กับผู้เสียหายเมื่อผู้เสียหายโอนเงินไปทั้งหมดแล้ว ได้แจ้งให้ผู้เสียหายโอนเงินชำระค่าภาษีค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์ม 15 เปอร์เซ็นต์ก่อนจึงจะถอนเงินทั้งหมดคืนได้ หากไม่ชาระเงินค่าภาษีและค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์มดังกล่าวจะไม่สามารถถอนเงินทั้งหมดคืนได้ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 3 ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน มูลค่าความเสียหาย 70,000 บาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายได้รับโทรศัพท์ เป็นการโทรผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Voice over Internet Protocol หรือ VoIP) สุ่มติดต่อมายังผู้เสียหายและสร้างเรื่องหลอกลวงแอบอ้าง เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อ้างว่าได้จับกุมคนร้ายคดียาเสพติดได้ และให้การซัดทอดผู้เสียหายว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดในฐานะเป็นผู้รับโอนเงินจากผู้ค้ายาเสพติด และเพื่อเป็นการช่วยเหลือไม่ให้ถูกดำเนินคดี ให้ผู้เสียหายโอนเงินไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบเส้นทางการเงิน ผู้เสียหายกลัวความผิดจึงหลงเชื่อโอนเงินดังกล่าวไป ภายหลังผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 4 หลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ มูลค่าความเสียหาย 9,000 บาทรายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหาย ได้รับแอปพลิเคชัน Line ชื่อ "Flash Express" ส่งข้อความเข้ามา อ้างว่ามีพัสดุของผู้เสียหายตกค้างอยู่ในคลังสินค้า จากนั้นมิจฉาชีพได้ส่งลิงก์ https://flash.an-th.com ให้ผู้เสียหายทำการกรอกชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ และสแกนบัตรประชาชนพร้อมกับสแกนใบหน้า ตามคำแนะนำของมิจฉาชีพจนเสร็จขั้นตอน หลังจากนั้นให้ส่งเลขที่บัญชีธนาคารของผู้เสียหายไป โดยอ้างว่าจะได้รับเงินค่าตอบแทนคืน ผู้เสียหายหลงเชื่อและได้ส่งเลขที่บัญชีธนาคารไป ภายหลังผู้เสียหายเข้าไปตรวจสอบเงินในบัญชีธนาคารของตนพบว่าเงินในบัญชีธนาคารได้ถูกโอนไปยังบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเอง ถูกมิจฉาชีพหลอก
และ คดีที่ 5 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 132,800 บาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายได้รับโทรศัพท์ที่ติดต่อเข้ามาชักชวนให้ทำกิจกรรมหารายได้เสริมผ่านช่องทาง แอปพลิเคชัน TikTok จากนั้นให้ผู้เสียหายทำการเพิ่มเพื่อนผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน Line จำนวนหลายบัญชี ภารกิจที่ได้รับแจ้งเป็นการให้กดถูกใจแอปพลิเคชัน Line ผู้เสียหาย จะได้รับเงินตอบแทนเพิ่มมากขึ้น แต่ต้องมีการเติมเงินเข้าไปในระบบก่อน ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป ในแต่ละครั้งการโอนเงินก็จะมีเงื่อนไขต่าง ๆ ให้โอนเงินเพิ่มมากขึ้น ภายหลังเมื่อผู้เสียหายต้องการจะถอนเงินคืนปรากฏว่าไม่สามารถถอนเงินได้ ผู้เสียหาย จึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
รวมมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี 2,219,998 บาท
“ดีอี ขอให้ประชาชนระวังการหลอกลวงจากมิจฉาชีพที่ติดต่อเข้ามาในหลากหลายรูปแบบ ทั้งทางโทรศัพท์ และสื่อสังคมออนไลน์ หากมั่นใจว่าปลายสายเป็นมิจฉาชีพ ให้วางสายทันที รวมทั้งช่วยกันแจ้งเตือน และกดรายงานเพจปลอม หรือแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบด้วย” นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว