งานศึกษาครั้งใหม่ของออราเคิล และ เกร็ตเชน รูบิน นักเขียนขายดี 5 สมัยของนิวยอร์กไทม์และนักพูดพอดคาสต์ ระบุว่าผู้คนอยากให้แบรนด์ต่างๆ สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้แก่พวกเขา แต่ผู้บริหารธุรกิจส่วนใหญ่กลับยังกลัวที่จะใช้อารมณ์ขันในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า
งานศึกษาครั้งนี้สำรวจความคิดเห็นของผู้คนมากกว่า 12,000 รายใน 14 ประเทศ รวมถึงมากกว่า 5,000 รายในเอเชียแปซิฟิก ระบุว่าผู้คนต้องการประสบการณ์ใหม่ที่ทำให้ยิ้มและหัวเราะได้ และจะตอบแทนแบรนด์ที่มีอารมณ์ขันด้วยการภักดีต่อแบรนด์ การบอกต่อ และการซื้อซ้ำสินค้าแบรนด์นั้น และจะเลิกใช้แบรนด์อื่นๆ ที่ไม่มีอารณ์ขันอีกด้วย
ผู้คนในเอเชียแปซิฟิกต้องการความสุขรูปแบบใหม่และยินดีจ่ายเพิ่ม
นับเป็นเวลานานกว่า 2 ปีมาแล้ว ที่ผู้คนไม่เคยได้สัมผัสถึงความสุขที่แท้จริง วันนี้ พวกเขาจึงต้องหาวิธีสร้างความสุขอีกครั้งแม้ว่าต้องจ่ายเงินเพิ่มก็ตาม ต่อไปนี้คือคำตอบส่วนหนึ่งในงานวิจัยครั้งนี้
• 44% ของผู้ทำแบบสอบถามในเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่าพวกเขาไม่ได้สัมผัสความสุขที่แท้จริงมานานกว่า 2 ปีแล้ว และ 25% ไม่รู้หรือลืมไปแล้วว่าการมีความสุขที่แท้จริงเป็นอย่างไร
• 85% ต้องการประสบการณ์ใหม่ที่ทำให้พวกเขายิ้มและหัวเราะ ผู้คนในเอเชียแปซิฟิกให้ความสำคัญมากที่สุดในการใช้สุขภาพ (78%) ความสัมพันธ์ส่วนตัว (77%) และประสบการณ์ต่างๆ (45%) เพื่อการสร้างความสุข
• คนจำนวนมากยอมทิ้งเพื่อน (62%) สละรายได้ส่วนหนึ่ง (61%) ไม่อาบน้ำ (55%) เป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพียงเพื่อให้ตนเองได้สัมผัสความสุขที่แท้จริงสัก 1 ชั่วโมง
• ผู้คนในเอเชียแปซิฟิกมากกว่าครึ่ง (56%) อยากให้เงินสามารถซื้อความสุขได้ โดย 81% พร้อมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อความสุขที่แท้จริง
• 89% พยายามหาความสุขด้วยการซื้อของออนไลน์ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาด และ 47% ยอมรับว่าพวกเขามีความสุขในตอนที่ได้รับสินค้าที่สั่งไป
โฆษณา การตลาด การขาย และปฏิสัมพันธ์ของงานบริการลูกค้า ต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ผู้คนต้องการให้แบรนด์ต่างๆ ทำให้พวกเขายิ้มและหัวเราะ แต่ผู้บริหารธุรกิจกลับกลัวการใช้อารมณ์ขันในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าเพราะกลัวถูกเมิน
• ผู้คนในเอเชียแปซิฟิก 76% เชื่อว่าแบรนด์สินค้าสามารถสร้างความสุขให้ประชาชนได้มากกว่าที่ทำอยู่ โดย 91% อยากให้แบรนด์ต่างๆ สร้างความสนุกสนานมากกว่านี้ ซึ่งในจำนวนนี้มีสัดส่วนสูงมากในคน Gen Z (95%) และ Millennials (95%)
• ด้านการโฆษณา: ผู้คนกว่า 89% มีแนวโน้มจำโฆษณาที่ตลกขบขันได้ ถึงกระนั้น ผู้บริหารธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกยอมรับว่าแบรนด์ของตนมีโฆษณาออฟไลน์ (โทรทัศน์และป้ายบิลบอร์ด) เพียง 17% และโฆษณาออนไลน์แค่ 14% ที่ใช้อารมณ์ขันอย่างชัดเจน
• ด้านสื่อสังคมออนไลน์: ผู้คนกว่า 74% จะติดตามแบรนด์ที่สนุกสนานบนช่องทางโซเชียลมีเดีย ถึงกระนั้น มีผู้บริหารธุรกิจเพียง 12% ที่กล่าวว่าแบรนด์ของเขาใช้ความตลกบนสื่อโซเชียล
