รายงานข้อมูลจากอีริคสัน ระบุว่า 99% ของกลุ่มผู้นำกระแสด้านเทคโนโลยีทั่วโลกกว่า 15,000 ราย คาดว่าภายในปี2030 การใช้อินเทอร์เน็ตและโซลูชั่นการเชื่อมต่อจะเป็นแบบเชิงรุก ที่แต่ละคนจะรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนที่เจาะจงมากขึ้น
โดยสถิตินี้อยู่ในผลการวิจัยประจำปีล่าสุด 10 Hot Consumer Trends จาก Ericsson ConsumerLab ซึ่งในปีนี้ให้ชื่อเรียกว่า Life in a Climate-Impacted Future (ชีวิตในโลกอนาคตที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ)
รายงานที่เผยแพร่ในเดือนมกราคมปีนี้ เป็นฉบับที่ 12 ที่ให้ภาพรวมของข้อกังวล ความคาดหวังของผู้บริโภค ตลอดจนความคิดเห็นในการใช้เทคโนโลยีส่วนบุคคลสำหรับรับมือกับปัญหาด้านสภาพอากาศในปี 2030
83% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าอุณหภูมิโลกจะเพิ่มสูงขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่านั้น (สูงกว่าระดับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม) ซึ่งเกินขีดจำกัดตามข้อตกลงระหว่างประเทศ อันทำให้เกิดสภาวะอากาศแบบสุดขั้วและมีแนวโน้มสร้างผลกระทบเชิงลบ
55% ของผู้ใช้ในกลุ่ม Early Adopters ในเขตเมืองใหญ่ เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลเสียต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา และเตรียมมุ่งไปใช้โซลูชั่นการเชื่อมต่อต่าง ๆ เป็นมาตรการรับมือ
ข้อกังวลหลัก ๆ ของผู้บริโภค ได้แก่ ค่าครองชีพ การเข้าถึงแหล่งพลังงานและทรัพยากร รวมถึงความต้องการการเชื่อมต่อที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ในเวลาที่เกิดความปั่นป่วนและสภาพอากาศแปรปรวน โดย 59% ของผู้ตอบแบบสำรวจเชื่อว่า ในช่วงทศวรรษ 2030 นวัตกรรมและเทคโนโลยีจะมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อรับมือกับความท้าทายในชีวิตประจำวันที่มาจากผลการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ผู้ใช้ AR VR และผู้ช่วยดิจิทัล (Digital Assistances) กลุ่มผู้นำกระแสกว่า 15,000 รายใน 30 เมืองทั่วโลก ได้รับการสอบถามเพื่อประเมินถึงแนวคิดของบริการดิจิทัล 120 รายการ ครอบคลุม 15 ด้าน ตั้งแต่ความพยายามปรับตัวในการใช้ชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ ไปจนถึงวิธีการรับมือกับเหตุการณ์สภาพอากาศอันเลวร้าย
10 เทรนด์มาแรงของผู้บริโภค
แม็กนัส โฟรไดห์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยของอีริคสัน กล่าวว่า “ผู้บริโภคระบุชัดเจนว่าการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เชื่อถือได้และมีความยืดหยุ่นมีความสำคัญสูงสุดต่อการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขา และพวกเขากำลังมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากคาดหวังว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่รุนแรงและมีผลกระทบเชิงลบจะกลายเป็นเรื่องปกติยิ่งขึ้น ผู้บริโภคไม่คาดหวังว่าการเชื่อมต่อที่จำเป็นนั้นจะต้องเกิดขึ้นในระดับโลก แต่อย่างน้อยก็ขอให้เกิดขึ้นโดยเร็ว”
