เหตุผลที่ "ทวิตเตอร์" เสี่ยงถูกฟ้อง หลังรีแบรนด์-เปลี่ยนเครื่องหมายการค้า

28 ก.ค. 2566 | 07:14 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2566 | 08:05 น.

มีเหตุผลที่ "ทวิตเตอร์" (Twitter) สื่อสังคมออนไลน์ชื่อดังของนายอีลอน มัสก์ อภิมหาเศรษฐีโลก ที่เพิ่งเปลี่ยนเครื่องหมายการค้าจากรูปนกสีฟ้าที่แสนจะคุ้นตา มาเป็นเครื่องหมายเอ็กซ์ (X) สุดเท่ อาจต้องเจอกับอุปสรรคด้านกฎหมายถึงขั้นถูกฟ้องร้องได้

 

การรีแบรนด์ของ ทวิตเตอร์ (Twitter) สื่อสังคมออนไลน์ชื่อดังของ นายอีลอน มัสก์ ซึ่งเปลี่ยนเครื่องหมายการค้าจากรูป นกสีฟ้า ที่คุ้นตา เป็น เครื่องหมายเอ็กซ์ (X) อาจต้องเจอกับอุปสรรคด้านกฎหมาย เมื่อบริษัทเทคโนโลยีคู่แข่ง อย่างเมตา และไมโครซอฟท์ มีสิทธิ ทรัพย์สินทางปัญญา กับเครื่องหมาย X ที่ทวิตเตอร์จะใช้ในการรีแบรนด์

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เครื่องหมาย X นั้นได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายและปรากฎในเครื่องหมายการค้าต่างๆมากมาย ซึ่งนั่นอาจนำไปสู่ข้อพิพาททางกฎหมายของทวิตเตอร์ในการปกป้องแบรนด์ของตนในอนาคต

 “มีโอกาส 100% ที่ทวิตเตอร์จะถูกฟ้อง” จอช เกอร์เบน นักกฎหมายด้านเครื่องหมายการค้า กล่าวกับรอยเตอร์ และว่ามีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเกือบ 900 รายการที่มีเครื่องหมาย X อยู่ในนั้น

เมื่อต้นสัปดาห์นี้ (24 ก.ค.) นายอีลอน มัสก์ เจ้าของทวิตเตอร์ ซึ่งซื้อกิจการดังกล่าวมาด้วยมูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปีที่แล้ว (2565) ได้ประกาศรีแบรนด์ทวิตเตอร์เป็นเอ็กซ์ (X) พร้อมเผยโลโก้ใหม่เป็นตัวอักษร X สีขาวดำ แทนโลโก้นกสีฟ้าดั้งเดิม

เครื่องหมาย X ที่เป็นโลโก้ใหม่ของทวิตเตอร์

ทั้งนี้ รอยเตอร์รายงานว่า เจ้าของเครื่องหมายการค้า ซึ่งปกป้องสิทธิ์ในชื่อแบรนด์สินค้า โลโก้ และสโลแกนของสินค้าและบริการที่จดทะเบียน สามารถยื่นฟ้องละเมิดเครื่องหมายการค้าได้หากทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน ซึ่งการฟ้องร้องอาจมีทั้งการเรียกร้องค่าเสียหายไปจนถึงการห้ามใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวด้วยเช่นกัน

เมื่อปี 2003 (พ.ศ.2546) ไมโครซอฟท์ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ มีเครื่องหมายการค้า X จากเครื่องเล่นวิดีโอเกม Xbox ส่วนบริษัทเมตา เจ้าของเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ซึ่งมีแอปพลิเคชัน “เธรดส์” (Threads) คู่เป็นคู่แข่งอยู่กับทวิตเตอร์ ก็มีเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้เมื่อปี 2019 ครอบคลุมตัวอักษร X สีฟ้า-ขาว สำหรับซอฟต์แวร์และสื่อสังคมออนไลน์ของบริษัท

