"ปฐมา จันทรักษ์" จาก IBM สู่เอคเซนเชอร์ ภารกิจดึงทุน-เทคโนฯระดับโลกสู่ไทย

26 พ.ค. 2565 | 11:58 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ค. 2565 | 19:11 น.
3.2 k

หากเอ่ยถึง ชื่อ “ปฐมา จันทรักษ์” น่าจะติดอยู่อันดับ 1 ใน 5 หญิงแกร่ง และเก่งของวงการไอที ด้วยประสบการณ์ค่ำหวอดในวงการไอทีมามากกว่า 30 ปี การทำงานบริษัทระดับโลก ทั้งไมโครซอฟท์สำนักงานใหญ่ และ “ไอบีเอ็ม” ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี ดำเนินธุรกิจในไทยมา 70 ปี

วันนี้เธอกำลังก้าวไปสู่ความท้าทาย และเป้าหมายสุดท้ายของชีวิตการทำงาน    ในฐานะกรรมการผู้จัดการ   บริษัท เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย   จำกัด  ผู้ให้บริการคำปรึกษาด้านไอทีชื่อดังของโลก

 

ฐานเศรษฐกิจ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ปฐมา จันทรักษ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย   ถึงมุมมอง ความคิด การเปลี่ยนแปลงโลกดิจิทัล

\"ปฐมา จันทรักษ์\" จาก IBM สู่เอคเซนเชอร์ ภารกิจดึงทุน-เทคโนฯระดับโลกสู่ไทย

โดยนางสาวปฐมา  เล่าว่าการย้ายจากไอบีเอ็ม มาแอคเซนเชอร์  เพราะต้องการเรียนรู้   และมองหาความท้าทายใหม่    ซึ่งภายหลังที่แอคเซนเชอร์ติดต่อเข้ามา มองว่าเป็นองค์กรที่ตอบโจทย์  โดยแอคเซนเชอร์  เป็นกลาง ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยีของใครก็ได้เข้าไปช่วยลูกค้า    และ แอคเซนเชอร์ มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ   มีบุคลากร 700,000 คนทั่วโลก  

 

ที่สำคัญที่เป็นจุดในการตัดสินใจ คือ ภายหลังการพูดคุยกับ“แอคเซนเชอร์” ได้มีนโยบายเข้ามาลงทุนในไทย    โดยการลงทุนแรก คือการสร้าง “แอดวานซ์เทคโนโลยี เซ็นเตอร์” ขึ้นมาในไทย   โดยศูนย์ดังกล่าวจะเข้ามาช่วยดึงคนที่มีความสามารถเข้ามาทำงานในประเทศ ช่วยพัฒนาคน รวมถึงองค์ความรู้     และมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศและทำให้เกิดการจ้างงานที่มากขึ้น โดยศูนย์นี้ได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่ต้นปีนี้  อย่างไรก็ตามจะมีการเปิดตัวราวเดือนกรกฎาคมนี้

\"ปฐมา จันทรักษ์\" จาก IBM สู่เอคเซนเชอร์ ภารกิจดึงทุน-เทคโนฯระดับโลกสู่ไทย

 

นางสาวปฐมา ยังเปิดใจว่า จะนั่งบริหารแบบเต็มรูปแบบกับเอคเซนเชอร์เป็นองค์กรสุดท้าย ที่ตัดสินเข้าร่วมงานเพราะได้รับข้อเสนอที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย   โดยที่สามารถคาดหวังให้เกิดขึ้นได้ จะมีทั้งการลงทุนด้านบุคลากร โนว์ฮาว รวมถึงเม็ดเงินการลงทุนใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี

 

นอกจากนี้ มีเป้าหมายที่จะช่วยองค์กรธุรกิจไทยทรานส์ฟอร์มไปสู่ดิจิทัลพร้อมก้าวไปสู่การเป็นโกลบอลคอมพานี ขณะที่เป้าหมายส่วนตัวต้องการที่จะเข้าไปท้าทายกับสิ่งใหม่ๆ ที่กว้างขึ้น ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ มากขึ้น เป็นคนไทยคนหนึ่งที่หวังผลักดันให้ประเทศเดินหน้าต่อได้และมองว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่ต้องทำงานร่วมกัน

