เหรียญสองด้านของ ChatGPT ข้อดี VS ข้อเสียในการใช้งาน

20 ม.ค. 2566 | 05:58 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2566 | 06:39 น.
9.9 k

ความแสนรู้ของ ChatGPT โปรแกรมเอไอของบริษัท OpenAI ที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าใช้ได้ฟรี กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง แต่เหรียญมี 2 ด้านเสมอ

 

ปลายเดือน พ.ย. 2565 บริษัทโอเพ่นเอไอ (OpenAI) ผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ในนครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ได้เปิดให้คนทั่วโลกใช้ฟรี โปรแกรมชุดปัญญาประดิษฐ์ หรือหุ่นยนต์ดิจิทัลต้นแบบของบริษัทที่ชื่อ ChatGPT เป็นชุดปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถหลากหลายที่ผู้ใช้อาจสั่งให้มันทำ มันสามารถตอบคำถาม หรือแก้ข้อสงสัยต่างๆได้สารพัดผ่านการพูดคุยทางอินเทอร์เน็ต จนหลายคนเรียกมันว่า แชทบอทอับดุล ถามได้ตอบได้

ความแสนรู้ของ ChatGPT ทำให้ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเนื่องจาก ChatGPT สามารถเขียนเรียงความและทำงานหลายอย่างแทนนักเรียนได้ กล่าวได้ว่ามันสามารถทำการบ้านหรือทำรายงานแทนมนุษย์ และด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการโรงเรียนในเขตการศึกษาหลายแห่งของสหรัฐอเมริกา จึงเริ่มห้ามนักเรียนเข้าถึงโปรแกรมชุดปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าวจากคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน เริ่มต้นจากเขตการศึกษามหานครนิวยอร์ก ตามมาด้วยนครลอสแอนเจลิสและบัลติมอร์ นำไปสู่การถกเถียงกันอย่างเข้มข้นถึงการนำ ChatGPT มาใช้ ทั้งข้อดีและข้อเสีย ตลอดจนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากมีการนำมาใช้ในด้านต่างๆ

ก่อนอื่นมารู้จัก ChatGPT กันสักหน่อย

เมื่อครั้งที่บริษัท OpenAI เปิดตัวแชทบอท ChatGPT ให้คนทั่วไปเข้าใช้งานได้ฟรีเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา (2565) บริษัทกล่าวว่า นี่คือแอปพลิเคชันปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ถูกออกแบบมาเพื่อเลียนแบบบทสนทนาของมนุษย์ โดยมีระบบการทำงานที่ขึ้นอยู่กับการโต้ตอบของผู้ใช้งาน

นายแซม อัลต์แมน ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ OpenAI บริษัทวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเอไอ ที่ก่อตั้งในปี 2558 ในฐานะองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เปิดเผยว่า มีผู้ใช้งาน ChatGPT มากกว่า 1 ล้านคนหลังแชทบอทดังกล่าวเปิดตัวได้หนึ่งสัปดาห์

เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ของ ChatGPT ถูกฝึกให้ใช้เทคนิคเรียนรู้ด้วยตนเองที่เรียกว่า Reinforcement Learning from Human Feedback หรือ RLHF โดย ChatGPT สามารถลอกเลียนบทสนทนา ตอบคำถามต่อเนื่อง ยอมรับข้อผิดพลาด ท้าทายข้อสังเกตที่ผิด และปฏิเสธคำขอที่ไม่เหมาะสมได้

ในการพัฒนา ChatGPT ในขั้นต้น มีการใช้มนุษย์ฝึกฝนบทสนทนากับเอไอตัวนี้ โดยให้มนุษย์รับบทเป็นทั้งผู้ใช้งานและผู้ช่วยเอไอ

ChatGPT เวอร์ชั่นที่เปิดให้สาธารณะเข้าใช้ได้ฟรีนั้น กำลังเรียนรู้เข้าใจคำถามจากผู้ใช้งานและตอบคำถามเชิงลึกที่มีลักษณะคล้ายกับข้อความเชิงบทสนทนาที่มนุษย์เขียนขึ้น

 

มีผู้ใช้งาน ChatGPT มากกว่า 1 ล้านคนหลังแชทบอทดังกล่าวเปิดตัวได้หนึ่งสัปดาห์

ความสามารถและ ‘ข้อดี’ของแชตบอท ChatGPT

บอทของ ChatGPT สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น

  • ใช้ในการทำการตลาดดิจิทัล
  • การสร้างเนื้อหาออนไลน์ สร้างคำอธิบายสินค้าและเนื้อหาอื่นๆ สำหรับธุรกิจออนไลน์
  • สร้างเนื้อหาและเอกสารการประชาสัมพันธ์สำหรับองค์กร
  • การตอบคำถามลูกค้า
  • ช่วยแก้จุดบกพร่องของโค้ดเขียนโปรแกรม  
  • สรุปและแปลข้อมูลต่างๆ ที่มีปริมาณมากๆ
  • สร้างและแก้ไขสคริปต์สำหรับบทภาพยนตร์และละคร รวมถึงการเขียนนิยายและสารคดี
  • สร้างเนื้อหาและหลักสูตรการเรียนหรืออบรม

ChatGPT สามารถตอบคำถามได้หลากหลายโดยเลียนแบบลักษณะการพูดของมนุษย์

นอกจากนี้ ChatGPT ยังสามารถตอบคำถามได้หลากหลายโดยเลียนแบบลักษณะการพูดของมนุษย์ได้ในเวลาเดียวกัน