ผู้ใช้กลุ่มผู้นำกระแสส่วนใหญ่ไม่เพียงแต่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเกิดขึ้น แต่ยังมั่นใจว่ามันจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาในช่วงทศวรรษ 2030 มากกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ แม้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าความสนใจด้านเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตส่วนตัวจะเป็นตัวขับเคลื่อนการเลือกใช้บริการใด ๆ เป็นอันดับต้น ๆ อย่างที่เราทราบในปัจจุบันว่าพฤติกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ นั้นมีความเป็นไปได้ที่อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ วิธีหรือรูปแบบการทำงานของเรา ระยะเวลาการทำงานและสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน
ตัวอย่างเช่น เวลาการทำงานที่ไม่อิงตาม 'หน้าปัดนาฬิกา' แบบเดิม เข้างาน 9 โมงเช้า เลิก 5 โมงเย็น และงานประจำที่ต้องทำทุกวัน ซึ่งอาจเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญก่อให้เกิดเทรนด์ใหม่ของการทำงานที่ไม่เร่งรีบ หรือ No-Rush Mobility สังคมการทำงานที่ถูกกำหนดจากการใช้พลังงานสูงสุดหรือต่ำสุดแทนเวลาตามเข็มนาฬิกาอาจกลายเป็นเรื่องปกติทั่วไป
ผู้ตอบแบบสอบถามยังคาดหวังว่าบทบาทของ AI จะขยายไปสู่พฤติกรรมของผู้บริโภค ดังที่ระบุไว้ในเทรนด์ Less Is More Digital เช่น เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการบริโภควัสดุแก่ผู้ซื้อ โดยใช้ทางเลือกดิจิทัลแทนผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้
ผู้ร่วมเขียนรายงาน ซาราห์ ธอร์สัน หัวหน้าฝ่ายพัฒนาแนวคิดของ Ericsson ConsumerLab พูดถึงเทรนด์ Smart Water โดยระบุว่า “การใช้น้ำอาจเปลี่ยนไปอย่างมากเช่นกัน หากการปันส่วนแพร่หลายมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ประมาณหกสิบสี่เปอร์เซ็นต์ของผู้นำกระแส (Early Adopters) คาดว่าในทศวรรษ 2030 การจัดสรรการใช้น้ำรายเดือนให้แก่ประชาชนทั้งหมดจะใช้กฎกติกาดิจิทัล”
ดร.ไมเคิล บียอร์น หัวหน้าฝ่าย Research Agenda ของ Ericsson Consumer และ IndustryLab และผู้ขับเคลื่อนรายงาน 10 Hot Consumer Trends ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี ค.ศ. 2011 กล่าวว่า ผู้บริโภคยังเล็งเห็นถึงความเสี่ยงจากการใช้โซลูชั่นที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อสภาพอากาศแบบผิด ๆ
“กระแส Climate Cheaters เน้นให้เห็นถึงการรับรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎด้วยกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ ที่อาจจะฝืนความรู้สึกแต่เป็นความจริงอย่างมากที่อาจมีการโกงเพื่อเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อสภาพอากาศ เช่น การจ่ายบิลหรือการบันทึกข้อมูล เมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้ตอบแบบสำรวจประมาณ 72% คาดว่าจะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเลี่ยงข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวในระยะสั้น ประเด็นนี้เป็นการเตือนจริงจังเกี่ยวกับความสำคัญของการมุ่งเน้นไปที่ความน่าเชื่อถือของบริการอย่างต่อเนื่อง”
THE TRENDS
1. Cost Cutters
บริการดิจิทัลจะช่วยให้ผู้บริโภคควบคุมค่าอาหาร พลังงาน และค่าเดินทางในสถานการณ์สภาพอากาศที่ไม่แน่นอน มากกว่า 60% ของกลุ่มผู้นำกระแสในเขตเมืองแสดงความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นในอนาคต
2. Unbroken Connections
การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เชื่อถือได้และมีความยืดหยุ่นจะมีความสำคัญมากขึ้นหากและเมื่อมีเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงเพิ่มขึ้น โดย 80% ของกลุ่มผู้นำกระแสในเขตเมืองเชื่อว่าหากเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติจะมีตัวระบุตำแหน่งสัญญาณอัจฉริยะที่แสดงพื้นที่ครอบคลุมอย่างเหมาะสมในทศวรรษ 2030
