นายวัฒนพงษ์ สุกใส ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต (ทสจ.) เปิดเผยว่า ภูเก็ตเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทย ที่มีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดมาตรการในการดูแลสิ่งแวดล้อม ฉบับที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้เป็นปี 2560 ในการควบคุมดูแลอาคารต่าง ๆ ซึ่งจากฐานข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา โครงการที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ที่จะต้องจัดทำและส่งรายงานมอนิเตอร์ ประจำปี ปีละ 1-2 ครั้ง ตามที่กำหนดในเงื่อนไขการจัดทำรายงานผลกระทบวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานผลกระทบเบื้องต้น (IEE) มีไม่ต่ำกว่า 2,000 โครงการ
โดยทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภูเก็ต ได้แจ้งเตือนให้ทางโครงการต่าง ๆ 2,000 กว่าโครงการ จัดส่งรายงานมอนิเตอร์ประจำปีไปแล้วถึง 2-3 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดได้แจ้งเตือนไปเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา ทั้ง โรงแรม คอนโดมิเนียม โรงพยาบาล ท่าเรือ โครงการบ้านจัดสรรใหญ่ ๆ และสถานประกอบการอื่น ๆ ที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงาน EIA และ IEE ซึ่งสามารถดูได้ในระบบ EIA Smart Plus ของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ว่ามีโครงการใดได้จัดส่งรายงานดังกล่าวแล้วบ้าง
ส่วนมาตรการสำหรับผู้ที่ไม่ส่งรายงานมอนิเตอร์ประจำปีนั้น ตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ปี 2535 ปรับปรุงแก้ไขเมื่อปี 2561 มีการกำหนดบทลงโทษ ตามมาตรา 101/2 คือ มีโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยหลังวันที่ 2 มี.ค.2566 ที่จะถึงนี้ ทาง ทสจ.ภูเก็ตจะรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งฝ่ายปกครองจังหวัดภูเก็ต ซึ่งรับผิดชอบในส่วนของการต่อใบอนุญาตโรงแรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ทั้ง 19 แห่ง ว่ามีโรงแรมใดหรือโครงการใด ที่ไม่ได้ส่งรายงานมอนิเตอร์ประจำปี หลังจากนั้นทาง ทสจ.จะแจ้งเปรียบเทียบปรับไปยังสถานประกอบการนั้น ๆ
สำหรับข้อมูลที่ทาง ทสจ.มีอยู่ในขณะนี้ สถานประกอบการที่จัดส่งรายงานมอนิเตอร์ประจำปีมีสัดส่วนที่น้อยมากแค่หลักร้อยเท่านั้น และที่ ทสจ.ต้องออกมาขับเคลื่อนในเรื่องนี้ เพราะกฎหมายมีบทลงโทษและปรับสูง และหากทาง ทสจ.ไม่ดำเนินการก็จะถูกดำเนินคดีใน ม.157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เสียเอง
สำหรับการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการ EIA และ IEE นั้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากสำหรับจังหวัดภูเก็ต ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ที่จะต้องดูแลเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาน้ำเสีย หากโครงการที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ทั้งโรงแรม คอนโดฯ และอื่น ๆ ไม่ได้ดูแลในเรื่องนี้ ปัญหาน้ำเสียจะตามมาอย่างแน่นอน จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเท่าที่ทราบขณะนี้ภูเก็ตเรามีนักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาวันละกว่า 40,000 คน และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2566 นี้ จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ต่ำกว่า 12 ล้านคน หากสถานประกอบการไม่ดูแลเรื่องน้ำเสีย เชื่อว่าปัญหานี้จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