กล่าวได้ว่า นี่คือ ‘ข้อดี’ หรือ ‘ประโยชน์’ ในการนำ ChatGPT มาใช้งาน แม้จะไม่สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ทั้งหมด แต่มันก็เป็นผู้ช่วยงานที่ดีมาก

แต่เหรียญมี 2 ด้านเสมอ หลังจากมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายภายในเวลาเพียงเดือนกว่าๆ นับตั้งแต่เปิดตัวในเดือน พ.ย. 2565 จนถึงขณะนี้ มีเสียงสะท้อนเกี่ยวกับ ‘ข้อเสีย’ และ ‘โทษภัย’ ที่อาจเกิดขึ้นจาก ChatGPT อื้ออึงขึ้นเรื่อย ๆ

ข้อเสียและปัญหาคืออะไร

ตั้งแต่แรกนั้น ทาง OpenAI ยอมรับว่า ChatGPT อาจตอบสนองผู้ใช้งานด้วยคำตอบที่ “ฟังดูมีเหตุผลแต่ไม่ถูกต้องหรือไม่เข้าท่า” และยอมรับว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นความท้าทายที่บริษัทต้องแก้ไข

นอกจากนี้ เทคโนโลยีเอไอยังอาจเผยแพร่ ‘อคติทางสังคม’ ด้านต่าง ๆ เช่น ด้านเชื้อชาติ เพศ วัฒนธรรม และความเป็นกลางทางจุดยืนในประเด็นที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นด้านสังคมหรือการเมือง เนื่องจากปัญญาประดิษฐ์ชุดนี้สร้างโดยมนุษย์ที่มีจุดยืนของตนเอง ดังนั้น  โปรแกรมที่พวกเขาเขียนไว้จึงอาจเอียงเอนไปทางจุดยืนของพวกเขาได้ ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ซึ่งเรื่องนี้อาจสร้างผลกระทบต่อระบบที่ประเทศกำลังใช้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย หรือการไม่แบ่งแยก-กีดกันเชื้อชาติและผิวพรรณ เป็นต้น

อีกปัญหาการใช้งาน ChatGPT คือสิ่งที่เป็นประเด็นถกเถียงในแวดวงการศึกษาดังที่กล่าวมาแล้ว โดยฝ่ายโรงเรียนมองเห็น “อันตราย” ของการปล่อยให้ปัญญาประดิษฐ์ทำงานแทนนักเรียน-นักศึกษา เนื่องจากพวกเขาจะไม่มี โอกาสพัฒนาการคิดเชิงวิเคราะห์และกระบวนการแก้ปัญหาซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการศึกษา

ขณะที่ฝ่ายนักเรียนและผู้ที่ต่อต้านการห้ามไม่ให้นักเรียนใช้ ChatGPT มองว่า ปัญญาประดิษฐ์จะเป็นปัจจัยสำคัญของการดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคต นักเรียนจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ในการอยู่กับมัน และใช้มันให้เป็นประโยชน์

นอกจากนี้ พวกเขายังแย้งว่า การห้ามใช้ในโรงเรียนจะไม่เกิดผลใด ๆ ตามต้องการ(ของฝ่ายผู้สนับสนุนการห้ามใช้แอพฯนี้ในหมู่นักเรียนนักศึกษา) เพราะถึงอย่างไร นักเรียน-นักศึกษาก็ยังสามารถเข้าถึง ChatGPT ผ่านคอมพิวเตอร์นอกโรงเรียนได้ ฉะนั้นทางที่ดีกว่า จึงควรเป็นการหาวิธีที่โรงเรียนจะใช้มันช่วยสอนด้านการคิดเชิงวิเคราะห์ และกระบวนการแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีผู้แย้งว่า ข้อเสนอข้างต้นอาจดูง่ายหรือโลกสวยเกินไป เพราะชุดปัญญาประดิษฐ์นี้ (ChatGPT) เพิ่งออกมาให้ทดลองใช้ยังไม่ถึง 2 เดือนเลย จึงน่าจะยากสำหรับบรรดาครูบาอาจารย์ ที่จะเข้าใจมันได้อย่างถ่องแท้จนสามารถนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ถึงอย่างไร โลกก็ต้องยอมรับการอยู่ร่วมกับเอไอ

ก่อนหน้านี้ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เช่น กูเกิล และแอมะซอน ยังเคยยอมรับว่า โครงการบางอย่างที่ทางบริษัททดลองใช้เทคโนโลยีเอไอ ก็ยังมีข้อจำกัดบางประการ และมีความเสี่ยงทางจริยธรรม โดยหลายบริษัทต้องหาทางออกด้วยการให้มนุษย์เข้ามาจัดการแก้ปัญหาที่เกิดจากเอไออีกที

แม้การถกเถียงถึงข้อดี-ข้อเสียของเทคโนโลยีอย่าง ChatGPT จะยังคงดำเนินต่อไป แต่การวิจัยเอไอก็ยังคงเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน และข้อมูลจากบริษัทติดตามเงินทุน PitchBook ก็ชี้ว่า เมื่อปี 2564 จำนวนเม็ดเงินร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาเอไอและการลงทุนในบรรดาบริษัทปฏิบัติการเอไอ เพิ่มขึ้นใกล้แตะระดับ 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการลงทุนตั้งแต่เดือน ม.ค. – ต.ค. 2565 ก็ยังเพิ่มขึ้นอีก 6,000 ล้านดอลลาร์ หากใครอยากลองใช้งานและทำความรู้จัก ChatGPT ก็สามารถเข้าไปได้ที่: https://chat.openai.com/chat

คุณอาจจะรักมัน หรือ เกลียดมัน ก็ได้ ลองดู