3. No-Rush Mobility
ตารางเวลาที่เคร่งครัดอาจกลายเป็นเรื่องของเมื่อวานนี้ เมื่อความหมายของความยืดหยุ่นเปลี่ยนไปอันเนื่องมาจากกฎระเบียบด้านสภาพอากาศและประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ประมาณ 68% ของผู้ตอบแบบสำรวจจะวางแผนกิจกรรมโดยใช้ตัวกำหนดตารางเวลาที่เพิ่มประสิทธิภาพตามต้นทุนด้านพลังงาน ไม่ใช่ประสิทธิภาพด้านเวลา
4. S(AI)fekeepers
คาดว่า AI จะเป็นขุมพลังสำคัญให้กับบริการที่คอยปกป้องผู้บริโภคในช่วงที่สภาพอากาศแปรปรวนและคาดการณ์ไม่ได้เพิ่มขึ้น โดยเกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มผู้นำกระแสในเขตเมืองกล่าวว่า พวกเขาจะใช้ระบบเตือนภัยสภาพอากาศส่วนบุคคลเพื่อความปลอดภัยของตนเอง
5. New Working Climate
ข้อจำกัดด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิทัลที่เร่งตัวขึ้นจะกำหนดรูปแบบกิจวัตรการทำงานในอนาคต เจ็ดในสิบคนคาดว่าผู้ช่วย AI ของบริษัทจะวางแผนการเดินทาง กำหนดภาระงาน และทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน
6. Smart Water
เนื่องจากน้ำจืดในทศวรรษ 2030 อาจเป็นของหายากขึ้น ผู้บริโภคจึงคาดหวังบริการน้ำที่มีความอัจฉริยะเพื่อเก็บและนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ เกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มผู้นำกระแสในเมืองกล่าวว่าจะใช้เครื่องดักจับน้ำอัจฉริยะบนหลังคา ระเบียง และหน้าต่างที่เมื่อฝนตกก็เปิดเพื่อเก็บกักและทำความสะอาดน้ำฝน
7. The Enerconomy
บริการแบ่งปันพลังงานแบบดิจิทัลอาจช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่สูงขึ้นในทศวรรษ 2030 พลังงานอาจกลายเป็นสกุลเงินได้ เนื่องจาก 65% ของกลุ่มผู้นำกระแสในเมืองคาดว่าผู้บริโภคจะสามารถชำระค่าสินค้าและบริการเป็นหน่วยกิโลวัตต์/ชั่วโมง โดยใช้แอปบนอุปกรณ์เคลื่อนที่
8. Less is more digital
การเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ดิจิทัลอาจกลายเป็นเครื่องหมายแสดงสถานะ เนื่องจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นวัตถุมากเกินความจำเป็น อาจทำให้ต้องเผชิญกับราคาแพงและถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม พฤติกรรมลดการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นวัตถุจะเร่งขยายตัวขึ้น เนื่องจากหนึ่งในสามของกลุ่มผู้นำกระแสในเมืองเชื่อว่าโดยส่วนตัวแล้วพวกเขาจะใช้แอปช็อปปิ้งที่แนะนำทางเลือกดิจิทัลแทนผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้
9. Natureverse
การสัมผัสธรรมชาติในเมืองโดยไม่ต้องเดินทางอาจเป็นเรื่องปกติในยุค 2030 เมื่อต้องอยู่กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่องและข้อจำกัดด้านการเดินทางที่อาจเกิดขึ้น สี่ในสิบของกลุ่มผู้นำกระแสในเมืองต้องการใช้บริการการเดินทางเสมือนจริงที่ช่วยให้พวกเขาได้สัมผัสกับเขตอนุรักษ์ธรรมชาติและเส้นทางบนภูเขาแบบเรียลไทม์ ประหนึ่งว่าพวกเขาได้อยู่ตรงนั้นเอง
10. Climate Cheaters
ผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าผู้บริโภคจะหาทางหลีกเลี่ยงความเข้มงวดของข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากราคาที่สูงขึ้นและการปันส่วนพลังงานและน้ำ กว่าครึ่งของกลุ่มผู้นำกระแสในเมืองคาดว่าแอปแฮ็คออนไลน์จะช่วยให้พวกเขาลักน้ำประปาหรือไฟฟ้าของเพื่อนบ้านมาใช้แบบผิดกฎหมาย