• ด้านการตลาดผ่านอีเมล: 68% จะเปิดอีเมลจากแบรนด์ที่มีหัวข้อตลกขบขัน ถึงกระนั้น ผู้บริหารธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกเพียง 21% กล่าวว่าแบรนด์ของเขาใช้อารมณ์ขันในแคมเปญการตลาดอย่างจริงจัง
• ด้านการใช้แชตบอต/ผู้ช่วยดิจิทัล: 67% ชอบคุยกับโปรแกรมแชตบอต/ผู้ช่วยดิจิทัล ถ้าสิ่งนั้นคุยด้วยแล้วตลกขบขัน อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารในเอเชียแปซิฟิกเพียง 24% ที่จะผสานอารมณ์ขันในโปรแกรมการสื่อสารแชตบอต
รอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้ผลตอบแทนสูง แต่ผู้บริหารยังไม่กล้าสร้างเสียงหัวเราะ
ผู้คนพร้อมตอบแทนแบรนด์ที่สร้างอารมณ์ขันด้วยการภักดีต่อแบรนด์ การบอกต่อ และการซื้อซ้ำสินค้าจากแบรนด์นั้น และพร้อมเมินเฉยต่อแบรนด์อื่นๆ ที่ไม่ยอมทำ
• ผู้คน 56% จะไม่รู้สึกผูกพันธ์กับแบรนด์ที่ไม่ทำให้พวกเขายิ้มหรือหัวเราะ และ 49% จะเลิกใช้แบรนด์ที่ไม่ได้ทำให้พวกเขายิ้มหรือหัวเราะไปเลย
• ถ้าแบรนด์ใช้อารมณ์ขัน ผู้คนมีแนวโน้มจะซื้อสินค้าซ้ำจากแบรนด์นั้น (82%) แนะนำแบรนด์แก่ครอบครัวและเพื่อน (81%) เลือกแบรนด์นั้นมากกว่าคู่แข่งอื่นๆ (76%) และยอมจ่ายเงินมากขึ้นให้แบรนด์ (67%)
• 90% ของผู้บริหารเล็งเห็นโอกาสที่จะใช้อารมณ์ขันในการยกระดับประสบการณ์ลูกค้า และเชื่อว่าแบรนด์ของเขาสามารถทำให้ลูกค้ายิ้มหรือหัวเราะได้มากขึ้น
• ผู้บริหาร 76% ยังกลัวการใช้อารมณ์ขันในการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า
• 87% ของผู้บริหารธุรกิจกล่าวว่าไม่มีข้อมูลเชิงลึกหรือเครื่องมือเพื่อการใช้อารมณ์ขันให้บรรลุผลตามที่ตั้งใจ โดยผู้บริหารจะมั่นใจในการใช้อารมณ์ขันกับลูกค้ามากกว่านี้ ถ้าพวกเขามองเห็นถึงปฏิกิริยาของลูกค้าได้ชัดเจนขึ้น (54%) และเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างปัญญาประดิษฐ์ (37%)
“เรากำลังพยายามก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก และทั่วโลกก็กำลังขาดแคลนความสุข เราจึงพยายามเสาะหาประสบการณ์ที่ทำให้เรายิ้มและหัวเราะ ซึ่งแบรนด์สินค้าสามารถช่วยในเรื่องนี้ได้” เกร็ตเชน รูบิน นักเขียนขายดี 5 สมัยของนิวยอร์กไทม์และนักพูดพอดคาสต์ กล่าว “สำหรับแบรนด์ที่ต้องการยกระดับความสุขของกลุ่มเป้าหมาย ต้องเริ่มพิจารณาจากข้อมูลและทำความรู้จักกับลูกค้าของคุณก่อน ด้วยวิธีนี้คุณจะสามารถนำเสนอส่วนผสมที่ลงตัวของอารมณ์ขัน ลักษณะเฉพาะตัวของแบรนด์ และประสบการณ์ที่จะช่วยเพิ่มความภักดีและการสนับสนุนแบรนด์ได้”
นายทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น ประเทศไทย กล่าวว่า “สำหรับประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าสยามเมืองยิ้ม ความสุขนั้นฝังอยู่ในดีเอ็นเอของพวกเราทุกคน และดังที่ผลการวิจัยได้แสดงให้เห็นแล้วว่าผู้บริหารธุรกิจส่วนใหญ่ต้องการทำให้ผู้บริโภคได้หัวเราะมากขึ้นและเริ่มเข้าใจว่าสิ่งนี้มีความจำเป็นในการสร้างความสัมพันธ์อันน่าเชื่อถือ ข้อมูลจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากเพื่อช่วยให้แบรนด์ต่างๆ มีความเข้าใจในสิ่งที่ลูกค้าของตนชื่นชอบ ผ่านการวิเคราะห์และการกำหนดประสบการณ์ลูกค้าที่เหมาะสม เพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่และรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ให้มากที่สุด”