 

ส่วนมุมมองต่อโลกธุรกิจ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล นั้นมองว่าสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นมากว่าสองปีทำให้ได้เห็นว่าเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสามารถเติบโตได้แบบสวนกระแส องค์กรธุรกิจต่างๆ ได้มีโอกาสทบทวนจุดยืนของตนเองและมีความตระหนักว่าจะอยู่เฉยๆ คงไม่ได้ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่มีความพร้อม หรือมีสายป่านที่ยาว รายที่อยู่รอดได้และเติบโตต่อมักเป็นองค์กรที่มีความสามารถในการปรับใช้เทคโนโลยี

 

“ดิจิทัลช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ความเร็ว ลดต้นทุน และที่สำคัญคือลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นมนุษย์ต้องปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยี Artificial intelligence ต้องผสมผสานไปกับ Human intelligence เพื่อทำให้กระบวนการทั้งหมดขององค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน”

 

ปัจจุบัน ดิจิทัลผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติที่เห็นได้ชัดเจน หลายๆ งานที่ใช้คนถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ เห็นวิถีของการทำงานที่เปลี่ยนไป จะนั่งทำงานจากที่ไหนก็ได้ แต่โจทย์คือทำอย่างไรจึงจะทำให้ทุกคนทำงานร่วมกันได้ ด้านมุมมองของการทำธุรกิจไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภายในประเทศ 77 ล้านคน แต่ต้องมองไปถึง 5 พันล้านคนทั่วโลก

 

สำหรับ “สัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลง (Signals of Change)” ที่เกิดขึ้นในยุคดิจิทัลดิสรัปชันและเป็นสัญญาณที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคตว่า มีด้วยกัน 6 สัญญาณคือ 1.Learning From the Future การเรียนรู้ “ข้อมูล” ในอนาคต แล้วนำมาสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ ,2.Pushed to the Edge ทำอย่างไรให้ข้อมูลการตัดสินใจ ใกล้กับจุดที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจมากที่สุด  ,3.Sustainable Purpose นำเรื่อง “ความยั่งยืน” มาเชื่อมต่อกับองค์กร ผสมผสานกับการให้บริการ เพราะนั่นคือสิ่งที่ผู้บริโภคในโลกยุคใหม่ต้องการ

 

4.Supply Unbounded การจัดการปัญหาซัพพลายเชน ด้วยการหาพาร์ทเนอร์มาช่วยลดทอนปัญหา ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต การขนส่ง และอื่นๆ 5.Real Virtualities นำเวอร์ชวลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ พร้อมสร้างประสบการณ์ที่จะช่วยสนับสนุนการบริการหรือสินค้าให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น และ 6.The New Scientific Method นำวิทยาศาสตร์ หรือนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยส่งเสริม สร้างให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจ

 

สำหรับ “เอคเซนเชอร์” วางตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาและพาร์ทเนอร์ด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นแบบครบวงจร ครอบคลุมทั้งด้าน “Technology” และ “Strategic Consulting Services” ซึ่งรวมไปถึงการทำละ “Assessment” เพราะการทรานส์ฟอร์มไม่ใช่เพียงแค่นำเทคโนโลยีมาสวมแต่ยังทำงานเหมือนเดิม แต่คือทำอย่างไรที่จะทำให้กระบวนการดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ทุกวันนี้ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรตระหนักรู้และต้องการจะไปให้ถึง ทว่าลูกค้าส่วนใหญ่ติดปัญญาด้าน “How?” ดังนั้นเอคเซนเชอร์จะเข้าไปเติมเต็มในจุดนี้ ด้วยความพร้อมด้านทรัพยากร องค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม  ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำในฐานะที่ปรึกษาวางกลยุทธ์ไปจนถึงปลายน้ำของกระบวนการอิมพลีเมนท์และสร้างยูสเคสที่เกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เอคเซนเชอร์ ในฐานะบริษัทที่ปรึกษามองว่าสิ่งสำคัญที่ต้องมีคือ “Trusted Advisor” และสิ่งนี้ไม่สามารถสร้างได้แบบข้ามคืน