“ชัยวุฒิ” ชู PDPA เชื่อมั่นระบบสถาบันการเงินป้องกันข้อมูลลูกค้าไม่รั่วไหล

23 มิ.ย. 2565 | 14:06 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มิ.ย. 2565 | 21:14 น.

“ชัยวุฒิ” ชู PDPA สร้างความเชื่อมั่นแลกเปลี่ยนข้อมูล สนับสนุนภาคการเงินและเศรษฐกิจยุคใหม่ เผยระบบข้อมูลไม่มีรั่วไหล เหตุธนาคารป้องกันข้อมูลลูกค้าแข็งแกร่ง

วันนี้ 23 มิ.ย. 2565 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  หรือ ดีอีเอส กล่าวเปิดงานและปาฐกถาหัวข้อ “PDPA กับเศรษฐกิจดิจิทัล และสถาบันการเงิน” ร่วมจัดโดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และธนาคารอาคารสงเคราะห์ และมีนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ร่วมบรรยายพิเศษในครั้งนี้ด้วย

 

 โดยนายชัยวุฒิ กล่าวว่า งานสัมมนาให้ความรู้เรื่องกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือ PDPA ซึ่งวันนี้ทางธนาคาร สถาบันการเงินภาครัฐ 8 แห่ง ก็ได้มารวมกัน วัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการนำกฎหมาย PDPA ไปใช้ โดยเฉพาะในสถาบันการเงินภาครัฐ ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง ธนาคาร สถาบันการเงินทุกแห่งมีการเก็บข้อมูลของลูกค้า ของประชาชนอยู่แล้ว และมีระบบป้องกันไม่ให้รั่วไหล ซึ่งต้องมาทำความเข้าใจ และอาจต้องมีการปรับปรุงระบบเพิ่มขึ้นตามกฎหมาย เช่น การขอความยินยอมในการขอใช้ข้อมูล ซึ่งตามกฎหมายการนำข้อมูลลูกค้า หรือประชาชนไปใช้ต้องมีการขอความยินยอม หรือการทำเรื่องของระบบรองรับการขอใช้สิทธิ์ของประชาชนในเรื่องข้อมูล เรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เรื่องการป้องกันการถูกโจมตีจากแฮกเกอร์ โดยทั่วไปธนาคารไทยสถาบันการเงินของเรามีระบบป้องกันที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว

 

แต่ทว่าก็จะมีอีกเรื่องหนึ่งที่จะเกิดขึ้นคือในอดีตจะมีการนำข้อมูลของลูกค้าของประชาชนที่มีบัญชีกับธนาคารหรือบัตรเครดิตหรือบริษัทประกันภัย ประกันชีวิต ถ้าข้อมูลนี้ได้ถูกนำไปใช้ Telemarketing การโทรมาขายสินค้า เราจะเห็นว่าเมื่อก่อนมีคนโทรมาขายสินค้ากับเราอยู่ตลอด ซึ่งก็ทำให้พี่น้องประชาชนเกิดความเดือดร้อนรำคาญ ตอนนี้หากไม่ขอความยินยอมก่อนใช้ข้อมูลเป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย PDPA ข้อมูลของลูกค้า ข้อมูลของประชาชน จะนำไปส่งต่อให้คนอื่น แล้วเอามาโทรขายสินค้าไม่ได้ต่อไป

 

PDPA

 

 

 “การนำ PDPA มาใช้ ส่งผลให้ประเทศไทย มีกฎหมาย กฎระเบียบเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ส่งเสริมการทำธุรกิจการเงินระหว่างประเทศ ส่งเสริมการโอนเงิน การแลกเปลี่ยนเงิน การทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศของไทย นับเป็นกลไกสำคัญสนับสนุนภาคการเงินและเศรษฐกิจยุคใหม่ของไทย” รัฐมนตรีชัยวุฒิ กล่าว.