"หลังจากนี้ เราจะดำเนินการอย่างจริงจัง กับสถานประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะได้มีการแจ้งเตือนมาแล้วหลายครั้ง และวันสุดท้ายของการส่งรายงานมอนิเตอร์คือภายในในวันที่ 31 ม.ค.2566 นี้ แม้ว่าที่ผ่านมาในภูเก็ตจะยังไม่เคยเปรียบเทียบปรับ ผู้ที่ไม่ส่งรายงานมอนิเตอร์ประจำปีก็ตาม แต่ในพื้นที่กรุงเทพฯมีการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว 1,800 กว่าแห่ง ดังนั้น ผู้ประกอบการ ในจังหวัดภูเก็ต ควรตระหนักในเรื่องนี้ให้มาก เพื่อรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อส่วนรวมที่สมกับ ภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก"นายวัฒนพงษ์ กล่าวย้ำ
ทั้งนี้ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติฯ ภูเก็ต ได้แจ้งเรื่องการจัดทำรายงาน Monitor ให้ อปท. และผู้เกี่ยวข้องทราบไปแล้ว 3 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 หนังสือลงวันที่ 27 มี.ค.2564 แจ้งเวียนไปยัง อปท. ตามหนังสือที่ ภก 14.2/วด468
ครั้งที่ 2 หนังสือลงวันที่ 27 ก.ค.2564 โดยแจ้งเวียนไปยังอปท. ตามหนังสือที่ ภก 0014/ว3844 แจ้งเวียนไปยังเจ้าของโครงการ ตามหนังสือที่ ภก 014.6/ว3846 และแจ้งประชาสัมพันธ์ผ่านประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต ตามหนังสือที่ ภก 14.2/3845
ครั้งที่ 3 หนังสือลงวันที่ 6 ม.ค.2565 แจ้งเวียนไปยัง อปท. ที่ทำการปกครองจังหวัดภูเก็ต และสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ตามหนังสือที่ภก 0014.2/ว434 ต่อมาวันที่ 8 เม.ย. 2565 ได้แจ้งประชาสัมพันธ์เรื่องการดำเนินการตามมาตรา 80 ไปยัง อปท. ตามหนังสือที่ ภก 0014.2/ว2032
จากฐานข้อมูลโครงการที่ได้รับความเห็นชอบในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EA)และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องตัน (IEE) ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 2546 พบว่า มีรายงานที่ผ่านความเห็นชอบกว่า 2,800 ฉบับ (แบ่งเป็น EA 655 และ IEE 2,169 ) โดยมีผู้ส่งรายงาน Monitor ในรอบปีที่ผ่านมาไม่ถึง 200 โครงการ
โดยมีแนวทางการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๖๑
ข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่ผู้ประกอบการต้องทราบและดำเนินการ เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีดังนี้
๑. โครงการหรือกิจการที่มีจำนวนห้องหรือพื้นที่ใช้สอยอาคารเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA หรือ IEE) ต้องดำเนินการจัดทำและเสนอรายงานตามขั้นตอน ก่อนนำรายงานฯ ไปประกอบการขออนุญาตก่อสร้างและดำเนินการ
กรณีดำเนินการก่อนรายงานฯ ได้รับความเห็นชอบ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งแสนบาทตลอดระยะเวลาที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องหรือหยุดการกระทำนั้น (มาตรา ๑๐๑/๑)
๒. โครงการหรือกิจการที่ได้จัดทำรายงาน EIA หรือ IEE งได้รับอนุญาตแล้ว มีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการที่ระบุไว้ในรายงาน EIA หรือ IEE (รายงาน Monitor) ซึ่งต้องจัดส่งอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง กรณีไม่นำส่งต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท (มาตรา ๑๐๑/๒)
๓. โครงการหรือกิจการที่เข้าข่ายเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษซึ่งต้องจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสีย ต้องดำเนินการจัดทำรายงานสรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย (ร้ายงาน ทส.2 และ ทส.๒ ตามกฎกระทรวง ซึ่งออกตามมาตรา ๘o) กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ดังนี้
-ไม่จัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสีย ต้องระรางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา ๑๐๔)
-ไม่จัดเก็บสถิติ ข้อมูล หรือไม่ทำบันทึกหรือรายงานตามมาตรา ๘· ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา ๑๐๖)
-จัดทำรายงานอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา ๑๐๗)
-กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา ๑๐๐)