AI อยู่ในภาวะสงครามแล้ว จุดพีคปัญญาประดิษฐ์เปลี่ยนโฉมกองทัพ

07 พ.ย. 2566 | 06:00 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ย. 2566 | 06:21 น.
1.0 k

AI อยู่ในภาวะสงครามแล้ว จุดพีคปัญญาประดิษฐ์เปลี่ยนโฉมกองทัพ เเม้หน่วยงานกำกับดูแลระดับชาติกำลังต่อสู้กับวิธีที่ดีที่สุดในการปรับตัวเข้ากับ AI

สงครามในตะวันออกกลาง ยังคงดำเนินต่อไประหว่าง อิสราเอลและฮามาส ชุมชนเทคโนโลยีของอิสราเอลได้ใช้จุดแข็งเพื่อต่อสู้ ผู้นำและพนักงานของบริษัทบางคนกำลังทำงานเบื้องหลังมากขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ความขัดแย้งนี้นำความหมายใหม่มาสู่ "เทคโนโลยีแห่งสงคราม" 

องค์กรต่างๆ ของอิสราเอลรวมถึง monday.com, Guesty และ United Hatzalah ได้ใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มเพื่อดำเนินงานที่สำคัญ ซึ่งรวมถึงการช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ที่พักสำหรับผู้ต้องพลัดถิ่น และการซื้อพวงหรีดดอกไม้สำหรับงานศพของเหยื่อ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์กำลังอาสาในโครงการที่เรียกว่า Civic Center for the Coordination of Cyber ​​Activities ซึ่งช่วยให้ผู้อพยพที่อาจลืมโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์สามารถเข้าถึงบัญชีของตนได้อีกครั้ง

AI ในสงครามอิสราเอล ฮาสมาส

ล่าสุด กองทัพอิสราเอล โดยคณะกรรมการข่าวกรองทางทหารของ กองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอล IDF ระบุว่า กองอำนวยการข่าวกรองทางทหารกำลังใช้ปัญญาประดิษฐ์และเครื่องมืออัตโนมัติเพื่อสร้างเป้าหมายที่เชื่อถือได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ และเครื่องมือใหม่อื่นๆ กำลังถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกเพื่อมอบข้อมูลอัพเดทเกี่ยวกับเป้าหมายที่จะโจมตีให้กับกองกำลังภาคพื้นดินในฉนวนกาซาทันที

อิสราเอลได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกการใช้งาน AI ในด้านการทหาร แม้การโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาที่ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการสอดแนมที่เสริมประสิทธิภาพด้วย AI แต่กองทัพอิสราเอลมีแนวโน้มที่จะใช้เทคนิคการแฮ็กโดยใช้โดรนผสมผสานกัน เพื่อระบุเป้าหมายของกลุ่มฮามาส หากเปิดฉากการโจมตีภาคพื้นดินเต็มรูปแบบในฉนวนกาซา

ด้วยวิธีนี้ อิสราเอลนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับอิทธิพลระหว่างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญในขณะที่ หน่วยงานกำกับดูแล ระดับชาติและนานาชาติ กำลังต่อสู้กับวิธีที่ดีที่สุดในการปรับตัวเข้ากับ AI

อิสราเอลเปิดตัวรถถัง Barak ใหม่ ในเดือนกันยายน 2566 : เครดิต defensenews

AI ในสงครามรัสเซีย ยูเครน

บทบาทของ AI และระบบอัตโนมัติในสงครามได้รับความสนใจอย่างมากจากสื่อและนักวิเคราะห์เทคโนโลยีแห่งอนาคต โดยเฉพาะใน "สงครามรัสเซีย ยูเครน" ด้วยความช่วยเหลือจากสหรัฐอฯ เเละพันธมิตรอื่นๆ ของ องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) และบริษัทเทคโนโลยีมากมาย ใช้ประโยชน์จาก AI อัพเดตความเข้าใจในสนามรบ สนับสนุนการตัดสินใจ และรับความได้เปรียบในด้านสติปัญญาและ การดำเนินงาน มีข้อมูลที่เชื่อถือได้น้อยกว่าเกี่ยวกับการใช้ AI และเทคโนโลยีอัตโนมัติของรัสเซีย โดยมีหลักฐานบางอย่างที่อ้างว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของรัสเซียได้ลองใช้ AI ปรับปรุงการรณรงค์บิดเบือนข้อมูล ขณะที่กองทัพรัสเซียใช้อาวุธยุทโธปกรณ์อย่างกว้างขวางเพื่อโจมตีเมืองต่างๆ ของยูเครน และสกัดกั้นการโจมตีโต้ตอบของกองทัพยูเครน 