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ เกอร์เบนมองว่า เมตาและไมโครซอฟท์อาจไม่ยื่นฟ้องทวิตเตอร์ เว้นแต่ว่าบริษัทจะรู้สึกว่าถูกคุกคามจากทวิตเตอร์ในแง่ของมูลค่าที่เกิดจากแบรนด์ดังกล่าว ขณะที่ทั้งทวิตเตอร์ ไมโครซอฟท์ และเมตา ยังไม่ได้ให้ความเห็นกับรอยเตอร์ในช่วงเวลาที่รายงานข่าวนี้

นายอีลอน มัสก์ ค่อนข้างหลงใหลตัวอักษร X เป็นพิเศษ

ย้อนรอยที่มาเครื่องหมาย X ขาวดำ โลโก้ใหม่ของทวิตเตอร์

นายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของสื่อสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (24 ก.ค.) ว่า เครื่องหมาย X สีขาวดำ ซึ่งจะนำมาใช้แทนโลโก้นกสีฟ้า ที่ใช้มาตั้งแต่ทวิตเอร์เริ่มเป็นที่รู้จัก ถือเป็นหนึ่งในแผนการปรับปรุงแบรนด์นี้ใหม่ หลังจากที่มัสก์ซื้อกิจการทวิตเตอร์เมื่อปี 2565 ด้วยวงเงิน 44,000 ล้านดอลลาร์

มัสก์เปลี่ยนรูปสัญลักษณ์บนบัญชีทวิตเตอร์ของตัวเองเป็นเครื่องหมาย X สีขาวบนพื้นหลังสีดำ พร้อมโพสต์ภาพโครงการออกแบบสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของทวิตเตอร์ที่นครซานฟรานซิสโกด้วย

เครื่องหมาย X เริ่มปรากฏด้านบนของเว็บไซต์ทวิตเตอร์เวอร์ชันคอมพิวเตอร์ในวันเดียวกันนั้น แต่ในแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือยังคงเป็นรูปนกสีฟ้าเหมือนเดิม

อีลอน มัสก์ ขอให้แฟน ๆ ของทวิตเตอร์ช่วยออกแบบโลโก้ใหม่และเลือกเครื่องหมาย X ที่เขาบอกว่าเป็นศิลปะแบบเรียบง่าย โดยจะมีการปรับปรุงใหม่ต่อไปเพื่อนำมาแทนโลโก้นกสีฟ้าทั้งหมดในที่สุด

มัสก์ยังเปิดเผยเว็บโดเมนใหม่ เรียกว่า X.com (เอ็กซ์ดอตคอม) ซึ่งตอนนี้ยังเชื่อมต่อผู้ใช้กับ Twitter.com และแย้มว่า ต่อไปอาจจะเปลี่ยนการเรียกคำว่า "ทวีต" เป็น "x" แทนด้วย

ที่ผ่านมา นายมัสก์ค่อนข้างหลงใหลกับตัวอักษร X เห็นได้จาก ...

  • ชื่อบริษัทสำรวจอวกาศ SpaceX ที่ตัวเขาเป็นผู้ก่อตั้ง
  • เมื่อปี 1999 เขาเคยก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพชื่อว่า X.com ผู้ให้บริการด้านการเงิน ซึ่งต่อมากลายเป็นบริษัท PayPal นั่นเอง
  • เขาตั้งชื่อบุตรชายคนหนึ่งว่า X ด้วย

ลินดา ยัคคาริโน ซีอีโอคนใหม่ของทวิตเตอร์ โพสต์โลโก้ X เมื่อวันจันทร์เช่นกัน พร้อมระบุว่า X จะเป็น “อนาคตของกิจกรรมออนไลน์ที่ไร้ขีดจำกัด ทั้งภาพและเสียง การส่งข้อความและการจ่ายเงินออนไลน์ทั่วโลก”

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าโลโก้ใหม่รูปเครื่องหมาย X ของทวิตเตอร์ จะสร้างความสับสนให้แก่ผู้ใช้ซึ่งต่างงุนงงกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มนี้นับตั้งแต่ที่นายมัสก์เข้ามาซื้อกิจการ ท่ามกลางบริบทที่ทวิตเตอร์เองกำลังต้องเผชิญกับคู่แข่งรายใหม่อย่าง “เธรดส์” (Threads) จากค่ายเมตา (Meta) ของนายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กด้วย

ข้อมูลอ้างอิง