ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ อดีตนายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์เริ่มประสบความสำเร็จกับการย้อนวัยในระดับเซลล์ แต่งานวิจัยในด้านนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น และมีความเสี่ยงสูง
เบนจามิน แฟรงคลิน หนึ่งในรัฐบุรุษผู้ร่วมก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาเคยกล่าวไว้ว่าความตายและการจ่ายภาษีเป็นเรื่องที่หลีกหนีไม่พ้นของมนุษย์ แม้หลายคนมีวิธีในการเลี่ยงเสียภาษีแต่ยังไม่เคยมีใครเอาชนะความตายได้ ความปรารถนาจึงถูกจำกัดไว้แค่ความต้องการหยุดความชราภาพและคงความเป็นหนุ่ม-สาวไว้ให้นานที่สุด
นักวิทยาศาสตร์ทราบกันมานานแล้วว่าความชราภาพของร่างกาย เกิดจากการสะสมของเซลล์ที่หยุดแบ่งตัว
และมนุษย์ไม่ได้ชราลงอย่างต่อเนื่อง แต่ร่างกายจะมีความเสื่อม 3 ครั้งใหญ่ในชีวิต ครั้งแรกในวัยผู้ใหญ่ตอนต้นเมื่ออายุ 34 ปี อีกครั้งในวัยกลางคนตอนปลายเมื่ออายุ 60 ปี และในวัยชราเมื่อมีอายุ 78 ปี
ปลายยุคกลางมีความเชื่อกันว่าการอาบเลือดคือเคล็ดลับในการคงความเยาว์วัยให้ยืนยาว ที่รู้จักกันดี คือ เคาท์เตส อลิซาเบธ บาโธรี่ ของประเทศฮังการี สั่งให้คนรับใช้ไปหลอกลวงหญิงสาวบริสุทธิ์ไม่น้อยกว่า 600 คน มากรีดเอาเลือดออกจากร่างแล้วนำไปใส่อ่างอาบแทนน้ำเพราะมีความเชื่อว่าหากได้อาบเลือดของหญิงสาวบริสุทธิ์แล้วจะทำให้ตนเองดูอ่อนเยาว์ตลอดไป
แนวคิดเรื่องการใช้เลือดของคนหนุ่ม-สาว เพื่อหยุดยั้งความชราไม่ได้เป็นแค่ความเชื่อ แต่เป็นเทคนิคการเปลี่ยนถ่ายเซลล์เม็ดเลือดแดง ที่รู้จักกันมานานกว่า 150 ปี สำนักข่าว BBC เคยรายงานผลการทดลองของทีมนักพันธุศาสตร์จาก University College London ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature แสดงการค้นพบหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการเปลี่ยนถ่ายเม็ดเลือดแดงจะช่วยลดโรคภัยที่เกิดจากความชรา เช่น โรคสมองเสื่อม โรคมะเร็ง และโรคหัวใจได้ โดยการทดลองเบื้องต้นพบว่าหนูแก่ไม่ป่วยเป็นโรคที่เกิดจากความชราหลังจากพวกมันได้รับการฉีดเลือดของหนูอายุน้อยกว่าเข้าสู่ร่างกาย
นอกจากเทคนิคการถ่ายเซลล์เม็ดเลือดแดงเพื่อหยุดยั้งความชรา คณะนักวิจัยจากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยอีราสมุส ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ประกาศการค้นพบ "ยาย้อนวัย" และได้เผยแพร่ผลทดสอบเบื้องต้นไว้ในวารสาร Cell ยาชนิดนี้สกัดจากเปปไทด์ หรืออนุพันธ์ย่อยของโปรตีน ซึ่งสามารถกำจัด "เซลล์ชรา" ที่แก่จนหมดสภาพและไม่สามารถแบ่งตัวเพิ่มขึ้นได้อีกแต่ยังคงสะสมอยู่ในร่างกายเพื่อช่วยในการเยียวยาบาดแผล
อย่างไรก็ตาม เซลล์ชรานี้จะปล่อยสารเคมีที่ทำให้เกิดการอักเสบออกมาด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุของความชราภาพในอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย สารเปปไทด์จะไปรบกวนสมดุลเคมีของเซลล์ชราจนทำให้เซลล์นี้ตาย และถูกขับออกไปจากร่างกาย เมื่อนำไปใช้กับหนูชราเทียบเท่ากับมนุษย์อายุ 90 ปี เมื่อได้รับยาย้อนวัยสัปดาห์ละสามครั้งติดต่อกันเป็นเวลาหนึ่งปี ปรากฏว่ามีสัญญาณของความเยาว์วัยในหนูทดลองเกิดขึ้นหลายประการ ขนที่ร่วงกลับงอกหนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และอวัยวะที่ชราภาพ เช่น ตับ กลับมามีประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น
นอกจากการเปลี่ยนถ่ายเซลล์เม็ดเลือดแดงและใช้ยาสกัดจากสารเปปไทด์ งานวิจัยที่น่าสนใจอีกเรื่อง คือ เทคโนโลยีการฟื้นฟูเซลล์ช่วยคืนความเป็นหนุ่มสาว โดยมุ่งเน้นการซ่อมแซมเซลล์และเนื้อเยื่อที่เสื่อมสภาพอันเนื่องมาจากวัยที่เพิ่มขึ้น เช่น งานวิจัยของชินยะ ยามานากะ นักวิจัยสเต็มเซลล์จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ที่ได้ค้นพบ
