foodpanda ตั้งเอ็มดีหญิงคนไทย ลุยส่งอาหาร-ของกินของใช้

05 เม.ย. 2565 | 16:35 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2565 | 23:55 น.

foodpanda ประกาศการเปลี่ยนแปลงต้อนรับทศวรรษใหม่ พร้อมตอกย้ำตำแหน่งผู้บุกเบิกวงการ Food Delivery ที่ให้บริการใน 77 จังหวัด ทั่วประเทศไทย และที่สำคัญยังคงมุ่งส่งมอบประสบการณ์ด้านอาหารและไลฟ์สไตล์ในทุกมิติที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า

ในโอกาสครบรอบ 10 ปี foodpanda ประเทศไทย จึงเริ่มต้นบทใหม่ด้วยการส่งไม้ต่อจาก  อเล็กซานเดอร์ เฟลเดอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ สู่ ศิริภา จึงสวัสดิ์ เข้ารับตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการคนใหม่ของ foodpanda ประเทศไทย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

foodpanda ตั้งเอ็มดีหญิงคนไทย ลุยส่งอาหาร-ของกินของใช้

นับตั้งแต่ปี 2555 ที่ อเล็กซานเดอร์ เฟลเดอร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ ได้ดูแลและทำให้ foodpanda กลายเป็นหนึ่งในผู้นำด้านส่งอาหารที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย ภายใต้การนำของอเล็กซานเดอร์ foodpanda ได้ขยายบริการไปทั่วประเทศ สร้างการเติบโตทางธุรกิจ และทำให้การสั่งอาหารออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มเป็นเรื่องเข้าถึงง่ายสำหรับทุกคน นอกจาก Food Delivery แล้ว foodpanda ยังใช้ความเชี่ยวชาญด้านอาหารและของกินของใช้ ขยายบริการให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อตอบความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย คือ บริการส่งของกินของใช้ผ่าน pandamart และ foodpanda shops, บริการรับเองที่ร้าน (Pick-up), บริการทานที่ร้าน (Dine-in) และบริการแพ็กเกจสมาชิก pandapro

 

“10 ปีมานี้ เราเดินทางมาไกลมาก ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนในการซื้ออาหารและของกินของใช้ จนตอนนี้บริการของเรา ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวันของลูกค้าหลายล้านคนทั่วประเทศ เมื่อมองย้อนกลับไป ผมภูมิใจมากกับสิ่งที่ทีมงาน foodpanda ได้สร้างขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมขอบคุณจริง ๆ ที่มีโอกาสได้ร่วมงานกับทีมงานที่ดีที่สุด และได้นำพา foodpanda มาสู่ความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้” อเล็กซานเดอร์ กล่าว

 

 

“ศิริภามีประสบกาณ์ในการบริหารธุรกิจมามากกว่า 20 ปี เรามีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการสร้างการเติบโตให้ foodpanda ผมเชื่อว่าต่อจากนี้จะเป็นก้าวสำคัญของบริษัทฯ เพราะเรามีศิริภามานำองค์กร เปลี่ยนปัญหาเป็นความท้าทาย มุ่งหาโอกาสในการเปลี่ยนแปลง และสานต่อพันธกิจของ foodpanda ตั้งแต่วันแรกที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย คือ การมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า พันธมิตรร้านค้า และพันธมิตรไรเดอร์ และศิริภาจะทำให้ Ecosystem ของเราแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม” อเล็กซานเดอร์ กล่าว

foodpanda ตั้งเอ็มดีหญิงคนไทย ลุยส่งอาหาร-ของกินของใช้

“การมารับไม้ต่อจากอเล็กซานเดอร์ในฐานะกรรมการผู้จัดการเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่และท้าทายอย่างมาก สำหรับวิสัยทัศน์ที่จะสร้างการเติบโตให้ foodpanda เราต่อยอดความเชี่ยวชาญที่เป็นรากฐานของธุรกิจ คือความเชี่ยวชาญด้านอาหารและของกินของใช้ มาพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ ให้กับผู้คนนับล้าน ใน Ecosystem ของเรา ซึ่งรวมถึงลูกค้า พันธมิตร ร้านค้า และพันธมิตรไรเดอร์” ศิริภา จึงสวัสด์ กรรมการผู้จัดการ foodpanda ประเทศไทย กล่าว