สอดคล้องกับคำกล่าวของ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของยูเครน นายพล Valery Zaluzhny พูดถึงความก้าวหน้าที่เขาต้องการเพื่อเอาชนะรัสเซีย กับ The Economis ว่า สนามรบทำให้นึกถึงความขัดแย้งครั้งใหญ่เมื่อศตวรรษก่อนเช่นเดียวกับในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เราได้มาถึงระดับของเทคโนโลยีที่ทำให้จนมุม 

ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของยูเครน นายพล Valery Zaluzhny 

นับตั้งแต่การสู้รบอย่างเต็มรูปแบบ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีรายงานว่า AI ได้ถูกนำไปใช้บนโดรนเพื่อรวบรวมข่าวกรอง โจมตี และประมวลผลการสื่อสารในสนามรบของศัตรูในเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า การป้องกันทางไซเบอร์ ฯลฯ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รายงานเกี่ยวกับ AI บน สนามรบมาบรรจบกับการรายงานข่าวที่แพร่หลายเกี่ยวกับความก้าวหน้าในระบบ AI เจนเนอเรชัน เพื่อสร้างความประทับใจว่าเทคโนโลยีนี้มีอยู่ทั่วไปทุกแห่ง  นักวิจัยบางคนกังวลเกี่ยวกับ อันตรายของ AI เเต่ความก้าวหน้าของ AI ในสหรัฐฯ นั้น ได้แพร่หลายอย่างกว้างขวาง 

AI เป็นจุดเปลี่ยนของสงครามในอนาคตอย่างไร

สหรัฐฯ ยังคงดิ้นรนนำเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรม เช่น AI มาใช้อย่างรวดเร็วและในวงกว้าง กองทัพอากาศสหรัฐฯ ใช้ AI ช่วยจัดสรรทรัพยากร ในการบำรุงรักษาระบบอาวุธที่ซับซ้อน ตั้งแต่เรือไปจนถึงเครื่องบินรบ โปรแกรม A I สามารถรวบรวมข้อมูลจากเซ็นเซอร์ของแพลตฟอร์ม และคาดการณ์ได้ว่าการบำรุงรักษาเมื่อใดและแบบใดจะช่วยเพิ่มความพร้อมและอายุการใช้งานให้สูงสุด ในขณะเดียวกันก็ลดต้นทุนให้เหลือน้อยที่สุด

หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ และหน่วยบัญชาการรบของสหรัฐฯ หลายหน่วย กำลังใช้ AI เพื่อกรองข้อมูลจำนวนมากที่เป็นความลับและไม่เป็นความลับ เพื่อระบุรูปแบบของพฤติกรรมและคาดการณ์เหตุการณ์ระหว่างประเทศในอนาคต ช่วยให้นักวิเคราะห์คาดการณ์การรุกรานยูเครน ของรัสเซีย ล่วงหน้าหลายเดือน 

USS Carney ติดตั้งระบบ Aegis ของกองทัพเรือสหรัฐฯ  เครดิต : telegraph

อีกยกตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น "Defense Advanced Research Projects Agency (DARPA)" หน่วยงานวิจัยด้านความมั่นคงของ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้สนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาระบบเรือดำน้ำหุ่นยนต์ เพื่อนำมาใช้ในภารกิจการค้นหาทุ่นระเบิดปราบเรือดำน้ำ นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยังใช้งบประมาณ 7.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2017 ไปกับ ปัญญาประดิษฐ์ การใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และ ระบบคลาวน์ (Cloud)

ขณะที่จีนได้เดิมพันไปกับการพัฒนา AI ในการส่งเสริม ขีดความสามารถด้านความมั่นคง และคาดหวังการเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์ ในปี 2023  โดยการประยุกต์สำหรับการทหาร