การใช้โปรตีนสี่ชนิดประกอบด้วย Oct3/4 Sox2 c-Myc และ Klf4 รวมเรียกว่า ‘ปัจจัยของ ยามานากะ (Yamanaka Factor)’ เหนี่ยวนำสร้างสเต็มเซลล์ iPS หรือ Induced Pluripotent Stem Cell ทำให้เซลล์ร่างกายของคนปกติ สามารถที่จะเปลี่ยนย้อนกลับไปกลายเป็นสเต็มเซลล์ที่มีลักษณะแทบไม่ต่างไปจากสเต็มเซลล์ที่พบในตัวอ่อน
การทดลองพบว่าเซลล์ของคนชราอายุร่วมร้อยปี เมื่อได้รับปัจจัยของยามานากะจนย้อนกลับไปเป็นสเต็มเซลล์แล้ว สัญญาณแห่งความชราทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเคมีบนดีเอ็นเอ ที่เรียกว่า เอพิเจเนติกส์
รวมทั้งความยาวของปลายสารพันธุกรรมที่เรียกว่าเทโลเมียร์ จะย้อนกลับไป รีเซ็ตใหม่ งานวิจัยนี้ทำให้ยามานากะได้รางวัลโนเบลในปี ค.ศ. 2012
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยพบว่าบางครั้งเซลล์เหล่านี้จะเปลี่ยนตัวเองกลายเป็นเนื้องอกที่เรียกว่าเทราโทมา มีลักษณะคล้ายอวัยวะที่พัฒนาขึ้นมาแบบไม่สมประกอบ บางทีก็เป็นก้อนขน เล็บ หรือแม้แต่ซี่ฟันที่ไปเติบโตอยู่ผิดที่ผิดอวัยวะ ดังนั้น เซลล์ที่เราต้องการจริงๆ เพื่อการย้อนวัย อาจจะไม่ใช่สเต็มเซลล์ แต่เป็นเซลล์อ่อนวัยที่พร้อมจะแบ่งเซลล์ออกมา เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอที่อยู่ภายในอวัยวะ นักวิจัยจึงใส่ปัจจัยของยามานากะลงไปแค่ระยะเวลาหนึ่ง แล้วรีบหยุดไว้ก่อนที่พวกมันจะย้อนกลับกลายเป็นสเต็มเซลล์เต็มตัว โดยเรียกกระบวนการนี้ว่า ‘การโปรแกรมเซลล์ใหม่แบบบางส่วน’
ผลที่ได้คือเซลล์เหล่านี้จะเริ่มย้อนวัย แต่ยังคงลักษณะของเซลล์อวัยวะตั้งต้นนั้นไว้ เซลล์พวกนี้สามารถช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้ และไม่ทำให้เกิดเทราโทมา
ในปี ค.ศ. 2020 เดวิด ซินแคลร์ นักชีววิทยาและพันธุศาสตร์จาก Harvard Medical School ได้ใช้วิธีการนี้ เพื่อรีเซ็ตอายุของเซลล์ประสาทตาของหนูทดลองที่เป็นต้อหิน โดยใช้ปัจจัยของยามานากะ 3 ตัว ประกอบไปด้วย Oct4 Sox2 และ Klf4 แต่ไม่ใส่ c-Myc เพื่อลดโอกาสในการเกิดเนื้องอก ผลปรากฏว่าสภาพของเซลล์ประสาทตาของหนูที่เป็นต้อหินที่เสื่อมสภาพไปแล้ว กลับมาฟื้นฟูและสร้างโครงข่ายเซลล์ประสาทใหม่ จนทำให้หนูทดลองเริ่มกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง
ต่อมา วิตโทริโอ เซบาสเตียโน นักวิจัยสเต็มเซลล์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้ทดลองโปรแกรมเซลล์ใหม่โดยใส่เอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ที่ช่วยควบคุมการสร้างปัจจัยของยามานากะเข้าไปในเซลล์ทดลองของมนุษย์ ผลที่ได้คือเซลล์กล้ามเนื้อ กระดูกอ่อน หรือแม้แต่เซลล์ผิวหนัง สามารถย้อนวัยได้จริงๆ โดยที่ไม่หลงลืมว่ามันเคยเป็นเซลล์อะไรด้วย แม้ว่าทีมวิจัยทั้งของซินแคลร์ และเซบาสเตียโน จะเริ่มประสบความสำเร็จกับการย้อนวัยในระดับเซลล์ แต่โอกาสที่จะเจอเนื้องอกเทราโทมายังมีอยู่สูง และยังตัดความเสี่ยงในเรื่องของมะเร็งออกไปไม่ได้
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ดูเหมือนใกล้จะเอาชนะความชราภาพของมนุษย์ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในด้านนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น และมีความเสี่ยงสูง นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า ในท้ายที่สุดแล้ว เราไม่อาจแทรกแซงหรือยับยั้งความชราภาพไว้ได้ เนื่องจากมนุษย์และสัตว์ต่างมีข้อจำกัดทางชีวภาพ ซึ่งมีอิทธิพลเหนือกว่าปัจจัยแวดล้อมภายนอก อย่างเช่น สภาพอากาศ อาหาร ยาบำรุง หรือการดูแลรักษาสุขภาพด้วยวิธีต่างๆ
สิ่งที่พอทำได้คือการพยายามมีอารมณ์ขัน ซึ่งเป็นคุณลักษณะพิเศษที่มนุษย์มี เพราะช่วยให้สุขภาพดีมีจิตใจที่แจ่มใส แต่ก็ต้องตระหนักว่าเพียงแค่อารมณ์ขันอาจยังไม่สามารถหยุดยั้งความชราภาพเอาไว้ได้ และเราควรยอมรับการกล้ำกลายมาถึงของวัยชราว่าเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง ดังเช่นที่นักกวี-นักเขียนชาวฝรั่งเศส วิคตอร์ อูโก เคยกล่าวไว้ว่า ‘สี่สิบ คือผู้เฒ่าของวัยหนุ่ม ห้าสิบ คือคนหนุ่มของวัยชรา‘