แม้ foodpanda จะถือว่าเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการ Food Delivery อันดับต้น ๆ แต่กลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจต้องเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้พร้อมรับกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในปัจจุบัน ทั้งเรื่องการแข่งขันและการรับมือกับช่วงหลังโควิด โดยปีนี้ ภายใต้การนำของศิริภา foodpanda ใช้กลยุทธ์ ‘Human Centric’ โดยมีจุดมุ่งหมาย 3 ข้อ ดังนี้

 

•             สร้างการเติบโตให้ Ecosystem – foodpanda จะนำเทคโนโลยีและทรัพยากรที่มี มาขยายศักยภาพให้      ผู้ประกอบการ SMEs และธุรกิจในท้องถิ่น และยังคงมุ่งมอบโอกาสในการสร้างรายได้ ให้กับไรเดอร์อีกกว่าแสนคนทั่วประเทศ

•             สร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้ผู้คน – ตั้งเป้ามีส่วนร่วมและเชื่อมต่อกับลูกค้าอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างสรรค์เปาเปาขึ้นมา ในฐานะแบรนด์แอมบาสเดอร์ ที่เป็นตัวแทนของ foodpanda  ในการส่งพลังบวก สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม

•             โอบรับความหลากหลาย – foodpanda เปิดรับความเท่าเทียมและความหลากหลายในทุกรูปแบบ เรานำประสบการณ์และจุดแข็งที่เป็นเอกลักษณ์ในแต่ละคน เพื่อทำให้ทุกอย่างดีขึ้น 1% ทุกวัน

 

foodpanda เชื่อว่าความเท่าเทียมและความหลากหลายจะช่วยผลักดันให้องค์กรไปสู่ความสำเร็จในแง่ธุรกิจ และสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน เราจึงมีนโยบายที่ตอบโจทย์พนักงานหลากหลายกลุ่มอย่างเท่าเทียม อาทิ สวัสดิการ “วันลาเพื่อพนักงานข้ามเพศ” 10 วัน เพิ่มจากวันลาปกติ โดยวันลาเพื่อพนักงานข้ามเพศมีให้สำหรับพนักงานที่มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านเพศสภาวะ

 

วัฒนธรรมความเท่าเทียมและยอมรับความหลากหลายไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในพนักงาน foodpanda เท่านั้น สำหรับทางฝั่งพันธมิตรไรเดอร์ foodpanda ก็มีนโยบายเปิดรับสมัครไรเดอร์ที่เป็นผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินและการพูด เพื่อสร้างการยอมรับในตัวเอง ให้พวกเขาสามารถทำงานสร้างรายได้ และมีความมั่นใจในการใช้ชีวิตในสังคม นอกจากนี้ยังตั้งเป้าเพิ่มจำนวนไรเดอร์ผู้หญิงจาก 13.9% เป็น 15% เพราะ foodpanda เชื่อว่าทุกคนควรได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม โดยไม่แบ่งแยกเพศ เชื้อชาติ วัฒนธรรม

 

“ใน Ecosystem ของ foodpanda เราให้ความสำคัญกับผู้คนมากที่สุด เราเชื่อมั่นว่าประสบการณ์และความเชี่ยวชาญกว่า 10 ปี ของเรา จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับลูกค้า พันธมิตรร้านค้า และพันธมิตรไรเดอร์ พร้อมทำให้ foodpanda เป็นแพลตฟอร์มที่ทุกคนจะเติบโตและก้าวเดินไปพร้อม ๆ กัน” ศิริภา กล่าวทิ้งท้าย