การประยุกต์ใช้ AI ในการสงคราม 

  • ระบบการวิเคราะห์เป้าหมาย เพิ่มความแม่นยำของการวิเคราะห์เป้าหมาย ในสภาพแวดล้อมที่มีความซับซ้อน AI จะทำการสืบค้นและวิเคราะห์ข้อมูลผู้ก่อเหตุ จากรายงาน เอกสาร ข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ ทั้งยังช่วยคาดคะเนตำแหน่งที่จะทำการโจมตี อาศัยข้อมูลสนับสนุน เช่น พฤติกรรมของผู้ก่อเหตุ ตลอดจนสภาพแวดล้อม และภูมิอากาศ
  • ระบบการเฝ้าระวังภัยคุกคามและการตระหนักรู้สถานการณ์  เช่น Project Marven ของ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ 

โดรน MQ-9 Reaper

  • ระบบการจำลองยุทธ์และการฝึก เพิ่มความซับซ้อน ในการจำลองรูปแบบภารกิจเพื่อให้ผู้รับการฝึก สามารถแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน และหลากหลาย เช่น การฝึกร่วมโดยระบบจำลองยุทธ์ระหว่างกองทัพบก และกองทัพเรือของสหรัฐฯ เป็นต้น
  • ระบบการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ 
  • ระบบการควบคุมบังคับบัญชา 
  • ยานพาหนะอัตโนมัติ ช่วยควบคุมยานพาหนะทั้งทางบก น้ำ อากาศในการปฏิบัติภารกิจ เช่น Project Loyal Wingman ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ

อากาศยานไร้คนขับ XQ-58A Valkyrie : เครดิต news.usni.org

  • ระบบอาวุธทำลายล้างอัตโนมัติ (Lethal Autonomous Weapon Systems:LAWS) ควบคุมอาวุธทำลายล้างสูงให้โจมตีต่อเป้าหมายที่ต้องการตามภารกิจได้อย่างแม่นยำ 

การส่งกำลังและขนส่ง

การส่งกำลังบำรุง เสริมขีดความสามารถในการตัดสินใจ การบริหารจัดการภารกิจ การซ่อมบำรุง และการบริหารจัดการยุทธภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การขนส่ง จัดการภาพรวมของภารกิจการขนส่ง ลดค่าใช้จ่าย การใช้กำลังพล สามารถคาดการณ์การใช้ยานพาหนะจำนวนเที่ยว ในการขนส่ง ตลอดจนคาดการณ์ความต้องการซ่อมบำรุงยานพาหนะ

การแพทย์ทหารในสนามรบ ระบบหุ่นยนต์ที่ใช้ในการแพทย์ เช่น Robotic Surgical System (RSS) และ Robotic GroundPlatform (RGP) ในการสนับสนุนการบริการทางการแพทย์ในระยะไกล และการส่งกลับสายแพทย์ (Medical Evacuation) ช่วยวิเคราะห์ภาพรวมความต้องการบริการทางการแพทย์เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรทางการแพทย์ให้เกิดประสิทธิภาพ

กองทัพไทยกับ AI 

กระทรวงกลาโหม มีนโยบายสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีป้องกันประเทศ เพื่อให้เกิดขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองและการประหยัดงบประมาณในอนาคต จัดตั้งศูนย์ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ เพื่อประสานความร่วมมือด้านบุคลากร ห้องปฏิบัติการ และโครงสร้างพื้นฐาน AI และหุ่นยนต์ สำหรับสนับสนุนและส่งเสริมงานด้านความมั่นคงระหว่างกระทรวงกลาโหมกับเครือข่ายการวิจัยและภาคเอกชน

AI จุดเปลี่ยนของสงครามในอนาคต

กองทัพหลายประเทศทั่วโลกต่างนำ AI มาใช้กับระบบอาวุธ และระบบที่เกี่ยวข้องทั้งปฏิบัติการทางบก น้ำ อากาศ และอวกาศ เพื่อสร้างขีดความสามารถการรบ ลดความผิดพลาด จากการกระทำของมนุษย์ เสริมสร้างความประสานสอดคล้องในการบุกโจมตี   

AI จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนของสงครามในอนาคต เพราะเทคโนโลยีเป็นปัจจัยเร่งสำคัญ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีความเชื่อมโยงและมีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นแนวโน้มทั้งที่มาเเละเเนวโน้มของความขัดแย้ง